ชนิดและหน้าที่ของประโยค
ความหมายของประโยค
ประโยค เกิดจากคำหลายๆ คำ หรือวลีที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้แต่ละคำมีความสัมพันธ์กัน มีใจความสมบูรณ์ แสดงให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น สมัครไปโรงเรียน ตำรวจจับคนร้าย เป็นต้น
ส่วนประกอบของประโยค ประโยคหนึ่ง ๆ จะต้องมีภาคประธานและภาคแสดงเป็นหลัก และอาจมีคำขยายส่วนต่าง ๆ ได้
1. ภาคประธาน ภาคประธานในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผู้แสดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประโยค ภาคประธานนี้ อาจมีบทขยายซึ่งเป็นคำหรือกลุ่มคำมาประกอบ เพื่อทำให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. ภาคแสดง ภาคแสดงในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ประกอบไปด้วยบทกริยา บทกรรมและส่วนเติมเต็ม บทกรรมทำหน้าที่เป็นตัวกระทำหรือตัวแสดงของประธาน ส่วนบทกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำ และส่วนเติมเต็มทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่คล้ายบทกรรม แต่ไม่ใช้กรรม เพราะมิได้ถูกกระทำ
ชนิดของประโยค ประโยคในภาษาไทยแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามโครงสร้างการสื่อสารดังนี้
1. ประโยคความเดียว ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีข้อความหรือใจความเดียว ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอกรรถประโยค เป็นประโยคที่มีภาคประโยคเพียงบทเดียว และมีภาคแสดงหรือกริยาสำคัญเพียงบทเดียว หากภาคประธานและภาคแสดงเพิ่มบทขยายเข้าไป ประโยคความเดียวนั้นก็จะเป็นประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
2. ประโยคความรวม ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาโครงสร้างประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าไว้ในประโยคเดียวกัน โดยมีคำเชื่อมหรือสันธานทำหน้าที่เชื่อมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ประโยคความรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเนกกรรถประโยค ประโยคความรวมแบ่งใจความออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
2.1 ประโยคที่มีความคล้อยตามกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็กตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป มีเนื้อความคล้อยตามกันในแง่ของความเป็นอยู่ เวลา และการกระทำ ตัวอย่าง
• พี่และน้องกำลังว่ายน้ำอยู่ในสระ
• พอสุดาหายป่วยก็ไปโรงเรียนทันที
• แม่เย็บผ้าเสร็จแล้วจึงไปทำอาหารเย็น
2.2 ประโยคที่มีความขัดแย้งกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค มีเนื้อความที่แย้งกันหรือแตกต่างกันในการกระทำ หรือผลที่เกิดขึ้น ตัวอย่าง
• ฉันทำการบ้านแต่พี่เล่นเกม
• พ่อชอบสุนัขแต่แม่ชอบแมว
2.3 ประโยคที่มีความให้เลือก ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยคและกำหนดให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่าง
• เธอจะว่ายน้ำหรือเธอจะเล่นเกม
• คุณจะดูโทรทัศน์ หรือจะฟังเพลง
2.4 ประโยคที่มีความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค ประโยคแรกเป็นเหตุประโยคหลังเป็นผล ตัวอย่าง
• เพราะฝนตกรถจึงติด
• เพราะคุณแม่ป่วย ดังนั้นเธอจึงไปเที่ยวไม่ได้
ข้อสังเกต
• สันธานเป็นคำเชื่อมที่จ้ำเป็นต้องมีประโยคความรวม และจะต้องใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อความในประโยค ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สันธานเป็นเครื่องกำหนดหรือชี้บ่งว่าประโยคนั้นมีใจความแบบใด
• สันธานบางคำประกอบด้วยคำสองคำ หรือสามคำเรียงอยู่ห่างกัน เช่น ฉะนั้น – จึง, ทั้ง – และ, แต่ – ก็ สันธานชนิดนี้เรียกว่า “สันธานคาบ” มักจะมีคำอื่นมาคั่นกลางอยู่จึงต้องสังเกตให้ดี
• ประโยคเล็กที่เป็นประโยคความเดียวนั้น เมื่อแยกออกจากประโยคความรวมแล้ว ก็ยังสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจได้
3. ประโยคความซ้อน ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว ประกอบด้วยประโยคความเดียวที่มีใจความสำคัญ เป็นประโยคหลัก (มุขยประโยค) และมีประโยคความเดียวที่มีใจความเป็นส่วนขยายส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก เป็นประโยคย่อยซ้อนอยู่ในประโยคหลัก (อนุประโยค) โดยทำหน้าที่แต่งหรือประกอบประโยคหลัก ประโยคความซ้อนนี้เดิม เรียกว่า สังกรประโยค อนุประโยคหรือประโยคย่อยมี 3 ชนิด ทำหน้าที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้
3.1 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่แทนนาม (นามานุประโยค) อาจใช้เป็นบทประธานหรือบทกรรม หรือส่วนเติมเต็มก็ได้ ประโยคย่อยนี้เป็นประโยคความเดียวซ้อนอยู่ในประโยคหลักไม่ต้องอาศัยบทเชื่อมหรือคำเชื่อม
ตัวอย่าง
• คนทำดีย่อมได้รับผลดี
• ครูดุนักเรียนไม่ทำการบ้าน
3.2 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายประธานหรือบทขยายกรรมหรือบทขยายส่วนเติมเต็ม (คุณานุประโยค) แล้วแต่กรณี มีประพันธสรรพนาม (ที่ ซึ่ง อัน ผู้) เชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย ตัวอย่าง
• คนที่ประพฤติดีย่อยมีความเจริญในชีวิต
• ฉันอาศัยบ้านซึ่งอยู่บนภูเขา
3.3 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายคำกริยา หรือบทขยายคำวิเศษณ์ในประโยคหลัก (วิเศษณานุประโยค) มีคำเชื่อม (เช่น เมื่อ จน เพราะ ตาม ให้ ฯลฯ) ซึ่งเชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย
ตัวอย่าง
• ครูรักศิษย์เหมือนแม่รักลูก
• เขาเรียนเก่งเพราะเขาตั้งใจเรียน
หน้าที่ของประโยค ประโยคต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารย่อมแสดงถึงเจตนาของผู้ส่งสาร เช่น บอกกล่าว เสนอแนะ อธิบาย ซักถาม ขอร้อง วิงวอน สั่งห้าม เป็นต้น หากจะแบ่งประโยคตามหน้าที่หรือลักษณะที่ใช้ในการสื่อสาร สามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
1. บอกเล่าหรือแจ้งให้ทราบ เป็นประโยคที่มีเนื้อความบอกเล่าบ่งชี้ให้เห็นว่า ประธานทำกริยา อะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไหร่ เช่น
- ฉันไปพบเขามาแล้ว
- เขาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ
2. ปฏิเสธ เป็นประโยคมีเนื้อความปฏิเสธ จะมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ หามิได้ มิใช่ ใช่ว่า ประกอบอยู่ด้วยเช่น - เรา ไม่ได้ ส่งข่าวถึงกันนานแล้ว
- นั่น มิใช่ ความผิดของเธอ
3. ถามให้ตอบ เป็นประโยคมีเนื้อความเป็นคำถาม จะมีคำว่า หรือ ไหม หรือไม่ ทำไม เมื่อไร ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร อยู่หน้าประโยคหรือท้ายประโยค เช่น
- เมื่อคืนคุณไป ที่ไหน มา
- เธอเห็นปากกาของฉัน ไหม
4. บังคับ ขอร้อง และชักชวน เป็นประโยคที่มีเนื้อความเชิงบังคับ ขอร้อง และชักชวน โดยมีคำอนุภาค หรือ คำเสริมบอกเนื้อความของประโยค เช่น
- ห้าม เดินลัดสนาม
- กรุณา พูดเบา
สรุปการเรียบเรียงถ้อยคำเป็นประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน สามารถขยายให้เป็นประโยคยาวขึ้นได้ด้วยการใช้คำ กลุ่มคำ หรือประโยค เป็นส่วนขยาย ยิ่งประโยคมีส่วนขยายหรือองค์ประกอบมากส่วนเพียงใด ก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจต่อกันมากขึ้นเพียงนั้น ข้อสำคัญ คือ ต้องเข้าใจรูปแบบประโยค การใช้คำเชื่อมและคำขยาย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเจตนาในการส่งสารด้วย ผู้มีทักษะในการเรียบเรียงประโยคสามารถพัฒนาไปสู่การเขียน เล่า บอกเรื่องราวที่ยืดยาวได้ตามเจตนาของการสื่อสาร ดังนั้นผู้ใช้ภาษาจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างประโยค และวิธีการสร้างประโยคให้แจ่มแจ้งชัดเสียก่อนจะทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิผล และสามารถใช้ภาษาสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา : https://www.oknation.net/blog/print.php?id=37941