พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ กล่าวไว้ดังนี้
“ไต่คู้ น. เครื่องหมายชนิดหนึ่ง มีรูปร่างดังนี้ ๘ ทำให้คำนั้นๆ มีเสียงสั้น เรียกว่า ไม้ไต่คู้”
นั่นคือ ไม้ไต่คู้ ที่เรารู้จักในปัจจุบัน
ถอยหลังไปเมื่อ ๕๔๗ ปีก่อน (ขณะที่เขียนนี้ พ.ศ.๒๕๔๗) ไม้ไต่คู้ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในศิลาจารึกอักษรแบบสุโขทัย (พ.ศ.๒๐๐๐) พบที่วัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน โดยปรากฏเป็นรูปวงกลมเล็กๆ บนตัว ก ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็นคำว่า "ก็" (จากหนังสือ ลายสือไทย ๗๐๐ ปี ของ กำธร สถิรกุล)
ต่อมา ดร.นันทนา ด่านวิวัฒน์ ได้เขียนบทความเรื่อง "อักษรและอักขรวิธีไทย" ลงในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๕ กล่าวว่า ไม้ไต่คู้ ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกวัดจุฬามณี พ.ศ.๒๒๓๐ มีหน้าที่ ทำให้สระเสียงยาวในพยางค์ที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กลายเป็นเสียงสั้น ที่พบครั้งแรกพบใช้กับสระเอเท่านั้น และเดิมเขียนไว้บนรูปพยัญชนะท้ายของพยางค์ เช่น เตม็ คือ เต็ม เหน็ คือ เห็น เป็นต้น
ศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล วิจารณ์ว่า ไม้ไต่คู้เป็นเครื่องหมายลดรูปวิสรรชนีย์อีกแบบหนึ่งเช่นเดียวกับไม้หันอากาศ ไม้หันอากาศนั้นใช้ลดเสียงอะโดยตรง เมื่อมีตัวสะกดก็แปลงอะเป็นไม้หันอากาศ ในภาษาบาลีสันสกฤต ลดรูป อะ ออก เมื่อมีตัวสะกด ไม่ต้องเขียนสระอะอีก เพราะตัวพยัญชนะมีเสียงอะอยู่แล้ว ส่วนในภาษาไทยนั้น สระอื่นที่เป็นสระสั้น เมื่อมีตัวสะกด ก็พลอยถือตามแบบอินเดียไปด้วย กล่าวคือ ต้องเปลี่ยนรูปวิสรรชนีย์ไปเป็นอย่างอื่น จึงใช้รูปไม้ไต่คู้แทน
เช่น ป + เอะ + น = เป็น หลับ + ผล + เอาะ (เสียงสั้นของสระออ) + ย = หลับผล็อย หลบ + ผล +แอะ + ว = หลบแผล็ว
ในหนังสือแบบเรียนไทยสมัยก่อนตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็น จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี จินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ประถม ก กา ปฐมมาลา จินดามณี ฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท อักษรนิติ มูลบทบรรพกิจ หรือ สยามไวยากรณ์ ต่างก็กล่าวถึงไม้ไต่คู้ และบางฉบับก็ให้คำอธิบายเพิ่มเติม เช่น จินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมโกศ อธิบายว่า
"...จึงจะอธิบายให้แจ้งว่า อ่านสั้นเท่าเข้ามากึ่งหนึ่งนั้นดงงนี้ อุประมาตัวบุรุด เอยิยดแขนออกแล้ว แลคู้แขนเข้าก็สันเข้ามามาก บุรุดอันนอนเอยียดเท้าวแลคูเท้าวเข้าก็สันเขามามาก อุประมาต่อเชือกเส่นหนึ่งยาวสีบวา ครั้นคูทบเข้ามามากสันเข้ามาแต่ห้าวา เหดดงงนีจึงกล่าวไว้ว่า ไม้คู้คำสั้นเข้ามากึ่งหนึงแล..." [ตัวสะกดแบบเดิม]
ถอดความเป็นภาษาปัจจุบันได้ว่า "ที่ว่าสั้นลงกึ่งหนึ่งนั้น เปรียบเหมือนกับคนเหยียดแขนออกไปย่อมยาวกว่าเมื่อคู้แขนเข้ามา หรือเมื่อเหยียดเท้าออกไปก็ย่อมต้องยาวกว่าเมื่อคู้เท้าเข้ามา หรือเชือกยาวสิบวา เมื่อคู้ทบเข้ามาก็ยาวเพียงห้าวา"
ส่วนหนังสือ ประถม ก กา กล่าวถึง "ไม้ไต่คู้" คู่กับ "ไม้ตรี" ดังนี้
"เลข ๗ นี้เรียกว่าไม้ตรี สำหรับใช้ในอักษรกลางเปนแม่ กก กด กบ แลอักษรตายมีกะเปนต้น ไม้ตรี ๗ นั้นบังคับให้สำเนียงคำที่อยู่เบื้องบนนั้นเปนสำคัญ แถลงให้เสียงสั้นแลสูงขึ้นหน่อยหนึ่ง อย่างนี้ว่า เจ๊ก เด๊ก โต๊ะ ก๊ก เป็นต้น"
"เลข ๘ นี้คือไม้ไต่คู้ บังคับให้สำเนียงคำที่อยู่เบื้องบนเปนสำคัญนั้น แถลงให้เสียงสั้นคล้ายกับไม้ตรี ๗ อย่างนี้ เปน เป็น เหน เห็น ก ก็ เขน เข็น เป็นต้น" [ตัวสะกดแบบเดิม]
ข้อสังเกตในช่วงนี้ก็คือ "ไม้ไต่คู้นั้นทำให้เสียงสั้นลงเช่นเดียวกับไม้ตรี"
ขอบคุณที่มา จาก เว็บไซต์ ราชบัณฑิตยสถาน