รู้รอบโลก ตอน Hannukah แสงแห่งความหวัง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 14.6K views



เรื่อง: ญดา สัตตะรุจาวงษ์ และ ศรินทร เอี่ยมแฟง  ภาพประกอบ: วันนิตา จุนถาวร

 

บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี ต้นคริสต์มาส ซานตาคลอส สีแดง สีเขียว และของขวัญกองโต เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเทศกาลคริสต์มาสมาถึงแล้ว คริสต์มาสเป็นวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ที่ผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดร่วมกันแสดงความยินดี เพราะเป็นวันประสูติของพระเยซูพระบุตรของพระเจ้า แต่สำหรับชาวยิวที่นับถือศาสนายูดาห์ ซึ่งเป็นศาสนายุคแรกก่อนจะแตกออกมาเป็นศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม พวกเขามีเทศกาลเฉลิมฉลองสำคัญในช่วงปลายปีเช่นกัน เรียกว่า “เทศกาลฮานุกกะห์”

ย้อนกลับไปกว่า 3,000 ปีที่แล้ว ศาสนายูดาห์เป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวที่เก่าแก่ที่สุด และยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน ชาวยิวหรือผู้นับถือศาสนายูดาห์เชื่อว่าพระเจ้าได้มอบพันธะสัญญาว่าจะประทานพระเมสสิยาห์ (พระผู้ช่วยให้รอด) มาปลดปล่อยพวกเขาจากความยากลำบาก ชาวยิวในอดีตจำต้องเดินทางอพยพไปมาบริเวณเมโสโปเตเมียเพื่อหลีกเลี่ยงความแห้งแล้ง และแสวงหาแผ่นดิน “ที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้งและน้ำนมไหลบริบูรณ์” ซึ่งเป็นของพวกเขาตามบัญญัติศาสนา อันหมายถึงดินแดนอิสราเอลในปัจจุบัน

พื้นที่บริเวณประเทศอิสราเอลเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งมาตลอดหลายพันปี ในช่วงสองร้อยปีก่อนคริสตศักราช กองทัพของกษัตริย์แอนติโคลัสที่สี่ เข้ามายึดครองดินแดนและบังคับชาวยิวให้นับถือพระเจ้าแบบกรีก โดยทำการลบหลู่ศาสนสถานของพวกเขาด้วยการฆ่าหมูบูชายันในวิหาร ในวันที่ 25 ของเดือนคริชเลฟ (Kislev) บีบบังคับให้ชาวยิวทำสงครามยึดคืนดินแดนและวิหารศักดิ์สิทธิ์จนสำเร็จ หลังจากชนะสงครามแล้ว พวกเขาได้จุดตะเกียงสักการะวิหารศักดิ์สิทธิ์ โดยมีการบอกเล่าถึงอิทธิปาฏิหาริย์ของการสักการะนี้ว่า แม้ในสภาวะขาดแคลนน้ำมันที่สามารถใช้จุดตะเกียงได้เพียงวันเดียว แต่ตะเกียงกลับสว่างไสวนานถึงแปดวัน กลายเป็นที่มาของการฉลองเทศกาลฮานุกกะห์เป็นเวลาแปดวัน

“ฮานุกกะห์” (Hannukah) ในภาษาฮิบรูแปลว่า การสักการะ เป็นการเฉลิมฉลองทั้งชัยชนะและปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นในการสักการะครั้งแรก ทุกปีในวันที่ 25 ของเดือนคริชเลฟ หรือประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนธันวาคม ถือเป็นวันเริ่มต้นเทศกาลฮานุกกะห์ตามปฏิทินของชาวฮิบรู เทศกาลฮานุกกะห์เริ่มต้นเมื่อพระอาทิตย์ตกดินในวันแรก โดยชาวยิวจะเริ่มจุดเทียนเล่มกลางที่เรียกว่า ชาแมช (Shamash) เพื่อใช้จุดเทียนเล่มแรกบน เชิงเทียนเมโนราห์ (Menorah) เทียนแต่ละเล่มจะถูกจุดเพิ่มขึ้นวันละหนึ่งเล่มทุกๆ วัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนวันทั้งแปดที่ตะเกียงส่องสว่าง หลังจากจุดเทียนถึงจะมีพิธีทานอาหารร่วมกันและมอบของขวัญให้กับคนในครอบครัวทุกวันวันละหนึ่งชิ้น คล้ายกับเทศกาลคริสต์มาส

แสงเทียนสว่างไสวของเทศกาลฮานุกกะห์จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองอิสรภาพ ความหวัง และยังเป็นการแสดงความเคารพของชาวยิวต่อพระผู้เป็นเจ้าและวีรบุรุษของชนชาติอิสราเอลที่ล่วงลับ


Did you know?

พหุเทวนิยม (Polytheism)
ตรงข้ามกับ เอกเทวนิยม (Monotheism) ที่เชื่อในพระเป็นเจ้าองค์เดียว พหุเทวนิยม (Polytheism) เป็นการบูชาเทพเจ้าหลายองค์ที่มีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งต่างๆ ของชาวกรีกและโรมัน อย่างที่เราพบเห็นในตำนานเทพปกรณัมกรีก เช่น เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ (อพอลโล) เทพีแห่งดวงจันทร์ (อาร์เตมิส) เทพแห่งทะเล (โพไซดอน) หรือมหาเทพแห่งท้องฟ้า (ซีอุส)

สำหรับปัจจุบันศาสนาแบบพหุเทวนิยมอาจไม่ได้บูชาเทพเจ้าทุกองค์เสมอกัน แต่อาจบูชาเฉพาะองค์ใดองค์หนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ศาสนาฮินดูที่นับถือพระพรหม พระศิวะ และพระวิศนุ หรือศาสนาชินโตที่นับถือคะมิ (พระเจ้า) และวิญญาณในธรรมชาติ อย่างซุซะโนะโอะ เทพเจ้าแห่งสายฟ้า เป็นต้น


ชมสถานที่ศักดิ์สิทธ์ของชาวยิว จากคลิปวิดีโอ YouTube แปลไทย
www.trueplookpanya.com/true/knowledge_youtube.php?youtube_id=800

 

จากนิตยสารปลูก โดย www.trueplookpanya.com ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ.2556