คำไทยที่มีรูปเป็นคำบาลีและสันสกฤต ที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หลายคำ พอต้องการทราบที่มาที่ไปของคำ บางทีก็หาไม่พบว่าที่มีรูปเป็นบาลีหรือสันสกฤตนี้เป็นคำบาลีหรือสันสกฤตจริง ๆ หรือไม่ เช่น คำว่า “สกุล” พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้
“น. ตระกูล, วงศ์, เชื้อสาย, เผ่าพันธุ์; เชื้อชาติผู้ดี เช่น เป็นคนมีสกุล.”
แต่มิได้บอกที่มาไว้ว่าเป็นคำบาลีหรือสันสกฤต และยังมีลูกคำอยู่อีกคำหนึ่งคือ “สกุลรุนชาติ” พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ว่า
“น. ตระกูลผู้ดี (มักใช้ในความปฏิเสธ) เช่น ไม่มีสกุลรุนชาติ.”
ความจริงใช้ในความยืนยันก็มี เช่น เขาเป็นคนมีสกุลรุนชาติ เมื่อพลิกไปดูที่คำว่า “ตระกูล” ก็พบว่าท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
“น. สกุล, วงศ์, เชื้อสาย, เผ่าพันธุ์.”
และมีลูกคำอยู่คำหนึ่ง คือ “ตระกูลมูลชาติ” ซึ่งท่านให้ความหมายไว้ดังนี้
“(สำนวน) น. ตระกูลผู้ดี เช่น หญิงมีตระกูลมูลชาติ ถ้าแม้ขาดขันหมากก็ขายหน้า. (ท้าวแสนปม), สกุลรุนชาติ ก็ว่า.”
ที่นับว่าน่าแปลกอยู่ก็ตรงที่ถ้าขึ้นด้วย “สกุล” ก็จะเป็น “สกุลรุนชาติ” แต่ถ้าขึ้นด้วย “ตระกูล” ก็จะเป็น “ตระกูลมูลชาติ” ไม่ทราบว่า คำว่า “รุน” ที่ “รุนชาติ” นั้นแปลว่า “ผู้ดี” หรือเปล่า เพราะคำว่า “รุน” คำเดียว พจนานุกรมเก็บไว้เฉพาะความหมายที่เป็นกริยาแปลว่า “ดุนไปเรื่อย, ไสไปเรื่อย; ระบายท้อง.” ส่วนในความหมายที่เป็นนาม ท่านให้บทนิยามไว้ว่า “เครื่องช้อนกุ้งชนิดหนึ่ง” และมีลูกคำอยู่คำหนึ่งคือ “รุนแรง” เป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า “หนักไป, แรงไป” ส่วนคำว่า “มูลชาติ” ตามศัพท์ก็แปลว่า “ชาติเดิม” หรือ “ชาติดั้งเดิม” ไม่มีตรงไหนเลยที่แปลว่า “ผู้ดี” อย่างไรก็ตาม ทั้งคำว่า “สกุล” และ “ตระกูล” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่ได้ให้ที่มาทั้ง ๒ คำ
ส่วนคำว่า “กุล” นั้น พจนานุกรมได้บอกที่มาไว้ว่าเป็นทั้งคำบาลีและสันสกฤต และให้ความหมายไว้ว่า “น. ตระกูล, สกุล.” และมีลูกคำอยู่ ๖ คำคือ
๑. กุลทูสก (กุละทูสก) น. ผู้ประทุษร้ายต่อตระกูล หมายถึง ภิกษุที่ประจบตระกูลต่าง ๆ ด้วยอาการที่ผิดวินัย.
๒. กุลธิดา (กุนละทิดา) น. ลูกหญิงผู้มีตระกูล. (ป.).
๓. กุลบดี (กุนละบอดี) น. หัวหน้าตระกูล. (ส.).
๔. กุลบุตร (กุนละบุด) น. ลูกชายผู้มีตระกูล. (ส.).
๕. กุลสตรี (กุนละสัดตรี) น. หญิงผู้มีตระกูลและมีความประพฤติดี. (ส.).
๖. กุลสัมพันธ์ (กุนละสำพัน) ว. เกี่ยวเนื่องกันทางตระกูล. (ป.).
คำว่า “วงศ์” พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า “น. เชื้อสาย, เหล่ากอ, ตระกูล.” และบอกว่ามาจากคำสันสกฤตว่า “วศ" ตรงกับคำบาลีว่า “วส” และมีลูกคำอยู่ ๔ คำ คือ
๑. วงศกร น. ผู้ต้นตระกูล. (ส.).
๒. วงศ์วาน น. ลูกหลานเหลนในตระกูล, มักใช้เข้าคู่กับคำ ว่านเครือ เป็น วงศ์วานว่านเครือ.
๓. วงศา (กลอน) น. วงศ์.
๔. วงศาคณาญาติ น. ญาติพี่น้อง.
เมื่อได้เปิดดูหนังสือ “ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ” แล้ว พบคำว่า “กุล” ท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
“ตระกูล; วงศ์; หมู่แห่งชนมีชาติร่วมกัน; เป็นไปในอรรถ คือ ๑. โคตฺต (ตระกูล) ๒. ราสิ (กอง).”
ตรงกับคำสันสกฤตว่า “กุล” เช่นกัน
ต่อมาได้เปิดดูหนังสือ “สสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน” ของหลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) ดู ได้รายละเอียดมากขึ้น ที่คำว่า “กุล” ท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
“น. วงศ์, ว่านเครือ, วรรค, วงศาวลี, สันตติ, โคตร์, ชาติ; ฝูง, โขลงสัตว์ (ประ) เภทเดียวกัน; ชนากีรณประเทศ, ประเทศอันมีผู้คนหนาแน่น; บ้าน, เรือน, ที่อาศรัย; ร่างกาย, ตัว; ข้างหน้า, ด้านน่า; กุลศิลปิน, ศิลปินผู้เนื่องจากสันตติวงศ์อันลือนาม; อัครชาของชายา, พี่สาวของเมีย; ...”
และได้เปิดไปดูคำว่า “สกุล” เพื่อจะได้ทราบว่ามีใช้หรือไม่ ก็พบคำว่า “สกุลฺย” ซึ่งท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
“น. สกุลย์, พันธุชน, ญาติ (สสกฤตว่า-ชฺญาติ), ผู้ร่วมกุลนามและพืชพันธุ์อันเดียวกัน; a kinsman, one of the same family name and common origin.”
ทำให้พอสรุปได้ว่า คำว่า “สกุล” ก็คงมาจากคำว่า “สกุลฺย” ในภาษาสันสกฤตนั่นเอง ถ้าเป็นคำบาลี ก็คงเป็น “สกุล” แปลว่า “ร่วมตระกูล, ร่วมสกุล”
ในภาษาไทยเราตัว ส แผลงเป็น ต หรือตัว ต แผลงเป็น ส ได้ เช่น สะพาน-ตะพาน, สะพัง-ตะพัง, สะโพก-ตะโพก ดังนั้น “สกูล” ก็แผลงเป็น “ตกูล” ได้ เราต้องการเสียงให้เพราะก็เติม ร กล้ำลงไป “ตกูล” จึงเป็น “ตระกูล” ทำนองเดียวกับ “นกยาง” เป็น “นกกะยาง” แล้วเป็น “นกกระยาง” ฉะนั้น
ในหนังสือ “กฎหมายตราสามดวง” ตัว ต กับตัว ก ก็สับเสียงกันได้ ดังนั้น “ตระกูล” บางทีท่านก็ว่า “กระกูล”
ขอบคุณที่มาจาก เว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถาน