24 มิถุนายน วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นับว่าเป็นเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยคณะนายทหารและพลเรือนที่รวมตัวกัน เรียกตนเองว่า คณะราษฎร ทำการปฏิวัติสยาม ส่งผลให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
1. ความเสื่อมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยเพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา อภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง กลุ่มคณะราษฎรจึงเห็นว่าควรจะให้โอกาสบุคคลอื่นที่มีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองด้วย จึงเริ่มเป็นที่มาของความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ก่อให้เกิดการต่อต้านมากยิ่งขึ้น
2. การได้รับการศึกษาตามแนวความคิดตะวันตกของบรรดาชนชั้นนำในสังคมไทย เนื่องมาจากอิทธิพลจากการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งที่ไปศึกษายังประเทศตะวันตกได้รับแนวคิดทางการเมืองสมัยใหม่แล้วนำกลับมาเผยแพร่ในประเทศไทย ส่งผลกระตุ้นให้เกิดความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากขึ้น
3. ความเคลื่อนไหวของสื่อมวลชน มีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการปกครองแบบใหม่ และร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อีกทั้งยังได้เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข้อดีของระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน
4. ความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกระแสรับสั่งให้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาประกาศใช้ แต่อภิรัฐมนตรีสภากลับไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าประชาชนยังขาดความพร้อม รัฐธรรมนูญจึงยังไม่มีโอกาสได้ประกาศใช้ ทำให้คณะราษฎรชิงลงมือทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
5. สถานการณ์การคลังของประเทศและการแก้ปัญหา โดยการคลังของประเทศเริ่มประสบปัญหาและยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้คณะราษฎรใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีประสิทธิภาพการบริหารงาน จนเป็นเงื่อนไขให้คณะราษฎรดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนสำเร็จ
ผลการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ กลุ่มคณะราษฎรก็ได้พบกับปัญหาความไม่พร้อมของประชาชนสำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตย ดังนั้นคณะราษฎรจึงได้เปลี่ยนสยามไปเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียว และได้ดำเนินการปกครองเอง โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎรคนแรกหรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของสยาม
แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดความขัดแย้งกันภายในนำไปสู่การรัฐประหาร และการแต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองของสยาม อีกทั้งในช่วงนี้ยังเกิดกบฏบวรเดช ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนิยมเจ้า แม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่ได้เข้าแทรกแซงหรือมีส่วนรู้เห็นใดๆ แต่สถานการณ์เช่นนี้ทำให้พระองค์ตกอยู่ในอันตราย สูญเสียความเชื่อมั่นและบารมี พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติและเสด็จออกนอกประเทศโดยไม่เสด็จกลับมาอีก
นอกจากนี้การปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม คือ ประชาชนเริ่มได้รับสิทธิและเสรีภาพด้านต่างๆ ตลอดจนความเสมอภาคภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2479 ที่ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาและสามารถนำวิชาความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพต่อไปได้อย่างมั่นคง
เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ที่มา : https://www.baanmaha.com/community/threads/41576-วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง-24-มิถุนายน
https://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475
ภาพประกอบทั้งหมด : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด