พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 33.5K views



         พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (Major General H.R.H. Prince Wan Waithyakon. Kromamun Naradhip Bongsprabandh) (25 สิงหาคม พ.ศ. 2434 - 5 กันยายน พ.ศ. 2519)

อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสมัชชาองค์การสหประชาชาติ และอดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน รวมถึงเป็นผู้ร่วมสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พระปรีชาสามารถในด้านการทูตและการต่างประเทศเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และทรงมีชื่อเสียงการบัญญัติศัพท์ในภาษาไทย ทั้งยังทรงเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศด้วยคำบาลีและสันสกฤต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2519 สิริพระชันษา 85 ปี

 

พระประวัติและการศึกษา

          พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ หรือ พระองค์วรรณ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และ หม่อมหลวงต่วนศรี (มนตรีกุล) วรวรรณ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร

         ทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชวิทยาลัยสมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จากนั้น ย้ายไปเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย1ปี  ต่อมาเมื่อ โรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยสายสาวลี เปิดทำการจึงย้ายมาศึกษาต่อ และสอบได้ทุน King's scholarship ได้เดินทางไปศึกษาต่อยัง ประเทศอังกฤษ โดยเข้าอยู่ประจำที่ 'วิทยาลัยแบเลียล' (Balliol College) มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในระดับเกียรตินิยมและปริญญาโท จากคณะบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) สาขา ภาษาบาลี และ สันสกฤต ที่สถาบันตะวันออก ของ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ท่านจึงมีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ กระทั่งเป็นผู้วางกฎ เกณฑ์การบัญญัติศัพท์โดยใช้คำบาลีและสันสกฤตให้ราชบัณฑิตยสถาน และใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้

มีคำศัพท์มากมายที่ทรงบัญญัติและยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น

  • อัตโนมัติ (Automatic)

  • รัฐธรรมนูญ (Constitution)

  • ประชาธิปไตย (democracy)

  • โทรทัศน์ (television)

  • วิทยุ (radio)

 

ผลงานอันเป็นคุณค่าของแผ่นดิน

 

ทรงเป็นนักการทูต - นักหนังสือพิมพ์ - นักปรัชญา - นักประวัติศาสตร์ - นักภาษาศาสตร์ - นักประพันธ์ 

 

นักการทูตที่ยิ่งใหญ่

       กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นนักการทูตที่ยิ่งใหญ่ และมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการทูตและการต่างประเทศมาเกือบตลอดพระชนม์ชีพ กระทั่งได้รับการยกย่องจากเวทีทางการทูตโลกให้ดำรงตำแหน่งประธานในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

        ทรงเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้นั่งเก้าอี้อันทรงเกียรติจวบจนถึงปัจจุบันพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง และในต่างประเทศทรงได้รับการยกย่องเป็น "ดวงปัญญาแห่งภาคพื้นตะวันออก"

       ในความเป็นอัจฉริยะ เป็นปราชญ์ในวิชาการหลาย ๆ ด้าน ไม่เฉพาะเป็นนักการทูตชั้นเอก ยังทรงเชี่ยวชาญในด้านการบริการ ด้านภาษาศาสตร์ ทรงบัญญัติศัพท์ ทรงปรีชาสามารถในการถอดรหัสคำจากภาษาต่างประเทศเป็นคำไทยได้อย่างลงตัวจนเป็นที่ยอมรับและใช้กันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

         ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจโดยไม่เคยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนพระองค์แต่ประการใด หากมีปัญหาก็ทรงหาทางแก้ไข หรือไกล่เกลี่ย หรือถ้ามีผู้โจมตีกล่าวหาใส่ร้าย ท่านจะไม่ทรงโต้ตอบ นี่คือคุณลักษณะที่ได้รับยกย่องและกล่าวขวัญถึงมากที่สุด   

       ทรงอ้างแนวทางการทูตของ Sir Ernest Satow เป็นหลักในการปฏิบัติงานมาโดยตลอดว่า

"การทูตเป็นการใช้เชาวน์และความแนบเนียน ในการดำเนินความสัมพันธ์ทางราชการระหว่างประเทศ"

          ทรงแนะนำว่า ความแนบเนียน หรือ "แทกต์" นั่นหมายความว่า การเข้าคนได้สนิท ต้องผูกมิตร รู้จักนิสัยใจคอของนักการทูตจากประเทศอื่น ๆ ที่ติดต่อเจรจากันอยู่  

 

            ด้วยแนวคิดและวิธีการที่แนบเนียน และทรงใช้จิตวิทยาแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามยอมทำตามข้อเรียกร้องแบบไม่รู้สึกเสียผลประโยชน์และเสียหน้า  ยกตัวอย่าง การเจรจาอนุสัญญาอินโดจีน พ.ศ. 2469 มูลเหตุความขัดแย้ง แม่น้ำโขงŽ เป็นครั้งแรกที่ทรงเป็นผู้เจรจาต่อรองโดยตรงในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

           การเจรจาครั้งนั้นสามารถเปลี่ยนแนวทางการเจรจาจาก "แม่น้ำระหว่างประเทศ" เป็น "แม่น้ำแบ่งเขตแดน" ได้ โดยการพิจารณาทางจิตวิทยาฝ่ายตรงข้าม ทำให้ฝรั่งเศสที่เคยจะฮุบแม่น้ำโขงทั้งหมด ยอมใช้การแบ่งเขตโดยยึดเกาะกลางแม่น้ำและร่องน้ำลึกแทน

"นักการทูตควรพัฒนาไมตรีจิตก่อน จากนั้นความเข้าใจอันดีจะตามมา

ปัญหาของความสำเร็จอยู่ที่ความเข้าใจในปัญหา"

        แนวทางการทูตที่เฉียบแหลมเยี่ยงนี้ สมควรที่นักการทูตไทยควรจดจำไปเป็นเยี่ยงอย่าง เนื่องจากทรงได้รับยกย่องมาโดยตลอดว่า ทรงเป็นนักประนีประนอมที่สามารถแก้ไขภาวะชะงักงันในการประชุม และนำความสำเร็จมาสู่การเจรจา ทรงรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย โดยไม่ได้ขัดต่อหลักการ "หารร่วมมาก" เป็นสูตรแสวงหาแนวทางร่วมกันให้ได้มากที่สุดเมื่อมีการขัดกันอยู่ อันจะทำให้ปรองดองง่ายขึ้น   คุณลักษณะประนีประนอมของพระองค์ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุกรัฐบาลไว้วางใจพระองค์

 

 

นักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่อง

           ทรงทำหนังสือพิมพ์ ใช้ชื่อว่าประชาชาติŽ นิพนธ์เกี่ยวกับสถาน การณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทรงใช้ชื่อหัวเรื่องว่า  ไขข่าวŽ โดย ไววรรณŽ  ทรงมีเวลานิพนธ์เรื่องราวต่าง ๆ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งมีหม่อมพร้อยสุพิณ (สกุลเดิมบุนนาค) ชายา เป็นประธานกรรมการของบริษัท และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติในขณะนั้น มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนหลานหลวง ใครที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สามารถหาข้อมูลย้อนหลังได้จากคอลัมน์ "ไขข่าว" ซึ่งหอสมุดแห่งชาติยังเก็บไว้เป็นอย่างดี เสด็จในกรมฯทรงนิพนธ์ไว้หลายฉบับทีเดียว

           นอกจากนี้เสด็จในกรมฯยังทรงเมตตานักหนังสือพิมพ์ไทย ทรงนัดนายโจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ใหนักหนังสือพิมพ์ไทยได้สัมภาษณ์ ในการประชุมระหว่างประเทศที่บันดุง อินโดนีเซีย ถือเป็นครั้งแรกของนักหนังสือพิมพ์ไทย

          พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เคยรับสั่งว่า

"นักหนังสือพิมพ์เป็นวิชาชีพหนึ่งซึ่งต้องใช้ความสามารถและความอดทนเป็นพิเศษ
จึงจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพนี้สำเร็จลุล่วงไปได้"

           พระองค์ได้รับการยอมรับจากคนในวงการหนังสือพิมพ์ให้เป็นปรมาจารย์ เพราะทรงเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักการทูต นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักประพันธ์ ทรงใช้ความรู้ ความวิริยะ อุตสาหะ และภูมิปัญญา ประกอบภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล

 

นักภาษาศาสตร์ - นักประพันธ์ - นายกคนแรกแห่งราชบัณฑิตย์ 

            ด้วยเหตุที่ทรงงานหนังสือพิมพ์ จึงเกิดแรงบันดาลใจในการบัญญัติศัพท์เพื่อความเจริญก้าวหน้าของภาษาไทยและมีคำศัพท์เทคนิค ศัพท์เฉพาะทางมากขึ้น การจะนิพนธ์งานให้คนไทยเข้าใจจึงกลายเป็นความจำเป็นระดับประเทศ  

            วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2485 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง "ราชบัณฑิต" ขี้นเป็นครั้งแรก กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เป็นราชบัณฑิตหมายเลข 1 ทรงเป็นนายกราชบัณฑิตพระองค์แรก

        งานชิ้นแรกที่ทรงบุกเบิกและสร้างสรรค์คือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 และทรงบัญญัติศัพท์ภาษาไทยที่มีศัพท์เทคนิคเฉพาะวิชาเกิดขึ้นมากมาย 

           จึงนับว่าเสด็จในกรมฯทรงเป็นผู้จุดดวงประทีปงานบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานโดยแท้ ทรงกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องบัญญัติศัพท์ภาษาไทยคำใหม่ขึ้นใช้แทนศัพท์ภาษาอังกฤษ ว่า 

"ในการจะเข้าถึงประชาชนนั้น เราจะใช้คำอังกฤษซึ่งยังไม่ได้ซาบซึ้งเข้าไปในระบบความคิดของเรานั้นไม่ได้ ถ้าเราหาคำไทยได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าเราหาไม่ได้ก็หันหน้าเข้าหาคำบาลี-สันสกฤต.." 

           ทรงอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง คำว่า ระบอบŽ นำมาจากคำไทย 3 คำ คือ ระเบียบ ระบบ ระบอบ ส่วนคำว่า revolution ไทยเรามีคำผสมว่า "การพลิกแผ่นดิน" ซึ่งจะใช้แปลในความหมายอื่นลำบาก จึงคิดคำศัพท์ "ปฏิวัติ" โดยอาศัยหลักอย่างเดียวกัน

            นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงในรูปละมุนละม่อมยิ่งขึ้นคือคำว่า Reform เสนอว่าใช้ "ปฏิรูป" ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนัก เพราะคำว่าปฏิรูปในภาษาบาลีหมายความว่า ปลอมแปลง จึงต้องชี้แจงว่า "ปฏิรูปการี" ไม่ใช่ผู้ปลอมแปลง แต่เป็นผู้จัดการให้ถูกต้อง

            ไม่เพียงคิดค้นคำยังทรงคำนึงถึงเสียงและจังหวะที่ให้ความสำคัญมาก เช่น culture ได้ใช้รูปแบบของสันสกฤต "พฤติธรรม" แต่พอได้เขียนบทความอยู่ รูปบาลี "วัฒนธรรม" ก็มาดลใจให้ใช้คำนี้แทนจนติด  

           อย่างไรก็ตามพระองค์ย้ำเสมอว่า การคิดศัพท์ทำตามใจชอบผู้คิดศัพท์ไม่ได้ จะต้องมีความหมายทีต้องการ และยิ่งไปกว่านั้นจะต้องมีรูปอันเป็นที่ยอมรับแก่อัจฉริยลักษณ์ของภาษาอีกด้วย 

           มีพระดำรัสว่า

"ข้าพเจ้าใช้เวลา 14 ปี กว่าจะคิดคำว่า อุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply)"   

            นอกจากบัญญัติศัพท์แล้ว พระองค์ยังทรงชุบชีวิตศัพท์ตายแล้วให้ฟื้นกลับมาใช้ใหม่ เช่นคำว่า "ฯพณฯ ท่าน" และคำสุดท้ายที่ทรงบัญญัติก่อนสิ้นพระชนม์คือคำว่า "มลพิษ" เป็นงานที่พระองค์วรรณฯทรงทุ่มเทพระวรกายจวบจนวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ


         ผลงานด้านการบัญญัติศัพท์ที่มาจากต่างประเทศ ของพระองค์ อย่างเช่น

  • ทรงประทานคำศัพท์ในวงการหนังสือพิมพ์ที่ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน อาทิ 

    นิเทศศาสตร์ ที่ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Communication Arts,
    วารสารศาสตร์ ที่ตรงกับคำภาษาอังกฤษ Journalism,
    สื่อสารมวลชน ที่ตรงกับคำภาษาอังกฤษ Mass Communication ฯลฯ 
     
  • นอกจากนี้ ทรงบัญญัติภาษาต่างประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมากมาย อาทิ
    อัตโนมัติ จากคำว่า Automatic,
    รัฐธรรมนูญ จากคำว่า Constitution,
    ประชาธิปไตย จากคำว่า democracy,
    โทรทัศน์ จากคำว่า television,
    วิทยุ จากคำว่า radio ฯลฯ
     
  •  ในปี พ.ศ.2534 ได้รับยกย่องโดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ว่าเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก  

พระเกียรติคุณ

  • นายพลตรี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานยศทหาร และเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์และราชองครักษ์พิเศษ ในพ.ศ. 2496

  • ผู้มีผลงานดีเด่น ด้านวัฒนธรรมระดับโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศพระเกียรติคุณในฐานะปูชนียบุคคลสำคัญประจำปี พ.ศ. 2534

  • รางวัลนราธิป โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ในโอกาสสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก่อตั้งครบ 30 ปี และครบรอบ 100 ปีแห่งชาตะกาลของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มอบให้นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล และบรรณาธิการอาวุโสที่สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และผลงานเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวาง

  • ห้องประชุมวรรณไวทยากร โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ปรับปรุงตึกโดม ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่เป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และตั้งชื่อห้องประชุมที่ปรับปรุงใหม่เพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์ในปีพ.ศ. 2548

-----------------------------------------------------------

ภาพและเนื้อหาเรียบเรียงจาก 

  •  วิกิพีเดีย

  •  https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1314281817

  •  https://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314268207&grpid=no&catid=no

  •  https://www.taradplaza.com/product/1394485

  •  https://www.stampsac.com/product.php?ids=106