รู้รอบโลก ตอน Orion ยานแห่งความหวังของมวลมนุษยชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.7K views



เรื่อง: พฤทธิ์ เลิศสุกิตติพงศา  ภาพประกอบ: อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ

 

Orion ยานแห่งความหวังของมวลมนุษยชาติ
 

 


“ฟ้าจ๋าฟ้า อยากรู้ว่าขอบฟ้าเริ่มตรงที่ใด ฟ้าจ๋าฟ้า อยากรู้ว่าฟากฟ้าล่องลอยไปไหน...” สมัยก่อนนั้นเวลาคนเราแหงนมองท้องฟ้าจ้องทะลุก้อนเมฆขึ้นไปเขาคิดอะไรกันอยู่ ฟ้าที่กว้างใหญ่นั้นสิ้นสุดที่ตรงสวรรค์หรือเปล่า แล้วดวงดาวเหล่านั้นในตอนกลางคืนอยู่ตรงไหนระหว่างโลกและสวรรค์ 

 

เมื่อไหร่นะที่มนุษย์เริ่มรู้จักท้องฟ้าและอวกาศ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนเดินดินธรรมดาๆ อย่างเราจะขึ้นไปอยู่บนฟ้า อย่าว่าแต่ไปอยู่ในอวกาศเลย กว่าเราจะมีเครื่องบิน กว่าเราจะมีจรวดก็เมื่อร้อยกว่าปีนี้เอง

 

ผมชักสงสัยว่าแล้วมันยากแค่ไหนกันถ้าจะไปในอวกาศ หลังจากคุ้ยเขี่ยหาข้อมูลผ่านมือถืออยู่สักพัก จึงค้นพบโปรเจ็คต์ล่าสุดของ NASA โครงการสำรวจอวกาศใหม่ที่จะส่งนักบินขึ้นไปในอวกาศในระยะไกลขึ้นในเดือนกันยายนนี้ โครงการนี้มีชื่อว่า Orion Multi-Purpose Crew Vehicle (MPCV) ยานโอไรออนนี้เรียกได้ว่าเป็นยานมนุษย์บังคับเอนกประสงค์ที่ได้รับมอบหมายภารกิจมากมาย โดยคนทั่วโลกต่างจับตามองทิศทางของนาซ่าหลังการประสบอุบัติเหตุของยานอวกาศโคลัมเบียในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งทำให้นักบินอวกาศเสียชีวิตทั้งหมด การสูญเสียในครั้งที่ผ่านมาทำให้นาซ่าวางแผนออกแบบโครงการโอไรออนอย่างพิถีพิถันและรอบคอบมากขึ้น
 

ภารกิจหลักของโอไรออนคือการพาลูกเรือหรือนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ ดาวเคราะห์น้อย และดาวอังคาร นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของมนุษยชาติเพราะเรากำลังจะพาคนไปลงดาวอังคารและดาวเคราะห์น้อยด้วย หลังจากที่ นีล อาร์มสตรอง ได้เป็นตัวแทนของมนุษย์โลกไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้ว อันที่จริงกว่าจะมาลงตัวเป็นยานโอไรออนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปีตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของยานเพื่อให้สามารถทำภารกิจบรรทุกสินค้าไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเพิ่มเติมได้ การปรับเปลี่ยนพื้นผิวยานที่มีส่วนขยายเป็นถุงลมนิรภัยเพื่อการลงจอด กลายเป็นการลงจอดในน้ำแบบยานอพอลโลอันโด่งดังเพื่อลดน้ำหนักของยานลง ระบบจรวด Ares I ที่ถูกออกแบบให้นำมาใช้ใหม่ แทนที่จะใช้กระสวยอวกาศแบบเดิม การยิง Ares I ซึ่งขนยาน Orion จำลองที่มีขนาดและน้ำหนักเท่าของจริงขึ้นไปเพื่อทดสอบการปล่อยตัวและการร่อนลง และยังไม่รวมถึงปัญหาทางการเมืองและงบประมาณตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี การเดินทางสู่อวกาศจึงสามารถสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมนุษย์ในการเอาชนะขีดจำกัดของอวกาศให้ได้

 

สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับโครงการยานสำรวจอวกาศโอไรออน คือเนื่องจากระยะเวลาท่องอวกาศที่ยาวนานกว่า 6 เดือน ลูกเรือต้องผลิตของเสียจำนวนมาก เพราะคนเราดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตร และปล่อยออกมาเป็นปัสสาวะวันละลิตรกว่า ดังนั้นอย่างน้อยๆ ยานโอไรออนที่รองรับลูกเรือได้ 2-6 คน ก็ต้องมีส้วมอวกาศที่เต็มไปด้วยปัสสาวะให้กำจัดประมาณ 3-10 ลิตรทุกวันตลอด 6 เดือน เรื่องพื้นฐานเช่นนี้จึงกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แม้แต่ จอห์น ลิวอิส หัวหน้าระบบสนับสนุนการดำรงชีพในยานโอไรออน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าของเสียเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัดเพราะมีส่วนของของแข็งรวมอยู่ด้วย ซึ่งอาจอุดตันระบบกรอง ผมได้แต่หวังว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ต้องเอาปัสสาวะมารีไซเคิลให้ลูกเรือใช้ต่อ

 

ปี ค.ศ. 1961 มนุษย์มียานสำรวจอวกาศเป็นครั้งแรก ปี ค.ศ. 1969 มนุษย์คนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ และปี ค.ศ. 1986 เรามีสถานีอวกาศสถานีแรกของโลก จากนั้นการโคจรรอบโลกก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญอีกหลายๆ ครั้ง เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ควรค่าแก่การจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อีกครั้ง เพราะหากยานโอไรออนปฎิบัติหน้าที่เป็นผลสำเร็จ มันอาจหมายถึงโอกาสในการใช้ชีวิตบนดาวอาณานิคมอื่นๆ เหมือนในภาพยนตร์ฮอลลีวูด และนั่นย่อมเป็นการทำลายข้อจำกัดครั้งใหญ่ของการเดินทางของมนุษยชาติ

 

ผมได้แต่ตั้งหน้าตั้งตาจ้องมองไปยังท้องฟ้า ภาวนาให้พวกเขาทำสำเร็จและกลับมายังโลกมนุษย์อย่างปลอดภัย

 

ที่มา : นิตยสาร pook ฉบับที่45 เดือนกันยายน 2557