วันสุขาโลก (World Toilet Day)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.6K views



วันสุขาโลก (World Toilet Day)

19 พฤศจิกายน ของทุกปี 

              ไม่ว่าจะเรียกว่า "ห้องส้วม" "ห้องน้ำ" หรือ "ห้องสุขา" สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจในการใช้ก็คือ เรื่อง "สุขอนามัย" ซึ่งมีส่วนสำคัญมากต่อการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับทุกคน 

            ทำไมเป็นเช่นนั้น? เพราะพื้นที่เล็กๆ ที่เราใช้ทำความสะอาดร่างกาย ล้างหน้า แปรงฟัน ขับถ่าย หรืออาจรวมถึงการซักล้างเสื้อผ้า เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของเชื้อโรคมากมายที่มากับของเสียต่างๆ ที่ร่างกายต้องขับถ่ายออกมาตามธรรมชาติทุกวัน เมื่อชำระล้างร่างกาย ขับถ่ายของเสียเรียบร้อยแล้ว 

            สมัชชาสหประชาชาติ ก็เลยจัดให้ 19 พฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี เป็น วันสุขาโลก เพื่อเน้นย้ำแสดงให้เห็นถึง ชะตากรรมของผู้คนถึง 2.5 พันล้านคนที่ยังไม่มีห้องน้ำขั้นพื้นฐาน โชคดีแค่ไหนที่เราทุกคนมีห้องน้ำใช้ เพราะตามที่สหประชาชาติเคยกล่าวไว้ว่า ในบรรดาประชาชน 7 พันล้านของโลก มีถึง 6 พันล้านคนที่มีโทรศัพท์มือถือใช้ ทว่ามีเพียง 4.5 พันล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงห้องสุขาหรือส้วมได้

               สมัชชาสหประชาชาติได้ออกมติดังกล่าว เพิ่อเรียกร้องให้สมาชิกขององค์การสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ ช่วยกันส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และออกนโยบายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาล และหยุดการถ่ายอุจจาระในที่เปิดโล่ง อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคท้องร่วง ที่ทำให้มีเด็กอายุไม่ถึง 5 ขวบถึง 750,000 คนเสียชีวิตในทุก ๆ ปี

              ด้านรองเลขาธิการสหประชาชาติ แจน เเอเลียสสัน ได้กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมประจำปีของ วันสุขาโลกนั้น จะเป็นการมุ่งหน้าไปยังการเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับความจำเป็นที่มนุษยชาติทุก ๆ คนจะต้องมีสุขภาพอนามัยที่ดี จึงควรให้ความใส่ใจการชำระล้างพื้นห้องน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ และอุปกรณ์ใช้สอยภายในห้องน้ำให้อยู่ในสภาพที่ส่งเสริมอนามัยของสมาชิกทุกคนภายในบ้านด้วย ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนที่ยังต้องทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสุขอนามัยได้พยายามปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตในด้านการขับถ่ายที่มีอนามัยมากขึ้น

             หากไม่อาจเลี่ยงได้ จำต้องใช้ห้องน้ำสกปรก มีกลิ่นเหม็นอับชื้น มีคราบดำฝังแน่นบนผนัง สุขภัณฑ์ และพื้น ย่อมเปิดโอกาสให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคมากมาย ความเสี่ยงของการรับเชื้อโรคเกิดได้ง่ายกับสตรีและเด็ก เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอดจากการใช้น้ำชำระล้างหลังขับถ่าย เชื้อโรคจากสุขภัณฑ์จากคราบเศษอุจจาระ ปัสสาวะที่มากับฝอยละอองน้ำซึ่งฟุ้งกระจายขึ้นมาเมื่อทำการชักโครก ยังมีการหยิบ จับ แตะ สัมผัสอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องน้ำ เหล่านี้จึงเป็นเหตุสนับสนุนให้ทุกคนต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ

             แม้ว่า การอาบน้ำและขับถ่ายของเสียจากร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องปฏิบัติอยู่เป็นกิจวัตร แต่มีผู้คนอีกจำนวนมากในโลกนี้ ที่ไม่อาจเข้าถึงห้องน้ำที่ถูกหลักสุขอนามัย 

            มีการสำรวจพบว่า ทุกๆ วัน มีเด็กในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนกว่า 4,000 รายเสียชีวิต อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการขาดสุขอนามัยที่ดี

            ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสุขอนามัยของห้องส้วมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของห้องน้ำห้องส้วมภายในบ้าน ห้องน้ำห้องส้วมในที่สาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน วัด โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่ราชการ ฯลฯ เพื่อสกัดไม่ให้การขับถ่ายที่ไร้สุขอนามัยส่งผลเสียกับแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรโดยตรง เพราะหวั่นกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะหวนกลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีก

 

ขอบคุณภาพประกอบและเนื้อหา เรียบเรียงจาก 
https://teen.mthai.com/variety/61345.html
https://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1353298877&grpid=03&catid=03
www.forbes.com