สระลอย สระจม (๑)
โดยปกติเป็นคนที่ชอบท่อง (หมายความว่าท่องเที่ยว) Internet และอ่านกระทู้ตามเว็บไซต์ต่างๆ จึงได้ทั้ง "ความรู้" และ "ความไม่รู้" มาอย่างมากมาย แล้วก็ได้ตระหนักถึงนิสัยอย่างหนึ่งของคนไทยก็คือ "รู้หรือไม่รู้ ก็ขอให้ได้แสดงความเห็น" ซึ่งแสดงความรักประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง แต่สร้างปัญหาให้คนอ่าน เพราะไม่รู้อะไรจริงอะไรไม่จริง ดังเช่นกระทู้ภาษาไทยข้อหนึ่งที่มีผู้ถามว่า
"สระลอย กับ สระจม คืออะไร"
มีคนตอบว่า
"สระลอย ก็คือ สระที่ลอยๆ อยู่"
ยังดีที่เขาไม่อธิบายต่อไปว่า
"สระจม ก็คือ สระที่จมน้ำอยู่"
วันนี้ก็เลยต้องขอค้นคว้าเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังบ้าง
คำว่า "สระลอย" กับ "สระจม" นี้เป็นศัพท์ที่ใช้ในภาษาซึ่งใช้อักษรเทวนาครี เช่น สันสกฤต และ ฮินดี
ดร.จำลอง สารพัดนึก ได้อธิบายไว้ในหนังสือ ไวยากรณ์ฮินดี ๑ ว่า
"สระ มีจำนวนและรูปดังจะแสดงให้เห็นต่อไปนี้ สระตัวหนึ่งๆ มีสองชนิด คือ (๑) สระลอย ได้แก่สระที่มีความเป็นใหญ่ในตัวเองทั้งรูปและเสียง (๒) สระจม ได้แก่สระที่ใช้ผสมกับพยัญชนะ ซึ่งเปลี่ยนรูปต่างไปจากสระลอย แต่มีเสียงคงเดิม"
ขอให้สังเกตว่า "อ" ซึ่งออกเสียง "อะ" นั้น มีแต่รูป "สระลอย" ส่วน "สระจม" ไม่ปรากฏรูป เพราะฉะนั้น "ก กา กิ กี กุ กู" จึงอ่านว่า "กะ กา กิ กี กุ กู"
แต่ในภาษาไทยนั้น ใช้เพียงรูปเดียว ดังที่ พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้อธิบายไว้ในหนังสือ อักขรวิธี ว่า
"สระในภาษาไทยนั้นแปลกออกไปจากบาลีและสันสกฤตและภาษาอื่นๆ ที่ถ่ายแบบมาด้วยกัน คือ ภาษาเหล่านั้นมีรูปสระเป็น ๒ ชนิด ใช้เขียนโดดๆ ชนิดหนึ่ง ใช้ประสมกับพยัญชนะอีกชนิดหนึ่ง แต่ในภาษาไทยมีแต่รูปสระที่ใช้ประสมกับพยัญชนะอย่างเดียว เมื่อต้องการจะเขียนโดดๆ ก็เอาตัว "อ" ซึ่งจัดไว้ในพยัญชนะมาประสมเข้า ออกเสียงเช่นเดียวกับสระเปล่า เช่น อา, อู, เอ เป็นต้น เว้นแต่สระ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้เขียนโดดๆ ก็ได้ ประสมกับพยัญชนะก็ได้ เช่นเดียวกับสระอังกฤษ..."
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สระในภาษาไทยเป็น "สระจม" ทั้งหมด นั่นคือจะอยู่โดดๆ โดยไม่มีพยัญชนะให้เกาะไม่ได้ จึงต้องมี ตัว "อ" มาเป็นทุ่นให้เกาะ เช่น คำว่า "นอนนาน" กับ "นอนอ่าน" คำว่า "อ่าน" ต้องมี ตัว "อ" มาเป็นทุ่นให้สระอาเกาะ เพราะถ้าไม่มีพยัญชนะให้เกาะ จะกลายเป็น "นอน่าน"
ส่วนภาษาอังกฤษนั้นถือว่ามีทั้ง "สระลอย" และ "สระจม" ซึ่งใช้รูปเดียวกัน ไม่ต้องมีพยัญชนะมาให้เกาะ เช่น "a baby" ตัว "a" ตัวแรก คือ "สระลอย" ส่วนตัว "a" ที่เกาะตัว "b" อยู่คือ "สระจม"
โดยสรุปก็คือ
อักษรเทวนาครี มี "สระลอย" กับ "สระจม" ที่รูปต่างกัน
อักษรโรมัน มี "สระลอย" กับ "สระจม" ที่รูปเหมือนกัน
อักษรไทย มีแต่ "สระจม
ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน