มลพิษทางน้ำ
น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาล น้ำมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืชถ้าขาดน้ำเมื่อใดก็เป็นการยากที่มนุษย์สัตว์และพืชจะดำรงชีวิตอยู่ได้นาน ดังนั้นตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบันเราจะพบว่ามนุษย์ทุกหมู่ สัตว์และพืชจะดำรงชีวิตอยู่ได้นาน ดังนั้นตั้งแต่ทุกเหล่า ทุกเผ่าพันธุ์ เลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้น้ำ
น้ำธรรมชาติมีอยู่ทั่วไปทั้งบนผิวดิน ใต้ดิน และในบรรยากาศ น้ำบนผิวดินเป็นแหล่งน้ำที่เราจะพบมากที่สุด ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ห้วย ลำธาร ทะเลสาบ ทะเล และมหาสมุทร ส่วนน้ำใต้ดินมีแตกต่างกันเป็น 2 ประเภท คือ น้ำในดิน และน้ำบาดาลาเราขุดบ่อลงไปบริเวณแหล่งน้ำในดิน เราเรียกบ่อน้ำชนิดนี้ว่า บ่อน้ำในดิน และถ้าขุดบ่อลึกลงไปมาก ๆ หรือใต้ชั้นหินจนถึงระดับน้ำบาดาล เราเรียกบ่อน้ำชนิดนี้ว่า บ่อน้ำบาดาล
น้ำธรรมชาติที่มีส่วนเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ สัตว์ และความเจริญของพืชพันธุ์ ได้แก่ น้ำบนผิวดิน ในแต่ละวัน คนเราต้องใช้น้ำจำนวนมากทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค การประกอบอาชีพ เช่น การประมง เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องช่วยกันรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ให้สะอาดอยู่เสมอ หากปล่อยให้มีสิ่งสกปรก เช่น ขยะ หรือน้ำทิ้ง ลงปะปนอยู่ในน้ำธรรมชาติ ก็จะทำให้แหล่งน้ำนั้นกลายเป็นน้ำเสียในภายหลัง เมื่อแหล่งน้ำดีกลายเป็นน้ำเสีย ก็จะเป็นอันตรายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคน พืช และสัตว์ ไม่เฉพาะแต่พื้นที่เดียวเท่านั้น อาจขยายบริเวณภยันตรายกว้างไกลออกไปทั้งชุมชนละแวกนั้น ๆ ได้
สาเหตุที่จะทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ กลายเป็นน้ำเสีย กล่าวโดยสรุปได้แก่
1. สิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือน
ที่อยู่อาศัยของชนที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนเป็นย่านที่อยู่อาศัย และย่านการค้าขาย ในอาณาบริเวณดังกล่าวนี้ ย่อมจะมีน้ำทิ้งจากการอุปโภคและบริโภค เช่น น้ำจากการซักล้างและการทำครัว น้ำจากส้วมที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำลำคลอง น้ำทิ้งเช่นนี้จะทำให้เกิดน้ำเน่าน้ำเสียได้
2. สิ่งปฏิกูลจากการเกษตรกรรม
ในการเพาะปลูกปัจจุบันนี้ เกษตรกรใช้สารเคมีมากขึ้น เช่น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งบางชนิดสลายตัวยาก สารอาจจะตกค้างอยู่ตามพืชผักผลไม้ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค และบางส่วนอาจจะกระจายอยู่ตามพื้นดิน เมื่อฝนตกน้ำฝนจะชะล้างลิ่งเหล่านี้ลงแม่น้ำลำคลอง เป็นเหตุให้กุ้ง ปลา หอย ปู และสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นอันตรายถึงตายได้ ถ้าสัตว์น้ำได้รับสารเคมีบางชนิดในปริมาณไม่มาก ก็อาจสะสมอยู่ในตัวสัตว์ เมื่อคนจับสัตว์น้ำเหล่านี้มาทำอาหาร สารเคมีนั้นก็จะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายของคนอีกทอดหนึ่ง
บริเวณเพาะปลูกอาจมีมูลสัตว์ปนอยู่ เมื่อฝนตกหรือเมื่อใช้น้ำรดพืชผักผลไม้ น้ำก็จะชะล้างสิ่งปฏิกูล คือมูลสัตว์นี้ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ในมูลสัตว์อาจมีเชื้อโรคและพยาธิปนอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ใช้แม่น้ำลำคลองได้รับเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลนั้นได้
3. สิ่งปฏิกูลจากการอุตสาหกรรม
โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปใช้น้ำในปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน น้ำที่ใช้ทำความสะอาดเครื่องมือและพื้นที่ในโรงงาน และน้ำทิ้งจากโรงงาน จะเป็นน้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง บางโรงงานอาจมีวัสดุเหลือจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบางประเภทปนไปกับน้ำทิ้งทั้งหมดนี้ เป็นเหตุให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่า ส่งกลิ่นเหม็น มีสารพิษปะปนอยู่กลายเป็นมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น
น้ำมันจากโรงงานอุตสาหกรรมก็มีส่วนทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หากใช้น้ำมันโดยขาดความระมัดระวัง เช่น การเทน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วลงน้ำ ตลอดจนการทำความสะอาดโรงงาน น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงแม่น้ำลำคลองเช่นนี้ จะมีคราบน้ำมันลอยเป็นฝา ทำให้ก๊าซออกซิเจนในอากาศไม่สามารถจะละลายลงไปในน้ำ มีผลทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำขาดก๊าซออกซิเจน ยิ่งกว่านั้นถ้ามีคราบน้ำมันคลุมผิวพื้นน้ำ แสงแดดส่องลอดลงไปใต้น้ำไม่ได้ ทำให้พืชในน้ำบางชนิดไม่สามารถสร้างอาหารและเจริญเติบโต แล้วยังมีผลเสียต่อเนื่องทำให้สัตว์ในน้ำตายด้วย เพราะพืชเล็ก ๆ ในน้ำ ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ตายเพราะน้ำเสีย
เหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของน้ำเสียไป ถ้าเหมืองแร่นั้นเป็นเหมืองฉีด น้ำจากเหมืองฉีดจะพาตะกอนซึ่งเกิดจากดิน หิน ทราย และเศษแร่ไหลปนไปกับน้ำที่ชะแร่ลงสู่แม่น้ำหรือทะเล ทำให้ลำน้ำตื้นเขิน ทับถมและทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ
จะเห็นว่าถ้าไม่มีการระมัดระวังในการใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปาหรือน้ำในแม่น้ำลำคลอง จะก่อให้เกิดน้ำเสียต่อเนื่องกันเป็นประดุจลูกโซ่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยต่อน้ำธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงอาณาประชาราษฎร์ ดังจะเห็นได้ว่าทุกแห่งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร จะทรงให้ความสำคัญต่อสายน้ำอันเป็นเส้นชีวิตของประชาชนว่าจะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรมากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุนี้จึงได้มีคำว่า "น้ำพระทัยจากในหลวง
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะแก่แม่น้ำลำคลอง ได้แก่
1. น้ำเสียจากบ้าน ร้านค้าและอาคารที่ทำการ
ชุมชนที่มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหลาย ๆ หลังคาเรือน ย่านการค้าหรืออาคารที่ทำการ ล้วนจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้สอยในจุดประสงค์อื่น ๆ น้ำที่ใช้นี้จะมีปริมาณหนึ่งซึ่งเป็นปริมาณส่วนใหญ่กลายเป็นน้ำทิ้งออกมา น้ำทิ้งนี้ส่วนมากจะเป็นน้ำจากส้วมและจากการชำระซักล้าง ซึ่งประกอบไปด้วยสารอินทรีย์สบู่ ผงซักฟอก เศษอาหาร ไขมัน สารอินทรีย์ และสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ เจือปนอยู่ สารเหล่านี้เมื่อไหลลงสู่แม่ลำคลอง จะเกิดผลเสียสองประการใหญ่ ๆ คือ ประการแรกช่วยเพิ่มอาหารเสริมแก่พืชน้ำและสัตว์น้ำ ทำให้มีพืชน้ำและสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เมื่อพืชน้ำและสัตว์น้ำตายไป จะทำให้เกิดสารอินทรีย์ในน้ำเพิ่มขึ้น สารอินทรีย์ที่มาจากน้ำทิ้งและที่เกิดเพิ่มขึ้นนี้ ถ้ามีจำนวนมากเมื่อถูกย่อยสลายโดยแอโรบิคบัคเตรีที่มีอยู่ในน้ำ ก็จะนำเอาออกซิเจนละลายในน้ำมาใช้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ออกซิเจนในอากาศละลายลงในน้ำ ทำให้เกิดสภาพขาดออกซิเจนขึ้น อันเป็นสภาวะแวดล้อมที่เหมาะกับแอนแอโรบิคบัคเตรีให้ย่อยสลายสารอินทรีย์ต่อไป ทำให้น้ำกลายเป็นสีดำมีกลิ่นเหม็น ส่วนสารอื่น ๆ ที่ปนมา เช่น สารอนินทรีย์จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ทำให้คุณภาพน้ำทิ้งไม่ได้มาตรฐานและเสียประโยชน์ใช้สอยไป นอกจากนี้ถ้าน้ำทิ้งมีเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น บัคเตรี และไวรัส ก็จะทำให้เกิดโรคได้
2. น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำทิ้งจากระบบการผลิต ระบบการหล่อเย็น อาคารที่อยู่อาศัยและที่ทำการ ร้านค้าและโรงอาหารสารที่ปะปนมาอาจจะเป็นสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ กรดด่าง โลหะหนัก สารเคมีต่าง ๆ สารกัมมันตภาพรังสี สารพิษ ดินทรายและสิ่งปฏิกูลอื่นๆ ซึ่งเมื่อทิ้งลงในแม่น้ำลำคลอง จะทำให้เพิ่มปริมาณสารเหล่านั้นหรือเกิดการเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ เกิดการเน่าเหม็น เกิดสี กลิ่น และความไม่น่าดู
3. ปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตร
ปุ๋ยหลักที่ใช้ในการเกษตร ได้แก่ สารไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปของฟอสเฟตสามารถยึดติดอยู่กับดินได้ จึงมีส่วนน้อยที่ไหลไปกับน้ำ ดังนั้นสารที่ทำให้เกิดปัญหาคือไนโตรเจน การใช้ปุ๋ยส่วนใหญ่มักใส่กันมากเกินกว่าที่พืชจะนำไปใช้ได้หมด เมื่อฝนตกน้ำฝนจะชะเอาไนโตรเจนไหลไปตามผิวดิน ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ช่วยให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดีเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำเกิดสี กลิ่น และรสเมื่อสาหร่ายเหล่านี้ตายลง ก็จะทำให้น้ำเน่าเหม็นและมีฟีนอลสูงขึ้น เกิดฝ้าขาวลอยอยู่ตามผิวน้ำ
4. ผิวดินที่พังทลาย
ในพื้นที่รับน้ำบางแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำที่เสื่อมสภาพและมีการพังทลายของหน้าดิน จะทำให้น้ำมีความขุ่นสูง เกิดสี กลิ่น และรสได้
5. การเลี้ยงปศุสัตว์
การเลี้ยงปศุสัตว์ ถ้าสัตว์เลี้ยงกินหญ้าที่คลุมหน้าดินมากเกินไปจะทำให้หน้าดินถูกน้ำกัดเซาะเมื่อฝนตก และเมื่อไหลลงในแหล่งรับน้ำก็จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับข้อ 4 นอกจากนี้มูลสัตว์ก็จะไหลลงไปในลำน้ำทำให้มีสารอินทรีย์ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสสูง เกิดปัญหาเช่นเดียวกับข้อ 1 และ 3
6. ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช
ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืชส่วนมากเป็นสารเคมีที่บางครั้งก็เป็นสารมีพิษ เมื่อถูกชะล้างลงไปในน้ำ ก็จะเป็นพิษแก่พืชและสัตว์ที่อยู่ในน้ำ หากเรานำน้ำไปใช้ก็จะได้รับอันตรายจากสารพิษนั้นด้วย
7. ไฟป่า
ถ้าเกิดไฟป่าในบริเวณพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดน้ำจะทำให้มีขยะ เถ้าถ่าน ตะกอนทราย รวมทั้งสารมลพิษต่าง ๆ ไหลลงไปในแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของน้ำที่นำไปใช้สอย อีกทั้งอาจจะทำให้อ่างเก็บน้ำหรือแม่น้ำตื้นเขินเนื่องจากการสะสมของเถ้าถ่านและตะกอนต่าง ๆ
น้ำที่ชะล้างบริเวณที่เกิดไฟป่า จะมีขยะและสารมลพิษปะปน ทำให้น้ำตื้นเขิน
8. การใช้ที่ดินที่ขาดการควบคุม
การใช้ที่ดินสองข้างหรือรอบ ๆ แหล่งน้ำที่ขาดการควบคุมหรือการกำหนด จะทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพของน้ำได้ ดังนั้น จึงควรกำหนดเขตหรือห้ามการขยายชุมชนหรือการตั้งโรงงานตามริมน้ำที่นำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการทำประปา
การแก้ไขปัญหา
การแก้ปัญหาน้ำเสียมีทั้งมาตรการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การบำบัด การกำจัดหรือหมุนเวียนของเสียต่าง ๆ จากกระบวนการทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การแสวงหาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีมาตรการทางกฎหมาย ข้อบังคับมาตรฐานต่าง ๆ ตลอดจนการจัดตั้งองค์กร และการใช้อำนาจทางการบริหารเข้าเสริมในการป้องกันแก้ไข การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขที่ใช้มาตรการทั้งทางกฎหมาย ทางการบริหาร และทางเทคโนโลยีร่วมกันในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและมลพิษต่าง ๆ
วิธีป้องกันน้ำเสียด้วยตัวเอง
ชีวิตเราเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ ถ้าเรารู้จักวิธีใช้ที่ถูกต้อง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว เช่น ลดค่าน้ำประปา ลดค่ากระแสไฟฟ้า ลดค่าเครื่องสุขภัณฑ์ ท่านสามารถลองปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้
การอาบน้ำ
ควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็นหรือก่อนนอน หรือภายหลังจากการออกกำลังกาย 30 นาที และควรอาบน้ำตามหลักความประหยัดดังนี้
ใช้น้ำ 1-2 ขันชโลมร่างกายเปียกให้ทั่ว ใช้ฟองน้ำหรือผ้าบางๆ เช็ดถูร่างกาย และจึงใช้น้ำ 1-2 ขันชำระร่างกายอีกรั้ง
นำสบู่ชนิดที่เป็นด่างอ่อน ไม่เจือสีฉูดฉาด และมีกลิ่นไม่แรงเกินไป
เริ่มฟอกสบู่ที่มือก่อน ล้างมือให้สะอาดแล้วจึงฟอกสบู่ที่ใบหน้า และลำคอแล้วล้างสบู่ออก จากนั้นจึงฟอกสบู่ที่ลำตัว แขน ขา ไปตามลำดับ พร้อมทั้งบีบนวดเบาๆ ที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
อาบน้ำด้วยฝักบัว ระหว่างเช็ดถูร่างกาย หรือฟอกสบู่ให้ปิดน้ำก่อนทุกครั้ง
อาบน้ำในอ่างน้ำ ควรชำระร่างกายตามที่กล่าวในข้อแรกก่อน ถ้าอ่างน้ำมีระบบน้ำร้อนน้ำเย็น ควรเปิดน้ำเย็นก่อน แล้วจึงเปิดน้ำร้อน ปรับอุณหภูมิ ผสมสบู่เหลวแล้วจึงเทลงไปแช่ตัวในอ่าง แล้วออกจากอ่างน้ำมาอาบน้ำด้วยขันหรือฝักบัว เพื่อชำระร่างกาย น้ำสบู่อาจใช้ร่วมกันได้สำหรับสมาชิกในครอบครัว
การอาบน้ำบ่อยเกินไป มากเกิน หรือนานเกินไป หรือฟอกสบู่มากเกินไป จะทำให้ผิวหนังซีดเซียว ผิวหนังอักเสบทำให้ แบคทีเรียบางชนิดที่ช่วยป้องกันและทำลายเชื้อโรคอื่นๆ ที่มีอยู่ตามผิวหนังหลุดหรือหมดไป ทำให้ร่างการขาดเกราะป้องกันเชื้อโรคได้
การแปรงฟัน
เพื่อรักษาสุขภาพในช่องปากไม่ให้เกิดกลิ่นปาก และป้องกันคราบหินปูนติดฟัน ช่วยให้สุขภาพของเหงือกและฟันดี จึงควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังจากตื่นนอนและก่อนนอน จึงมีวิธีการแปรงฟันที่ถูกวิธีดังนี้
เลือกขนาดของแปรงให้พอเหมาะ ขนแปรงต้องอ่อนนุ่ม มีด้ามที่กระชับเหมาะมือมีปลายด้ามโด้งมน ยาสีฟันเลือกเนื้อละเอียด
ก่อนแปรงควรกลั้วน้ำในปากก่อนแล้วบ้วนทิ้ง ควรใช้น้ำที่ตักใส่แก้วดีกว่าเปิดจากก๊อกน้ำโดยตรง เริ่มแปรงจากฟันหน้าด้านบนและล่างโดยการปัดขนแปรงขึ้นและลง การปัดขนแปรงขึ้นลงต้องสบัดข้อมือไปมาเพื่อช่วยให้ขนแปรงนวดเหงือกเบาๆ หลังจากนั้นจึงแปรงด้านใน การแปรงฟันแบบชักแปรงไปมาจะทำให้เคลือบฟันและตัวฟันสึกได้
บ้วนปากด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง ล้างแปรงให้สะอาดผึ่งให้แห้ง เศษอาหารที่ติดตามซอกฟันที่แปรงออกยาก ก่อนแปรงฟันควรใช้เส้นใยขัดฟันก่อน ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันเพราะจะทำให้ฟันห่าง หลังจากรับประทานอาหารควรบ้วนปากสัก 2-3 ครั้ง ระหว่างแปรงฟันไม่ควรเปิดน้ำทิ้งไว้
การล้างจาน
การล้างถ้วยชามและภาชนะในครัวเรือน มีวิธีการล้างที่ถูกต้องดังนี้
ภาชนะหรือถ้วยจาน หากมีเศษอาหารติดอยู่ให้เขี่ยลงในถังขยะก่อน ส่วนคราบมันควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษที่ ใช้แล้วเช็ดออก หรือเศษผ้าเช็ดออก
เปิดน้ำใส่ภาชนะล้าง เพียงเล็กน้อย เพื่อล้างคราบสกปรกที่เหลือ หลังจากนั้นจึงใช้น้ำยาล้างจาน ไม่ควรใช้ผงซักฟอก เพราะมีความเป็นด่างมาก และต้องล้างหลายๆ ครั้งทำให้สิ้นเปลืองน้ำมาก เมื่อฟอกถ้วยชามเสร็จแล้วล้างในภาชนะบรรจุ น้ำสะอาดที่ 1 และล้างอีกครั้งในภาชนะบรรจุน้ำที่ 2 แล้วจึงผึ่งในที่เก็บจานให้แห้ง
น้ำที่ใช้ล้างจานโดยวิธีนี้ยังมีคุณภาพดี สามารถใช้ล้างถ้วยชามได้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง และยังนำไปรดน้ำต้นไม้ได้ เพราะจะมีแร่ธาตุที่พืชต้องการเจือปนอยู่ด้วย
การซักผ้า
การซักผ้าที่ถูกวิธีทำให้งานซักผ้าอาจเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เราสนุกสนาน ช่วยให้ปลอดภัย และประหยัดได้อย่างแปลกใจ การซักผ้าปกตินอกเหนือจากเทคนิคพิเศษ เช่นการซักแห้งควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
ควรมีจำนวนผ้าที่ซักประมาณ 15-20 ชิ้น ถ้าจำนวนมากเกินหรือน้อยเกินไป ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองหลายประการ ถ้าจำนวนพอเหมาะพอดี โดยเฉพาะซักมือเป็นการออกกำลังกายที่ดี
คัดเลือกแยกประเภทของผ้าที่ซัก เช่น ผ้าหนาหรือผ้าบาง ผ้าสกปรกมากหรือสกปรกน้อย สีตกหรือไม่ตก
ต้องใช้ผงซักฟอกตามปริมาณพอดีกับผ้าที่จะซัก เติมน้ำใส่ผงซักฟอกไว้ประมาณ 3 นาที ไม่ควรใช้มือตีผงซักฟอกทันที เสื้อผ้าที่สกปรกน้อยสีไม่ตก แช่ในน้ำผงซักฟอก 10-15 นาที และขยี้ผ้าเบาๆ แล้วจึงนำออกไปซักในน้ำผงซักฟอกอีกใบหนึ่ง อาจแปรงผ้าเบาๆ บริเวณที่ความสกปรกยังเกาะติดอยู่
ใช้มือลูบให้ผงซักฟอกออก แล้วล้างในน้ำสะอาด 1-2 ครั้ง ยกผ้าให้น้ำไหลคืนสู่ภาชนะ แล้วนำไปแขวนตากหรือผึ่งลม ไม่ควรตากผ้าในที่แสงแดดแผดกล้านานเกินไป
ผ้าที่สกปรกน้อย นำไปซักในภาชนะน้ำผงซักฟอกที่ 2 และนำผ้าสกปรกมาก แช่ไว้ในภาชนะน้ำผงซักฟอกที่ 1 เมื่อซักผ้าสกปรกน้อยแล้วจึงซักผ้าที่สกปรกมากตาม
เมื่อใช้น้ำยาปรับสภาพผ้า ใช้ในการซักน้ำขั้นตอนสุดท้าย ส่วนผ้าสีตกควรเติมเกลือ หรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อย จะช่วยให้สีผ้าดูสดใสขึ้น
น้ำผงซักฟอกที่เหลือในภาชนะที่ 1 และ 2 ใช้กับผ้ากันเปื้อนอื่นๆ อาจเป็นผ้าเช็ดเท้าหรือผ้าถูบ้าน อาจใช้น้ำที่เหลือขัดพื้นก็ได้
การซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้า มีหลักการคัดเลือกผ้าและจัดแยกประเภทเช่นเดียวกับการซักผ้าด้วยมือ เลือกใช้ระบบหรือ รายการซักที่เหมาะสม กับคุณสมบัติของผ้า จำนวนผ้า และความสกปรก การใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาซักฟอกต้องมีปริมาณพอดี
เครื่องซักผ้าที่ปรับอุณหภูมิได้ ต้องปรับให้พอดีเพื่อช่วยให้ถนอมเนื้อผ้า ลดค่าไฟฟ้าและช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ผ้าที่ตาก หรือผึ่งไว้เกือบแห้งแล้ว พอมีความชื้นอยู่บ้าง ก็ควรนำไปรีดถ้าใช้น้ำยาผ้าเรียบก็จะไม่เกิดคราบน้ำยาจับ
การรีดผ้า รีดจากผ้าบางๆ ใช้ความร้อนต่ำๆ เรื่อยไปจนถึงผ้าหนา ใช้ความร้อนเพิ่ม เมื่อใกล้เสร็จแล้วดึงปลั๊กออก ใช้ ความร้อนที่สะสมไว้ในเตารีด ไม่ควรรีดผ้าในปริมาณมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
การใช้ห้องสุขา
ห้องสุขามีความสำคัญต่อทุกคน ใช้ในการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ควรดูแลรักษาความสะอาดเสมอ
ควรแยกห้องสุขากับห้องอาบน้ำออกจากกันเพื่อความสะดวก
การใช้โถสุขาแบบนั่งยอง ให้ใช้แบบโถเคลือบรักษาความสะอาดง่ายกว่าแบบหล่อปูน
การติดตั้งต้องมีทักษะพอสมควร ต้องวางให้ส่วนคอห่านอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้น้ำขังคอห่านได้สนิท ป้องกันกลิ่นเหม็นแพร่ออกมาจากถังเกรอะ
โถส้วมแบบชักโครก มีชนิดตักน้ำราดและมีถังเก็บน้ำชำระ ส่วนมากโถแบบนี้มีฝาปิด
ถ้าเลือกใช้แบบที่มีถังเก็บน้ำ ควรเลือกระบบประหยัดน้ำหรือใส่ขวดบรรจุน้ำลงไปในถังขวดจะไปแทนที่น้ำ ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น และดันให้ลูกลอยปิดวาวล์น้ำเร็วขึ้น การใช้น้ำชำระทุกครั้งจะทำให้ประหยัดน้ำได้อย่างน้อย เท่ากับน้ำที่บรรจุอยู่ในขวด
การรักษาความสะอาดห้องสุขาและห้องอาบน้ำ ควรใช้แปรงสำหรับขัดถูคราบสบู่หรือหินปูนทุกวันหรือสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาเคมีใดๆเพราะอาจทำลายจุลินทรีย์ที่อยู่ในถังเกรอะและถังกรองให้ตายได้ ทำให้กระบวนการย่อยสลายกากตะกอน และสิ่งปฏิกูลผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาถังสุขาเต็มหรือท่อสุขาอุดตันบ่อยๆ
ที่มา https://arts.kmutt.ac.th/