วลีอมตะ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 27.3K views



มาไขคำพูดสุดเด็ดอันเป็นอมตะที่ใครต่างพูดกันจนติดปาก  แต่คำพูดนี้เป็นคำพูดของใคร 

พูดเมื่อไหร่  พูดที่ไหน....ไปล่วงรู้ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเมืองไทยกันเลย!!!!


ใครที่เกิดหลัง พ.ศ.2500 มักจะไม่คุ้น ไม่ได้ยิน ไม่ได้อ่าน นอกจากนักค้นคว้าเท่านั้นจึงจะพบ “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" และอีกประโยคหนึ่ง “น่ารัก” หรือว่าจะหันหน้าเข้าหาธรรมะ อาจจะพูดได้ว่า “ยังคงความเมตตาปรานี”


ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกมาจากปากของท่านผู้บัญชาการฝ่ายทหาร ได้กำชับต่อผู้ใต้บัญชาว่า “อย่าทำร้ายประชาชนเป็นอันขาด จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากข้าพเจ้า” และ ข้าพเจ้านั้นเป็นใคร? 

 
 
 
 
 
 

                งานเฉลิมฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ

                ในปีพุทธศตวรรษ 2500 เป็นปีที่พระพุทธศาสนากำเนิดมาครบ 2500 ปี ตรงกับสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ เป็นการสมโภชพระพุทธศาสนาให้เป็นงานมโหฬารทั่วพระราชอาณาจักร มีกำหนด 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 12-18 พฤษภาคม 2500 มีการฉลองทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดงานฉลอง มีพระสงฆ์จำนวน 2500 รูป สวดมนต์เป็นพุทธบูชา มีการประกอบพิธีอุปสมบทพระภิกษุ 2500 รูปทั่วราชอาณาจักร มีการตกแต่งสถานที่ราชการ  ประดับโคมไฟ ชักชวนองค์การห้างร้านต่างๆ ตกแต่งให้สวยงาม มีการแห่รถยนต์ ซึ่งตกแต่งอย่างสวยงาม และการเห่เรือตามแบบโบราณราชประเพณี นอกจากนี้ พระภิกษุจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น พม่า และจีน ยังได้มาร่วมพิธีฉลอง 25 พุทธศตวรรษในประเทศไทยด้วย

                ในวาระที่ครบ 25 พุทธศตวรรษนั้น พุทธศาสนิกชนและรัฐบาลได้แสดงความพร้อมเพรียงกันสร้างพุทธมณฑลขึ้นในอาณาบริเวณ 2500 ไร่ โดยกำหนดที่ดินตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี และตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นสถานที่ก่อสร้างพุทธมณฑล เพื่อเป็นพุทธานุสรณีย์สถาน เป็นสถานที่อำนวยประโยชน์แก่พระภิกษุสามเณรตามแนวทางพุทธบัญญัติ อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในทางศาสนกิจ ในการศึกษาหาความรู้ หาความสงบร่มรื่นทั้งกายและใจ ท่ามกลางพุทธมณฑล ได้สร้างพุทธรูปขนาดใหญ่ปางพุทธลีลา มีขนาดองค์พระสูง 2500 กระเบียด (16-25 เมตร) ก่อสร้างสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน กับอาคารที่สำคัญอื่นๆ

 

การชักธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแก่ระบอบประชาธิปไตย

                ในสมัยรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่คณะของข้าราชการ มีการชิงไหวชิงพริบกัน และมีปัญหาการเลือกตั้งผู้แทนสกปรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 จนกระทั่งเกิดการเดินขบวน นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 8 ตั้งแต่ได้มีการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมา ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย พรรคใหญ่ คือ เสรีมนังคศิลา ซึ่งมีจอมพล ป. เป็นหัวหน้า นอกจากนี้ ก็มีพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า ผลจากการเลือกตั้งครั้งนั้น ปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลาชนะได้เสียงข้างมากในสภาฯ

                แต่ปรากฏว่า ประชาชนประณามการเลือกตั้งว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะการนับคะแนนเสียงในจังหวัดพระนครล่าช้ามากถึง 2 วัน มีการทิ้งไพ่ไฟ (บัตรเลือกตั้งปลอม) ไฟฟ้าดับตอนกลางคืน ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นที่เพ่งเล็งสนใจจากประชาชนและนิสิตนักศึกษามาก นิสิตนับพันได้ชุมนุมกันที่เสาธงใหญ่หอประชุมจุฬาฯ มีการชักธงลงครึ่งเสา เพื่อไว้อาลัยแด่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหาร

               เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้น มีการเดินขบวนจากท้องสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสู่ทำเนียบรัฐบาล มีการปะทะกันระหว่างทหารและนิสิตบริเวณมัฆวานรังสรรค์ และมีการใช้ก้อนอิฐขว้างปาเพื่อพังประตูทำเนียบเข้าไปพบ จอมพล ป. เพื่อขอให้ประกาศการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และเสียงมติมหาชนจากประชาชนและสื่อมวลชนต่างๆ แสดงออกถึงความไม่พอใจ


"พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

               ท่านผู้บัญชาการฝ่ายทหาร ได้กำชับต่อผู้ใต้บังคับบัญชาว่า

    “อย่าทำร้ายประชาชนเป็นอันขาด จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากข้าพเจ้า”

             ทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธาในตัวจอมพลสฤษดิ์มาก ความวุ่นวายจึงคลี่คลายลงโดยรวดเร็ว ในที่สุดรัฐบาลประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2500 คำกล่าวสุดท้ายที่ท่านผู้บัญชาการฝ่ายทหารได้กล่าวต่อประชาชนทางวิทยุกระจายเสียงที่ประเทศ ทำให้ประชาชนทั้งหลายจดจำมิรู้ลืม

“พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

              ภายหลังเกิดเหตุการณ์เลือกตั้งสกปรกแล้ว สภาพบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ยุ่งยาก มีการจับกุมบุคคลสำคัญ มีการปิดหนังสือพิมพ์ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยโดยแม้จริงได้ ดังนั้นในวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ จึงได้นำคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจจากจอมพล ป. อย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่ายเป็นอย่างดี จากนั้นจึงได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศที่บริสุทธิ์อีกครั้ง และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ นายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การ สปอ. (SEATO) เป็นนายกรัฐมนตรี

 

วันขึ้นปีใหม่ รัฐบาลใหม่ งานใหม่คอมมิวนิสต์

            เมื่อรัฐบาลชั่วคราว 90 วัน ของนายพจน์ สารสิน ได้บริหารงานจนครบวาระแล้ว คณะรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ได้ประกาศพระบรมราชโองการ แต่งตั้งพลโท ถนอม กิตติขจร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้มีการประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อคืนวันที่ 1 มกราคม 2501 เพื่อบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ปรากฏว่ารัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลที่เป็นปึกแผ่น เป็นที่รวมขวัญของประชาชนได้ดีขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ต้องรับปัญหาอย่างหนัก จากการกระทำของพวกคอมมิวนิสต์ใต้ดิน ที่ขัดขวางการบริหารของรัฐบาลทุกวิถีทาง

             ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 คณะปฏิวัติซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ เป็นหัวหน้า พลเอกถนอม เป็นรองหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง ควบคุมสถานการณ์ทั่วไปไว้ในอำนาจด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ โดยมีเจตนารุนแรงที่จะจับกุมพวกกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 คณะปฏิวัติได้ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 240 คน หลังจากนั้น จึงเห็นสมควรให้มีรัฐบาล โดยมีจอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการปกครองประเทศต่อไป

 

ใครวางเพลิงประหารชีวิต เผาอุปกรณ์สูบฝิ่นท้องสนามหลวง

               ในรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ได้มีการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อวินาศกรรมในการวางเพลิง โดยได้พิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาดถึงประหารชีวิต นอกจากนี้ ยังได้มีคำสั่งยกเลิกการเสพฝิ่นและจำหน่ายฝิ่น ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอย่างเด็ดขาด โดยได้สั่งให้เผาอุปกรณ์การสูบฝิ่นทั้งปวงที่ท้องสนามหลวงเมื่อเวลา 0.00 น.จนรุ่งสว่างของอีกวันหนึ่ง นับเป็นเวลาที่เลิกการสูบฝิ่นทั่วประเทศไทย

                ภาวะที่รัฐบาลชุดนี้บริหารอยู่นั้น เป็นภาวะที่ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างมาก รัฐบาลต้องรีบปรับปรุงโดยเร่งรัดที่สุด จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเศรษฐกิจขึ้นคณะหนึ่ง ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อปรับปรุงแก้ไขเศรษฐกิจของชาติ ให้พ้นจากภาระยุ่งยากไปสู่ความเจริญ
 


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในพ.ศ. 2506




 

 

              ผลการดำเนินงานของรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ เพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นนั้นยังมีอีกมากมาย อาทิ การปราบอันธพาล และสถานที่ซ่องสุมต่างๆ การควบคุมสถานบริการต่างๆ ผลงานด้านการประชาสงเคราะห์ การลดค่าธรรมเนียมต่างๆ และราคาของบริโภค การควบคุมบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในที่สาธารณะ การควบคุมค่าเช่าบ้าน การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การปรับปรุงอุตสาหกรรม และรวมทั้งงานพัฒนาการกองทัพบกอีกด้วย

                                เพียงอดีตหลากเรื่องล้วน                                   ควรรู้ กันเอย

                ประเทศชาติจะดีร้ายอยู่                                                      ท่านแท้

                กลั่นกรองเลือกคนดีสู่                                                        สภา กันแม่

                สิทธิ์เสียงทุกคนเลิศแล้                                                       เลิศล้วนกระบวนเมืองฯ

                                                                                                                (พรโสภา ร้อยกรอง)


ภาพเหตุการณ์ประท้วงการเลือกตั้งสกปรก ซึ่งมีการปะทะกัน (จากหนังสือชุดภาพ 200 ปี) 

 
 ที่มา ; https://www.siamtownus.com/New-1107000110-1.aspx และวิกิพีเดีย