บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง บทบาทของสตรีไทยในประวัติศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 129.3K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

บทบาทของสตรีไทยในประวัติศาสตร์

 

บทบาทของสตรีไทยในอดีตต้องดูแลกิจการภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ต่อมาได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น ทำให้บทบาทของสตรีไทยได้เปลี่ยนแปลงไป มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศมากขึ้น
1. บทบาทด้านการเมืองการปกครอง
     1.1 บทบาทเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง
หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มีหลายช่วงที่บ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน สตรีไทยก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปกครองบ้านเมืองให้เป็นไปได้ด้วยดี
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทสำคัญในการปกครองบ้านเมืองอย่างมาก เนื่องจากทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ. 2440 รวมเวลาที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เป็นผู้สำเร็จราชการทั้งสิ้น 9 เดือน ซึ่งพระองค์ทรงทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมเท่าเทียมบุรุษ

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ


     1.2 บทบาทเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐอื่น
พระราชเทวี เป็นพระราชธิดาในพระมหาธรรมราชาที่ 2 ได้ทำให้อยุธยาและสุโขทัยมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ เนื่องจากได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา
พระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระสุริโยทัย ได้ถูกพระราชทานให้กับขุนพิเรนทรเทพ เพื่อตอบแทนความดีที่ขุนพิเรนทรเทพที่สามารถล้มอำนาจขุนวรวงศาธิราชลงได้ นอกจากยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบเครืองญาติเพื่อให้เกิดความจงรักภักดีและความมั่นคงในองค์พระมหากษัตริย์ด้วย
     1.3 บทบาทเกี่ยวกับการปกป้องบ้านเมือง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มีสตรีไทยเข้ามามีบทบาทในการปกป้องบ้านเมืองให้รอดพ้นจากการรุกรานจากข้าศึกศัตรูอยู่หลายครั้ง
ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ท้าวเทพกษัตรีย์ คือ ท่านผู้หญิงจัน เป็นภรรยาเจ้าเมืองถลาง ส่วนท้าวศรีสุนทร คือ คุณมุก เป็นน้องสาว ทั้งสองท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร เมื่อครั้งต้องต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ
ท้าวสุรนารีหรือคุณหญิงโม เป็นภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ได้ออกอุบายมอมเหล้าทหารของเจ้าอนุวงศ์แห่งพม่า จากนั้นก็โจมตีฝ่ายข้าศึกจนกระทั่งกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ถอยทัพกลับไป

 

ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ท้าวสุรนารีหรือคุณหญิงโม

 

     1.4 บทบาทด้านอื่น ๆ
ตั้งแต่อดีตจะเห็นได้ว่า สตรีไทยได้มีบทบาทในการช่วยให้ผู้ชายปกครองบ้านเมืองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะด้านการอบรมเลี้ยงดูเจ้านายชั้นสูงให้ทรงพระปรีชาสามารถ

2. บทบาทด้านเศรษฐกิจ
สตรีได้มีบทบาทสำคัญในด้านการเป็นแรงงานผู้ผลิตสินค้าการเกษตรต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงตนเองและจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าอื่น ๆ มาเพื่อจุนเจือครอบครัว
3. บทบาทด้านสังคม
     3.1 บทบาทด้านการศึกษา
สตรีในราชสำนักจะได้รับการศึกษาในด้านงานฝีมือต่าง ๆ วิชาการละคร นาฏศิลป์ หรือศิลปะในแขนงอื่น ๆ และรับการอบรมในการวางกิริยามารยาทให้เหมาะสมกับความเป็นสตรี ส่วนสามัญชนทั่วไปจะได้รับการอบรมในเรื่องกิริยามารยาททั้งงานบ้านงานเรือนทั้งในและนอกบ้าน เพื่อหาเลี้ยงชีพให้ครอบครัว
     3.2 บทบาทด้านครอบครัว
สตรีไทยทั้งสตรีชั้นสูงและสตรีสามัญทั่วไปต่างก็มีบทบาทในครอบครัวที่เหมือนกัน คือ อยู่ในสถานะทั้งแม่และลูก และหากแต่งงานก็มีบทบาทเป็นภรรยาที่ดีเหมือนกัน คือ ต้องเลี้ยงดูสามี ดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน และอบรมสั่งสอนลูก

 

คำสำคัญ
บทบาทด้านการเมืองการปกครอง
บทบาทการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐอื่น
บทบาทเกี่ยวกับการปกป้องบ้านเมือง
บทบาทด้านเศรษฐกิจ
บทบาทด้านสังคม
บทบาทด้านเศรษฐกิจ
บทบาทด้านการศึกษา
บทบาทด้านครอบครัว

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th