เราได้กลิ่นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 21.4K views



     การดมกลิ่น (smell) หนึ่งในประสาทสัมผัสที่เราต่างมี แม้ว่ามันจะไม่ได้โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ แต่มันก็เป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่ทำให้เกิดความสุนทรีในการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวของเราได้ไม่มากก็น้อย และมันก็ถูกควบคุมด้วยยีนหลายชิ้นหลายส่วน และนั่นแสดงถึงความสำคัญของมันได้เป็นอย่างดี

 



     การดม (smell) คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณหายใจเอาอากาศผ่านจมูกของคุณเข้าไปสู่ปอด เราเคยเชื่อว่าการดมและการหายใจเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน แต่เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้นเราถึงรู้ว่ามันเป็นเพียงทางผ่านของระบบทางเดินหายใจที่ทำให้เราได้กลิ่น สัมผัสสิ่งที่อยู่รอบตัวแม้เราจะไม่ได้เห็นมันหรือจับต้องสิ่งเหล่านั้น

     การศึกษาพบว่าความสามารถในการดมและจำแนกกลิ่นของมนุษย์มีความละเอียดและซับซ้อนกว่าที่เราคิด เราสามารถจำแนกกลิ่นต่าง ๆ ได้ถึง 10,000 ชนิด แต่มันก็ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม สภาพแวดล้อมและการฝึกฝน แน่นอนว่ามันเป็น "เพียง 10,000 ชนิด" หากเราเทียบความสามารถนี้กับสัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่างหมาหรือหมู เนื่องจากจำนวนเซลล์ที่ใช้รับกลิ่น และการประมวลผล รวมถึงวิวัฒนาการของมันที่ทำให้มันต้องพึ่งพาการดมเป็นหลักมากกว่าประสาทสัมผัสชนิดอื่น ๆ
 



     การดมกลิ่นเริ่มต้นขึ้นเมื่อเราหายใจเข้า การขยายตัวของปอด และการโค้งตัวลงของกระบังลม ทำให้ปอดมีปริมาตรเพิ่มขึ้น นั่นทำให้อากาศถูกดูดเข้ามาสู่ปอด โมเลกุลของสสารต่าง ๆ จะลอยผ่านผ่านทางรูจมูกของเรา หากพิจารณาในแง่ของระบบการหายใจ โมเลกุลของออกซิเจนจะถูกส่งไปปอด ก่อนที่จะถูกพาไปในกระแสเลือดโดยเซลล์เม็ดเลือดแดง พร้อมกับปล่อยโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ในขณะที่โมเลกุลอื่น ๆ ซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีกลิ่น แน่นอนว่าหากเราพิจารณาเรื่องการได้กลิ่น โมเลกุลเหล่านี้จะลอยไปบริเวณด้านหลังของโพรงจมูก ซึ่งจะสัมผัสกับบริเวณที่เรียกว่า เนื้อเยื่อบุรับกลิ่น Olfactory Epithelium จุดเริ่มต้นของการได้กลิ่นเริ่มที่ตรงนี้ เซลล์รับกลิ่นที่อยู่ในบริเวณเนื้อเยื่อบุเป็นเซลล์ประสาทโดยเฉพาะที่ใช้จับกลิ่น ก่อนที่จะถูกส่งเป็นสัญญาณประสาทผ่านระบบทางเดินจมูกมุ่งตรงไปยังสมอง

     เราแยกกลิ่นที่ต่างกันได้จากส่วนผสมของเซลล์ประสาทที่ถูกกระตุ้นเมื่อได้รับกลิ่น ตัวอย่างเช่น ในจำนวนเซลล์ประสาทหลายสิบล้านที่เรามีอยู่ในบริเวณเนื้อเยื่อบุรับกลิ่นนั้น เมื่อโมเลกุลของน้ำหอม A ถูกส่งผ่านเข้ามา จะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทที่ 3, 450, 4732 และ 8793 ก่อนจะส่งเป็นสัญญาณประสาทสู่สมอง ในขณะที่โมเลกุลของน้ำหอม B จะกระตุ้นเซลล์ประสาทตำแหน่งที่แตกต่างกันออกไปทำให้สมองแปรสารที่ได้รับเป็นกลิ่นที่แตกต่างกัน สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสการดมกลิ่นนั้นได้รับการพัฒนาขึ้นก่อนการมองเห็นและได้ยิน ทำให้มันมีเส้นทางการเดินทางของสัญญาณประสาทส่งตรงไปยังสมองโดยไม่มีการแวะพักที่ต่อมหรือระบบประมวลผลใด ๆ นอกจากนั้นยังสัมพันธ์หรือสามารถรบกวนการทำงานของระบบประสาทสัมผัสอื่น ๆ ได้ด้วย เช่นหากคุณไม่ได้กลิ่นอาหาร เนื่องจากเป็นหวัดและน้ำมูกไปท่วมเยื่อบุรับกลิ่น ความอยากอาหารและความสามารถในการรับรสอาหารของคุณก็จะลดลงด้วย

 




     ในขณะที่ความสามารถของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่มีประสาทสัมผัสทางการดมกลิ่นเหนือกว่ามนุษย์ เป็นเพราะว่ามันมีขนาดของเนื้อเยื่อบุที่ใหญ่กว่า มีเซลล์รับกลิ่นที่มากกว่า เป็นต้น โดยหมามีเนื้อเยื่อบุรับกลิ่นที่มากกว่ามนุษย์ถึง 20 เท่า ทำให้มันเก่งกว่าในการดมกลิ่นต่าง ๆ รวมถึงความละเอียดในการจำแนกชนิดของกลิ่นที่ได้รับ และความจางของกลิ่นได้ดีกว่ามนุษย์ เช่น มันสามารถดมหากลิ่นยาเสพติด หาตัวคนร้ายจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งไว้ ดมหาผู้ที่ติดค้างในซากตึกที่พังลงมา หรือแม้แต่การดมหากลิ่นของเซลล์มะเร็งหรือความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายของผู้ป่วย นอกจากนั้นแต่ละคนยังมีปริมาณเซลล์ประสาทรับกลิ่นที่ไม่เท่าและแตกต่างกัน จึงทำให้บางคนตีความบางกลิ่นแตกต่างจากคนอื่น เช่นได้กลิ่นอับเหงื่อเป็นกลิ่นวานิลาฉุน ๆ แทน หรือแม้แต่ไม่ได้กลิ่นกลิ่นจำเพาะบางชนิดได้ เช่น คนเป็นโรค Allicin Anosmia หรือโรคไม่ได้กลิ่นกระเทียม

เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=snJnO6OpjCs
         https://health.howstuffworks.com/mental-health/human-nature/perception/smell.htm
         https://www.brainfacts.org/sensing-thinking-behaving/senses-and-perception/articles/2015/making-sense-of-scents-smell-and-the-brain/
         https://www.tsbvi.edu/seehear/summer05/smell.htm
         https://www.brainpickings.org/2014/04/10/how-smell-works-diane-ackerman-senses/

ภาพประกอบทั้งหมด : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด