การใช้คำว่า ล่ะ ละ, นะ น่ะ และ คะ ค่ะ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 226.5K views



ปัจจุบันการสื่อสารระหว่างบุคคลเริ่มมีการใช้คำผิดในรูปประโยคที่ผิด ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการสื่อสารทั้งพูด การเขียนสื่อสาร ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ การสื่อสารที่เข้าใจผิด งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่ามีคำใดบ้างที่เรามักจะใช้ผิดและคำเหล่านี้ควรจะใช้อย่างไรบ้าง

"ละ" เป็นคำที่ใช้ในประโยคบอกเล่า กร่อนเสียงมาจากคำว่า "แหละ"
เช่น เท่านั้นละ(แหละ),เอาอย่างนี้ละ(แหละ),ดีแล้วละ(แหละ)เป็นต้น

"ล่ะ" ใช้ในรูปประโยคคำถาม กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เล่า"
 เช่น จะไปไหนล่ะ(เล่า),  กินข้าวด้วยกันไหมล่ะ(เล่า),  ทีนี้จะทำอย่างไรกันดีล่ะ(เล่า)  เป็นต้น
 
 
"นะ" ประกอบคำเป็นเชิงอ้อนวอนหรือเสริมให้หนักแน่นขึ้น เช่น รอก่อนนะ, อย่าไปนะ, รักนะ ฯลฯ
"น่ะ" คำนี้ไม่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม เข้าใจว่าน่าจะกร่อนมาจากคำว่า "น่า" ในความหมายอ้อนวอน
เชื้อเชิญหรือชักชวน เช่น ลองดูหน่อยเถิดน่า, อย่าทำอย่างนี้เลยน่า ...ฯลฯ
 
 
"คะ" ใช้ต่อหลังประโยค คำถาม เช่น อย่างไรคะ, เท่าไรคะ, ทำไมคะ, ยังไงคะ, เปรี้ยวหรอคะ
และต่อหลังคำว่า "สิ" กับ "นะ" เช่น อย่างนั้นสิคะ, แบบนี้นะคะ
"ค่ะ" ใช้ต่อหลังประโยค คำตอบ เช่น ได้ค่ะ, ไม่ค่ะ, แน่นอนค่ะ, สุดยอดค่ะ
และต่อหลังประโยค บอกเล่า เช่น หนูเป็นนักเรียนค่ะ 
ทิ้งท้ายด้วยคำผิดที่เจอบ่อยที่สุด "นะค่ะ"

ที่มา : planetpt.blogpost.com