สระลอย สระจม (๒)
คราวนี้ขอให้กลับไปดูภาพประกอบอีกครั้ง จะเห็นว่า ตัว ฤ ซึ่งอักษรเทวนาครีถือว่าเป็นสระนั้น ก็มีทั้งรูป "สระลอย" และ "สระจม" แต่เมื่อเข้ามาสู่ภาษาไทย ไทยกลับใช้เพียงรูปเดียว และสามารถใช้ได้ทั้งแบบ "ลอย" และ แบบ "จม" เช่นเดียวกับสระในภาษาอังกฤษ ดังเช่นที่ พระยาอุปกิตศิลปสารได้อธิบายไว้ว่า
"สระ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้เขียนโดดๆ ก็ได้ ประสมกับพยัญชนะก็ได้ เช่นเดียวกับสระอังกฤษ..."
ตัวอย่างคำในภาษาไทย ที่ใช้แบบสระลอย ก็มีเช่น
ฤทธิ์ [ริด] ฤกษ์ [เริก] ฤดี [รึดี] ฤๅษี [รือสี] ฦๅชา [ลือชา]
ตัวอย่างคำในภาษาไทย ที่ใช้แบบสระจม ก็มีเช่น
กฤษณ์ [กฺริด] คฤนถ์ [คฺรึน] ตฤณ [ตฺริน] ทฤษฎี [ทฺริดสะดี] ปฤจฉา [ปฺริดฉา] พฤษภาคม [พฺรึดสะพาคม] อังกฤษ [อังกฺริด]
ด้วยเหตุฉะนี้เอง พระยาอุปกิตศิลปสาร จึงเรียกสระทั้ง ๔ ตัวนี้ว่า "สระเกิน" เพราะมีเสียงซ้ำกับเสียง "รึ รือ ลึ ลือ"
อย่างไรก็ตาม ในตำราภาษาไทยที่ใช้หลักภาษาศาสตร์สมัยใหม่จะไม่ถือว่า "ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ" เป็นสระในภาษาไทย แต่ถือว่าเป็น "พยางค์" ดังเช่นที่ ศาสตรา ดร.คุณ บรรจบ พันธุเมธา ได้อธิบายไว้ในหนังสือ ลักษณะภาษาไทย ว่า
"...ถึงแม้ในภาษาสันสกฤตจะถือ ฤ เป็นเสียงสระ แต่ของเราถือว่าเป็น รึ ริ คือพยัญชนะ ร มากับสระ เมื่อมากับพยัญชนะต้น การออกเสียงเหมือน ร ทุกประการ ต่างกันก็ตรงที่ไม่ต้องเพิ่มเสียงสระอีก ฤ เป็นสระพยัญชนะอยู่ในตัวแล้ว..." ด้วยเหตุฉะนี้เอง ตำราภาษาไทยที่ถือตามแบบเก่าจึงกล่าวว่าสระไทยมี ๓๒ เสียง แต่ตำราแบบใหม่จะถือว่าสระไทยมี ๒๘ เสียง และบางเล่มก็อาจจะนับต่างออกไปจากนี้ก็ได้ ถ้าใช้หลักการพิจารณาต่างออกไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำราภาษาไทยที่ใช้สอนกันอยู่ในโรงเรียนยังยึดถือตามแบบเก่า แม้แต่โปสเตอร์ประกอบการสอนที่พิมพ์รูปสระพยัญชนะก็ยังใช้แบบเก่า แต่เมื่อมาเรียนภาษาไทยในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งใช้หลักการทางภาษาศาสตร์พิจารณา ผู้เรียนก็มักจะงง เพราะเคยชินกับการท่องจำ ไม่เคยใช้การวิเคราะห์ จึงพากันบ่นว่า "ภาษาไทยนี้ยากจริงหนอ"
แต่ถ้าเปลี่ยนจาก "ท่อง" มา "คิด" ได้เมื่อใด ผู้เรียนจะออกอุทานได้ทันทีว่า
"ภาษาไทยนี้ง่ายจริง ๆ "
ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน