เรื่องเบื้องหน้าของผู้ปิดทองหลังพระ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.6K views




“…การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็น ก็ไม่น่าวิตก
เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้ เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ
การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด
ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น
แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…”

พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฏาคม 2506

----------------------------------------------------------------

บ้านเมืองเรามีคนเล็กๆ แต่อัดแน่นไปด้วยพลังยิ่งใหญ่คอยขับเคลื่อนสังคมขนาดย่อมๆ จนถึงระดับประเทศ หรือก้าวหน้าไปในระดับนานาชาติ หลายครั้งหลายหนที่เราไม่มีโอกาสได้รู้จักตัวตนหรือแม้กระทั่งจดจำชื่อเสียงเรียงนาม แต่ผลงานที่พลังเบื้องหลังเหล่านั้นได้สร้างสรรค์และลงมือทำก็ไม่เคยถูกลดค่าลงไปแม้แต่น้อย รางวัล ชื่อเสียง หรือเกียรติยศที่พวกเขาได้รับไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือสำคัญไปกว่าความสุขที่ได้ทำสิ่งที่ตนเองรักและศรัทธาเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้อื่น

ปิดทองหลังวัด

              เยาวราช ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งคือ พระมหามณฑปวัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปล้ำค่าสมบัติของโลก

                ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามากราบไหว้และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนย่านเก่าชาวจีนแห่งนี้กันไม่ขาดสาย โดยไม่ต้องกังวลว่ามาเยือนพิพิธภัณฑ์นี้แล้วจะไม่ได้รับความรู้กลับไป เพราะมี ยุวมัคคุเทศก์ผู้เชียวชาญภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ประจำการอยู่ในพระมหามณฑป ทุกคนคือเจ้าถิ่นที่เกิด เติบโต และศึกษาอยู่ในย่านเยาวราช ที่พร้อมนำชมพิพิธภัณฑ์และตอบทุกคำถามเกี่ยวกับเยาวราชและวัดไตรมิตรวิทยารามที่พวกเขาคุ้นเคยได้ไม่แพ้กับมัคคุเทศก์มืออาชีพ

“ยินดีต้อนรับสู่พระมหามณฑป วัดไตรมิตรวิทยารามค่ะ/ครับ”  เสียงใสๆ พร้อมกับใบหน้ายิ้มแย้ม ท่าท่างกระฉับกระเฉงของสองยุวมัคคุเทศก์กล่าวต้อนรับ พลอย-อารยา เหมือนทอง ชั้น ม.5 โรงเรียนสายปัญญา และอีกสองหนุ่ม เหลียง-กิตติพงศ์ เฉิดแสงจันทร์ ชั้น ม.6 และ โอม-โกปาส บาสเนต ชั้น ม.3 จากโรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาคม             


พลอย :  “กว่าจะได้มาทำหน้าที่นี้ เราต้องผ่านการคัดเลือก การฝึกอบรมหลายขั้นตอน เราจึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของครอบครัว ของโรงเรียน เข้ามาทำงานอาสาให้กับท้องถิ่นของเรา ในขณะที่หนูนำชมให้นักท่องเที่ยวเขาได้ความรู้ แต่หนูก็ได้รับความรู้จากเขาด้วย เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนกัน คือเขาจะช่วยสอนภาษาให้ และคำถามที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะถามคือเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทย เราก็จะตอบได้อย่างภาคภูมิที่สุดว่าบ้านเมืองของเราโชคดีแค่ไหนที่มีพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างในทางที่งดงามค่ะ”


โอม : “ทางโรงเรียนแนะนำมาว่ามีโครงการนี้ ผมก็สนใจมากครับ เพราะถึงจะอยู่แค่ชั้น ม.3 แต่ผมก็ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าอยากเป็นมัคคุเทศก์ พอได้มาทำแล้วก็สนุกสนานมาก อยากจะทำไปเรื่อยๆ  ผมอยากใช้ความสามารถทางภาษามาทำประโยชน์ให้กับวัด ซึ่งภาษาที่ผมถนัดคือภาษาคือไทย อังกฤษ ฮินดี เนปาล พม่า ส่วนภาษาจีนได้นิดหน่อย และกำลังฝึกฝนภาษาเยอรมันและสเปนอยู่ครับ แต่สิ่งที่ได้มากกว่าเรื่องของการฝึกฝนทักษะทั้งหมดก็คือสอนให้เราเป็นคนตรงต่อเวลาครับ”


เหลียง :  “แม้จะเป็นหน้าที่เล็กๆ แต่งานของเราก็เป็นเสมือนตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศ เวลาที่มีคนชมว่าคนไทยน่ารัก คนไทยมีน้ำใจ ผมก็รู้สึกปลาบปลื้ม และในฐานะเยาวชนไทยที่ในอีกไม่กี่ปีเราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นี่จะเป็นการเตรียมความพร้อมอีกด้านที่เราน่าจะเก็บเกี่ยวไว้เป็นประสบการณ์ของชีวิตครับ”

งานอาสาที่ใช้เวลาในวันหยุดบวกกับความรับผิดชอบที่มากเกินวัยไม่มีผลกระทบต่อการเรียนและเรื่องส่วนตัวของทั้งสาม ตรงกันข้ามกลับเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขารู้จักจัดสรรเวลาและเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          เหลียงยืนยันเสียงหนักแน่นว่า “ไม่รบกวนเลยครับ เพราะการทบทวนหนังสือ นัดเพื่อนมาติวกัน เราจะทำเมื่อใหร่ก็ได้ เพราะมันก็แค่การเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่การได้มาทำงานมัคคุเทศก์อาสาเราได้ฝึกฝนหลายทักษะ ซึ่งบางเรื่องก็หาไม่ได้ในห้องเรียน แต่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิตครับ”

          การปิดทองหลังพระในรั้ววัดของเหล่ายุวมัคคุเทศก์ เป็นต้นทางของความสุขและความอิ่มเอมในใจที่ไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทน จึงเป็นความสุขที่แท้จริงของผู้ให้ เช่นที่พลอยบอกว่า

          “สิ่งที่เราทำไปแล้วมีผู้รับแล้วได้ประโยชน์จากตรงนั้น แม้เขาจะไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่พูดถึง แต่เราก็ยินดีว่าเขาได้รับสิ่งดีๆ กลับไป โดยมีเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งดีๆ เหล่านั้นค่ะ หากในวันหนึ่งพ้นจากหน้าที่นี้ไปก็ยังจะมุ่งมั่นทำความดีอยู่ เพราะประสบการณ์ที่มีคุณค่าบางอย่างเราไม่สามารถหาได้ง่ายๆ ต้องลงมือลงแรงทำถึงจะได้มา”

 

 

 

ปิดทองหลังห้อง

            ทุกปีสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) จะดำเนินการสรรหาและพิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เข้ารับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ เพื่อการเชิดชูเกียรติ เป็นกำลังใจ เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนอื่นๆ


            อาจารย์กอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ หรือครูบวบ ของเด็กๆ โรงเรียนนทรีวิทยา คือเยาวชนดีเด่นสาขาการศึกษาและวิชาการ ประจำปี พ.ศ. 2553 ที่แม้จะเริ่มต้นอาชีพครูวิชาวิทยาศาสตร์ได้เพียง 2-3 ปี ทว่าได้ใช้ประสบการณ์หลายๆ ด้านตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมมาพัฒนานวัตกรรมการสอนของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพ

            “ผมได้รางวัลเยาวชนแห่งชาติตอนที่อายุ 25 ปีพอดี ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของเกณฑ์การพิจารณารางวัล ปีก่อนๆ ก็มีการเสนอชื่อแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผมก็มุ่งมั่นทำหน้าที่ของเราต่อ เพราะรางวัลเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยการันตีความรู้ความสามารถและเป็นเกียรติให้กับตัวเรา

             เหนือรางวัลคือความดีที่เราได้ทำและสังคมได้รับผลเหล่านั้น สมัยเป็นนักเรียนผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง เลยรู้สึกว่าถ้าได้เรียนแบบนั้นแบบนี้ ครูมีสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ น่าจะช่วยเราได้ นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเป็นครู แล้วนำประสบการณ์ทั้งหมดมาปรับให้กับบุคลิกและวิธีการสอนของเรา จนกลายเป็นครูแนวใหม่ที่มีการจัดการเรียนการสอนที่สนุกสนาน ช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้นผ่านนวัตกรรมที่ทันสมัย”  

               อาชีพครูเปรียบได้กับพ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ของชาติ ฉันใดก็ฉันนั้น ความสำเร็จของลูกศิษย์มักสะท้อนประสิทธิภาพของครู ในอีกมิติหนึ่ง ครูคือผู้ให้ทั้งสรรพวิชาความรู้และจริยธรรมนำชีวิต ซึ่งจะเป็นเมล็ดพันธุ์ความดีที่ค่อยๆ เจริญงอกงามในจิตใจของเด็กๆ

             “เมื่อก่อนเราเคยคิดว่า ครูคือเรือจ้างพานักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนกับการปิดทองหลังพระ ครูคนหนึ่งคิดค้นหาวิธีการสอน เตรียมบทเรียน ทำงานหนักเพื่อจะช่วยให้ลูกศิษย์ของเราเก่ง ดี และมีความสุข บางคนอาจมองเห็นแต่บางคนก็มองไม่เห็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวครูเองคือความสุข และคุณค่าของความเป็นครู

            แม้ว่าจะเป็นครูมาไม่กี่ปี แต่กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องปิดทองหลังพระคือสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอด เมื่อความสำเร็จในชีวิตและการศึกษาของนักเรียนเป็นที่ประจักษ์ ก็เป็นการยืนยันได้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้นมีส่วนสำคัญมากแค่ไหน”    

             มากกว่ารางวัลทางสังคมคือรางวัลชีวิต การได้แบ่งปันและส่งต่อความรู้ที่ตนเองได้สร้างสรรค์ให้กับเพื่อนร่วมอาชีพเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของอาจารย์กอบวิทย์

         “ผมได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง แบ่งปันให้เพื่อนครูท่านอื่นๆ ได้นำไปใช้กับตนเอง ผ่านการเป็นวิทยากรฝึกอบรมของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าหากผมเก็บสิ่งที่ผมค้นคว้าทุ่มเทเอาไว้สอนเฉพาะลูกศิษย์ของผม ก็จะมีคนได้รับความรู้เหล่านี้ไปเพียง 50-60 คนต่อปีเท่านั้น แต่ถ้าได้บอกต่อให้ครูอีก 100-200 คน ก็จะมีนักเรียนอีกหลายร้อยหลายพันคนได้รับความรู้เหล่านี้ต่อไป” 

 

 

ปิดทองหลังดนตรี

             คนไทยมักมีความเชื่อว่า “ดนตรีคลาสสิคเป็นเรื่องที่ต้องปีนบันไดฟัง” นั่นเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยและการขาดพื้นความรู้ในดนตรีคลาสสิค น้อยคนจะรู้ว่าเยาวชนไทยกลุ่มหนึ่งในนาม วงสยามซินโฟนิเอตต้า (Siam Sinfonietta) สามารถสร้างชื่อเสียงระดับโลกด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันดนตรีคลาสสิคที่มีเกียรติสูงสุดในโลกได้แก่ Summa Cum Laude 2555 ณ หอดนตรีทองแห่งกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ความสำเร็จและความสามารถของเยาวชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้อาจทำให้คนไทยหรือชาวต่างชาติตาสว่าง ว่าแท้จริงแล้วดนตรีคลาสสิคคือประตูที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่ว่ารักที่จะเล่นหรือรักที่จะฟัง

              ผู้ช่วยหัวหน้าวง Siam Sinfonietta วัย 17 ปี ท็อป-ธนายุส จันทร์สิริวรกุล นักไวโอลินดีกรีรางวัลจากการแข่งขันระดับนานาชาติ เขาเป็นนักเรียนทุนการศึกษาด้านดนตรีของโรงเรียนนานาชาติแฮร์โรว์

             “ผมเริ่มเล่นไวโอลินตั้งแต่ 5-6 ขวบ ซึ่งตามประสาเด็กๆ ก็จะดื้อและไม่สนใจจริงจังจนต้องเลิกไปทั้งที่คุณพ่อพยายามทุกอย่าง พออายุ 11 ขวบได้เปิดยูทูปดูคลิปวิดีโอของนักไวโอลินเก่งๆ แล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากเล่นขึ้นมาอีกครั้งและตัดสินใจเรียนอย่างจริงจัง จนเริ่มประกวดได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาบ้าง

อ.สมเถา สุจริตกุล ผู้ก่อตั้งวงสยามซินโฟนิเอตต้า
 

               เมื่ออาจารย์สมเถา สุจริตกุล มีความคิดที่จะตั้งวงสยามซินโฟนิเอตต้า ผมได้รับเลือกเป็นสมาชิกคนแรกๆ ของวง ธรรมชาติของดนตรีและนักดนตรีคือเราต้องซ้อมตลอด เพราะดนตรีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้ว่าจะอายุ 60-70 ปี เก่งแล้วหรือมีฝีมือระดับโลกอยู่ในจุดสูงสุด ทุกคนก็ยังต้องซ้อม เหมือนกับว่าเราเป็นนักกีฬา ต้องซ้อมจนเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา”

ไม่มีชัยชนะใดที่ได้มาโดยง่าย เบื้องหลังของผู้ชนะย่อมเต็มไปด้วยความกดดัน จิตใจที่แข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
 

            “บรรยากาศตอนแข่งขัน ทุกคนตั้งใจเต็มที่และตื่นเต้นมาก แม้หลายๆ สิ่งจะไม่ราบรื่นแต่เราก็ต้องกระตือรือร้น สำหรับสถานที่ที่เราไปแข่งขันคือหอดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก เป็นบ้านของวงออเครสตร้าที่ดีที่สุดในโลก การแข่งขันไม่มีรอบ คือแข่งครั้งเดียวจบเลย เราต้องเล่นเพลงโหมโรงหรือ overture หนึ่งเพลงบังคับ และเลือกเพลงอื่นๆ มาแข่งขัน เราเลือก Purgatorio จากซิมโฟนีหมายเลข 10 ของ กุสตาฟ มาห์เลอร์ ที่อาจารย์สมเถา นำมาเรียบเรียงใหม่ เพลง Eternity ที่ประพันธ์โดยคุณทฤษฎี ณ พัทลุง และเพลง Burmese March ของอาจารย์สมเถาเอง
 

          ซึ่งการเล่นเพลงของมาร์เลอร์ในเวียนนาคือสิ่งที่ท้าทายที่สุด เพราะเขาเป็นชาวออสเตรีย แต่เราก็สามารถทำให้ฝรั่งยอมรับและปรบมืออย่างกึกก้องเป็นการให้เกียรติ ซึ่งคู่แข่งของเราเป็นวงเยาวชนระดับโลกทั้งสิ้น เราอาจจะเป็นม้านอกสายตาในตอนแรก แต่พอแข่งขันเสร็จแล้วเรากลายเป็นวงที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด


วันนี้ “สยามซินโฟนิเอตต้า” ภูมิใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติและเชื้อเชิญให้คนไทยใกล้ชิดกับดนตรีคลาสสิคมากขึ้น “เราเริ่มต้นตั้งแต่เขียนใบสมัครส่งไปเอง และเดินทางไปแข่งขันกันเอง ทำให้ดีที่สุด และก็ได้ชัยชนะกลับมา ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนไทยทุกคนจะต้องรู้จักเรา แต่ก็จะทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งคนก็จะรู้จักเราเอง แม้ตอนนี้ดนตรีคลาสสิคจะมีคนรู้จักน้อยมากๆ แต่ผมก็หวังว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า บ้านเราจะรู้จักดนตรีคลาสสิคกันมากขึ้น”

 

ที่มา : นิตยสารปลูก