ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3.2K views



ภูมิหลัง
1. ภาพรวม ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 ณ สิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 เห็นพ้องต่อ “ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน” (Initiativefor ASEAN Integration: IAI) เพื่อเร่งรัดการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการลดช่องว่างด้านการพัฒนา (Narrowing the Development Gap – NDG) ระหว่างประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ (ASEAN 6) กับประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ (CLMV) และการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ CLMV โดยมี IAI Work Plan I รองรับระยะเวลา 6 ปี(2545-2551) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงานภายใต้แผนงานฉบับที่ 2 IAI Work Plan II (ปี 2552-2558)
2. IAI Work Plan I (2545-2551) มีโครงการทั้งสิ้น 218 โครงการ สิงคโปร์ให้เงินสนับสนุนโครงการ IAI มากที่สุด โครงการ IAI ส่วนใหญ่เป็นโครงการสาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้ศูนย์ IAI Centre ที่สิงคโปร์จัดตั้งขึ้นในแต่ละประเทศ CLMV เป็นศูนย์ฝึกอบรม
3. IAI Work Plan II (2552-2558) มีสาระในการดำเนินงานต่างไปจากแผนงานระยะที่ 1 คือ แผนงานระยะที่ 2 จะขยายแผนการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลุ่ม CLMVให้สอดคล้องกับแผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักซึ่งจะช่วยให้การจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงการให้ความช่วยเหลือประเทศ CLMV ให้สามารถดำเนินการตามพันธกิจและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการรวมตัวของอาเซียน และยังคงเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถ ทั้งนี้ ภายใต้ IAI Work Plan II มีโครงการทั้งหมด 269 โครงการ (สถานะเดือนเมษายน 2557) มีมูลค่ารวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิงคโปร์ เป็นประเทศที่ให้เงินสนับสนุนโครงการ IAI มากที่สุด ประเทศไทยสนับสนุนโครงการ IAI จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นเงิน 374,766 ดอลลาร์สหรัฐและประเทศคู่เจรจาที่ให้ความช่วยเหลือมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป อินเดีย และเยอรมนี
4. คณะทำงาน IAI (IAI Task Force) ซึ่งประกอบด้วยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับนโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้แผนงานฯ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของ CLMV ประจำอาเซียนจะหมุนเวียนกันเป็นประธานตามลำดับตัวอักษรเป็นเวลาคนละ 1 ปีปฏิทิน โดยจัดการประชุมปีละไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง และอาจมีการประชุมนอกเหนือจากนั้นได้ในกรณีที่มีความจำเป็น ปัจจุบัน กัมพูชา ทำหน้าที่เป็นประธาน IAI Task Force จนถึงสิ้นปี 2557 ทั้งนี้คณะทำงานฯ รายงานผลการดำเนินงานต่อ ASEANCoordinating Council (ACC)
5. งบประมาณ IAI ไม่มีกองทุนเฉพาะเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ แม้ว่าเคยมีความพยายามจะจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนา แต่อาเซียนยังคงเห็นว่า อาจไม่มีความจำเป็นที่จะจัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ IAI Task Force เห็นว่าควรเร่งดำเนินการระดมทุนในหลายช่องทาง รวมทั้งการระดมทุนจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงภาคเอกชนด้วย ปัจจุบัน การดำเนินการภายใต้ IAI ยังคงอาศัยการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการที่ริเริ่มโดยอาเซียน 6 และเงินทุนสนับสนุนโดยตรงจากประเทศคู่เจรจาและองค์กรเพื่อการพัฒนารวมทั้งโครงการความร่วมมือไตรภาคีระหว่างอาเซียน 6 และประเทศคู่เจรจากับองค์กรเพื่อการพัฒนา

กรุณาดาวน์โหลดเอกสารเพื่ออ่านเนื้อหาฉบับเต็ม