บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อชาติไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 121.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อชาติไทย

 

พระมหากษัตริย์ของไทยพระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ เพราะฉะนั้นจึงถือได้ว่าพระองค์มีความสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของสังคมไทย


พระมหากษัตริย์ของไทย

 

ความสำคัญของพระมหากษัตริย์แยกออกได้หลายด้าน ดังนี้
1. ด้านการป้องกันและรักษาเอกราชของชาติ
พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นขวัญและกำลังใจในการทำศึกสงครามให้แก่ทหารและประชาชน เช่น สงครามยุทธหัตถี ใน พ.ศ.2135 ระหว่างพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาของพม่า ทำให้พม่าไม่กล้ามารุกรานไทยเป็นเวลานาน นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ยังทรงทำหน้าที่ในการดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันประเทศและรักษาเอกราชของชาติ

 

การเสียดินแดนให้อังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

 

2. ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นตัวจักรสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของให้เจริญรุ่งเรือง ซึ่งแบ่งเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
     1. ทรงปฏิบัติธรรมด้วยพระองค์เองเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน เช่น การออกผนวช การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน
     2. การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและนอกประเทศ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้มีการส่งสมณฑูตไปลังกาเพื่อประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทให้แก่กุลบุตรชาวลังกา
     3. การสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม การสร้างวัดใหม่และซ่อมแซมฟื้นฟูวัดให้มีสภาพดีขึ้น เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์วัดเก่าและสร้างวัดใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชนัดดาราม และวัดเทพธิดาราม
3. ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติ
พระมหากษัตริย์ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยดังนี้
     1. ทรงส่งเสริมการผลิต พระมหากษัตริย์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการทำอาชีพเกษตรกรรม
ปัจจุบันมีโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีวัตถุประสงค์ให้ราษฎรได้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้คุ้มค่า คือ โครงการหลวง เป็นโครงการตามพระราชดำริ
     2. ทรงส่งเสริมการค้า พระมหากษัตริย์ได้ทรงสนับสนุนการค้าของชาติเป็นอย่างมาก ทั้งการค้าในประเทศและต่างประเทศ
     3. ทรงปฏิรูประบบการเงินและการคลัง การค้าของไทยได้ขยายตัวมากขึ้นหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษใน พ.ศ.2398
4. ด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย
บทบาทในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยมีดังนี้
     1. ทรงสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี

 

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระราชวังบางปะอิน

 

     2. ทรงริเริ่มและประยุกต์วัฒนธรรมให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทย ทรงริเริ่มขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ให้สิทธิสตรีในการเลือกคู่ครอง ในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่น ยกเลิกการหมอบคลานเข้าเฝ้าฯ เปลี่ยนมาเป็นการยืนหรือนั่งเก้าอี้
     3. ทรงมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ พยายามฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองดังเดิม เช่น การฟื้นฟูสถาปัตยกรรมแบบเขมรในสมัยสมเด็จ
พระเจ้าปราสาททอง การฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลปัจจุบัน
     4. ทรงอุปถัมภ์ศิลปินที่มีความสามารถ เช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงอุปถัมภ์พระโหราธิบดีศรีปราชญ์ หรือในรัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงอุปถัมภ์ชุบเลี้ยงกวีหลายท่าน เช่น สุนทรภู่ พระยาตรัง นายนรินธิเบศร (อิน) ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมให้ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมมีความเจริญรุ่งเรือง

 

คำสำคัญ
การป้องกันและรักษาเอกราชของชาติ
การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
การส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติ
ส่งเสริมการผลิต
ส่งเสริมการค้า
ปฏิรูประบบการเงินและการคลัง
สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม
อุปถัมภ์ศิลปินที่มีความสามารถ

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th