การใช้เครื่องหมายไม้ยมก
ในภาษาไทยเรามีเครื่องหมายอยู่อย่างหนึ่งที่มักเขียนผิดกันอยู่เป็นปรกติ โดยเฉพาะตามหนังสือเลขคณิตตั้งแต่ชั้นประถมถึงชั้นมัธยม และในที่ทั่ว ๆ ไป นั่นคือ เครื่องหมายยมกหรือไม้ยมก (ๆ)
ตามปรกติเครื่องหมาย “ยมก” หรือ “ไม้ยมก” นี้ ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือ ประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำ วลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง ความจริงก็เป็นเรื่องของการย่นเวลาในการเขียนนั่นเอง จะว่าเป็นเครื่องหมายแห่งการ “ประหยัด” หรือความ “ขี้เกียจ” อย่างหนึ่งก็คงได้ แต่เมื่อท่านได้กำหนดเครื่องหมายนี้ขึ้นมาแล้ว ท่านก็กำหนดวิธีใช้ไว้ด้วย เพียงแต่ในสมัยก่อน เราไม่ค่อยได้เผยแพร่ให้รู้กันทั่วไปอย่างแพร่หลายเท่านั้น จึงปรากฏว่าใช้กันไม่ค่อยถูก เช่น ข้อความว่า “สี่แยกปทุมวันวันนี้รถติดมาก” ก็มักจะเขียนกันเป็น “สี่แยกปทุมวัน ๆ นี้รถติดมาก” คำว่า “วัน” คำหลังใช้ไม้ยมกแทน อย่างนี้ใช้ไม่ได้ หรือโจทย์เลขในหนังสือเลขคณิตโดยทั่ว ๆ จะปรากฏข้อความเช่น “แบ่งเงินให้เด็ก ๕ คน ๆ ละ” ฯลฯ “คน” ตัวหลังก็ใช้ไม้ยมกแทน เป็นอย่างนี้แทบทุกเล่มเลย
เวลานี้ คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย แห่งราชบัณฑิตยสถาน ท่านได้ยกเรื่องการใช้เครื่องหมายวรรคตอนมาพิจารณาเป็นอันดับแรก โดยได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๕ เป็นเวลาเกือบ ๒ ปีครึ่งแล้ว ท่านมีความเห็นร่วมกันว่า ในภาษาไทยโดยทั่ว ๆ ไป ไม่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องหมายวรรคตอน เพราะเรามีเว้นวรรคเล็กวรรคใหญ่อยู่แล้ว แต่ในด้านวิทยาศาสตร์หรือกฎหมาย ถ้าไม่ใช้เครื่องหมายวรรคตอนเลย อาจทำให้ตีความผิดได้มากทีเดียว เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าหากจะใช้ ก็ควรใช้ให้ถูก เวลานี้ก็พิจารณาจบไปรอบหนึ่งแล้ว กำลังพิจารณารอบ ๒ อยู่ และขณะนี้ก็พิจารณารอบ ๒ จวนจะจบแล้ว
ในบรรดาเครื่องหมายเหล่านั้น มีเครื่องหมาย “ยมก” หรือ “ไม้ยมก” รวมอยู่ด้วย และท่านได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
“ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำ วลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง
ตัวอย่าง
เด็กเล็ก ๆ อ่านว่า เด็กเล็กเล็ก
ในวันหนึ่ง ๆ ” ในวันหนึ่งวันหนึ่ง
แต่ละวัน ๆ ” แต่ละวันแต่ละวัน
มีเสียงตะโกนว่า “ไฟไหม้ ๆ” ” มีเสียงตะโกนว่าไฟไหม้ ไฟไหม้
หมายเหตุ
๑. คำที่เป็นคำซ้ำ ต้องใช้ไม้ยมกเสมอ เช่น สีดำ ๆ เด็กตัวเล็ก ๆ
๒. ห้ามใช้ไม้ยมกในกรณีต่อไปนี้
๒.๑ เมื่อเป็นคำคนละบทคนละความ
ตัวอย่าง
“ฉันจะไปปทุมวัน ๆ นี้” ผิด ต้องเขียนเป็น “ฉันจะไปปทุมวันวันนี้”
“เขาเคยมาทุกวัน ๆ นี้ไม่มา” ผิด ต้องเขียนเป็น “เขาเคยมาทุกวันวันนี้ไม่มา”
“เขาซื้อหมู ๕ กิโล ๆ ละ ๔๐ บาท” ผิด ต้องเขียนเป็น
“เขาซื้อหมู ๕ กิโล กิโลละ ๔๐ บาท”
๒.๒ เมื่อรูปคำเดิมเป็นคำ ๒ พยางค์ ที่มีเสียงซ้ำกัน
ตัวอย่าง
นานา (ซึ่งเป็นคำบาลี) เช่น นานาชาติ นานาประการ
จะจะ (เป็นคำวิเศษณ์) เช่น เขียนจะจะ ดำนาจะจะ
๒.๓ เมื่อเป็นคำคนละชนิดกัน
ตัวอย่าง
คนคนนี้เป็นคนดี (คน คำหน้าเป็นคำนาม คน คำที่ ๒ เป็นลักษณนาม)
นอกจากนี้ก็เป็นพวกคำประพันธ์พวกกลบทต่าง ๆ บางทีท่านก็กำหนดให้ใช้ไม้ยมกแทนคำที่ออกเสียงซ้ำกัน.
ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๔๑๐.