สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 28.3K views



 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา) และ ทรงเป็นสมเด็จพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ก็นับเป็นพระกุลเชษฐ์โดยพระชนมายุ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์ และ การสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่น ๆ ทั้งนี้พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ด้านการกีฬา และ ด้านการถ่ายภาพ

พระองค์ทรงมีพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี (ท้อง) และได้เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 02.54 น. สิริพระชนมายุ 84 พรรษา

พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์,
หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (พระยศในขณะนั้น)

พระประสูติกาล

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามแรกประสูติตามที่โรงพยาบาลตั้งถวายคือ เมย์ สงขลา (อังกฤษ: May Songkla) ซึ่งเป็นเดือนที่พระองค์ประสูติ

ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล (คำว่า "วัฒนา" ในพระนาม ทรงตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นการลำลองว่า บี๋

 


สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

การศึกษา

ปลายปี พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จพร้อมด้วยครอบครัวมหิดลไปยังนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงศึกษาด้านจิตวิทยา การทำอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยซิมมอนส์ ด้านสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ก (Park School) หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์แล้ว พ.ศ. 2471ทรงนำครอบครัวกลับประเทศไทย และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี

ภายหลังสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน รัฐโว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้าศึกษาที่ชองโซเลยอีกครั้งเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงทรงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) จนจบระดับประถมศึกษา หลังจากนั้นสมเด็จพระราชชนนีได้ย้ายไปประทับที่เมืองปุยยีซึ่งอยู่ติดกับโลซาน โดยพระราชทานนามสถานที่ประทับว่า “วิลล่าวัฒนา ” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีชื่อ École Supérieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ณ ที่นั้น พระองค์ได้ทรงศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินด้วย ต่อมาทรงย้ายมาเรียนที่ International School of Geneva ณ กรุงเจนีวา ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาเป็นที่ 1 ของโรงเรียน และที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลังจากนั้น พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาเคมีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ในระหว่างนั้น พระองค์ก็ทรงศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ Diplôme de Sciences Sociales Pédagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยาด้วย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาเคมีซึ่งพระองค์ทรงได้รับ Diplôme de Chimiste A พระองค์ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงฉายพร้อมท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดา
และ ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม พระนัดดา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชโสทรเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงประกาศเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงฉายภาพร่วมกับพันเอกอร่าม และพระธิดา

ทรงอภิเษกสมรส

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ เพื่อสมรสกับพันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2487 พระองค์มีพระธิดา คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (สมรสกับนายสินธู ศรสงคราม มีบุตรชาย คือ ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงว่า พระพี่นางกัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทและทรงมีอุปการคุณแด่พระองค์ ดังนั้น จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระเจ้าพี่นางกัลยาณิวัฒนา กลับทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตามเดิมทุกประการ

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2512 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเสกสมรสอีกครั้งกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยและหม่อมระวี ไกยานนท์

ทรงกรม

ในวโรกาสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 2 พระองค์ ด้วยทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มาโดยลำดับ รวมทั้งทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทยทั่วไปจึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งนับเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์แรกในรัชกาลโดยมีการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง

พระนามกรม "กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" นั้น เป็นพระนามตามนามเมืองในภาคใต้ สืบเนื่องมาจากการที่พระราชโอรสและพระราชธิดาที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ล้วนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ทรงกรมตามนามเมืองทางภาคใต้ทั้งสิ้น

พระกรณียกิจ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่น ๆ

ด้านการศึกษา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และเยาวชนจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นอเนกประการทั้งในด้านการศึกษา สังคมสงเคราะห์ และสาธารณสุขจนเป็นที่ประจักษ์ชัดในวงการศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน 10 กว่าแห่งและองค์การระหว่างประเทศจึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณแด่พระองค์ และทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ รัฐบาลฝรั่งเศสและองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) 

ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในปี พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ และทรงมีพระเมตตาพระราชทานเงินจากทุนการกุศลสมเด็จย่าและทุนการศึกษา กว. เพื่อสมทบเข้ากองทุนเป็นประจำทุกปีเสมอมามิได้ขาด สำหรับอาจารย์แพทย์ไปศึกษาฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาจัดสรรให้นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขัดสน สำหรับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษา 5 คณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทยศาสตร์

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์ประจำนานถึง 8 ปี โดยทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศเอง และทรงเป็นผู้ดูแลและจัดทำหลักสูตรการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม โดยทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2521

ทั้งยังทรงสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ถึงปัจจุบัน โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือ ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอนการแข่งขัน พระราชทานกำลังใจ และทรงแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากการแข่งขันในทุก ๆ ครั้ง ทรงเป็นองค์พระอุปถัมภ์ "มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" (สอวน.)ทำให้บรรดาเยาวชนไทยได้ค้นพบตัวเองและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยติดต่อกันมายาวนานหลายปี ตั้งแต่ปีแรกที่มีการส่งเยาวชนร่วมแข่งขัน 

ด้านการสังคมสงเคราะห์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงอุทิศพระวรกายในการพัฒนาท้องถิ่นชนบทและการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงตระหนักถึงปัญหาชุมชนแออัด จึงเสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพมหานครเป็นการส่วนพระองค์ ได้แก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนวัดพระยายัง ชุมชนย่านสวนลุมพินี ชุมชนกองขยะซอยอ่อนนุช ชุมชนเพชรเกษม 104 เป็นต้น ทรงห่วงใยเด็กและครอบครัวในชุมชนแออัด โดยทรงรับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมให้อยู่ในพระอุปถัมภ์  มีผลให้เกิดโครงการพัฒนาเด็กเพิ่มขึ้นหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาเด็กในชุมชนและโครงการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับแม่และเด็ก กองทุนนมและอาหารเสริม และกองทุนงบฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้ในชุมชนแออัดให้พ้นสภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนั้นยังช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอัคคีภัย อุบัติภัย และภัยจากเคมี 

ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรด้านสังคม ได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิพัฒนาเยาวสตรีภาคเหนือ มูลนิธิชีวิตพัฒนา มูลนิธิโลกสีเขียว สโมสรโรตารีกรุงเทพ-บางลำพู เป็นต้น

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

พระองค์ทรงเป็นประธานของมูลนิธิต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) หรือ หมอกระเป๋าเขียว รวมทั้งมูลนิธิโรคไต และทรงเป็นประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล

ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีซึ่งทรงร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก่อตั้งขึ้นมา โดยทรงลงพระนามขอจดทะเบียนด้วยพระองค์เอง และพระราชทานพระราชทรัพย์ประเดิมร่วมกับที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานในการก่อตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อจัดทำขาเทียมและพระราชทานแก่ผู้พิการขาขาดผู้ยากไร้ในชนบทโดยไม่คิดมูลค่า และค้นคว้า วิจัย พัฒนาชิ้นส่วนขาเทียมจากวัสดุภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ อันเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในประเทศและลดมูลค่าการขาดดุลการค้าลงด้วย

ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิถันยรักษ์ในพระบรมราชูประถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกด้วย 

นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับมูลนิธิและกองทุนการกุศลต่าง ๆ ทางด้านสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเพื่อพัฒนาการพยาบาล ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูล มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน

ท่านยังทรงมีพระเมตตาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 คน ตามเสด็จไปออกหน่วยเคลื่อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เมื่อปี 2545 โดยทรงพระกรุณาให้กลุ่มสัตวแพทย์มีหน้าที่ในการดูแลการเลี้ยงสัตว์และปัญหาโรคสัตว์ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พะเยา และพิษณุโลก

ด้านการต่างประเทศ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เสด็จเยือนต่างประเทศทั้งตามคำกราบทูลเชิญเสด็จอย่างเป็นทางการและเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่ทรงแนะนำให้ชาวไทยรู้จักประเทศในแง่มุมต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ด้วย โดยทรงศึกษาข้อมูล ศิลปวัฒนธรรมของประเทศที่จะเสด็จเยือน รวมถึงเรื่องข่าวสารเสด็จเยือนต่างประเทศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศนั้นกับผู้จัดทำ อีกทั้งทรงตรวจแก้บทโทรทัศน์ด้วยพระองค์เองก่อนการเสนอข่าวทุกครั้งเพื่อความถูกต้อง

ด้านการศาสนา

พระกรณียกิจสำคัญด้านพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมัน ฉบับแรกของโลก ทั้งยังทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้งและองค์ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน เพื่อพระราชทานแด่นานาประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ (วัดเขาโคกเผ่น) เป็นวัดในพระองค์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550 วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ตั้งอยู่ที่บ้านเขาโคกเผ่น ตำบลทำนบอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ทรงมีพระกรุณาคุณบริจาคทุนทรัพย์ร่วมทำบุญพื้นที่สร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาที่วัดแห่งนี้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2549 และทรงรับเป็นประธานงานสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นการทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 

นอกจากนี้ ยังทรงเจริญพระศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพระกรุณาเสด็จไปในการพระราชกุศลตามคำกราบทูลเชิญอยู่มิเคยขาด โดยมิได้ทรงเลือกว่าเป็นวัดที่ใหญ่โตหรือวัดเล็ก มีหรือไม่มีชื่อเสียงแต่ประการใด แม้แต่วัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารก็ตาม 

ด้านศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงส่งเสริมงานแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรีคลาสสิก ละครอุปรากร ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานแสดงประจำปีและวงดนตรี เช่น วงดุริยางค์เยาวชนไทย และเมื่อครั้งวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา แม้ว่าจะทรงมีอาการประชวรแต่ก็เสด็จชมการแสดง "คอนเสิร์ตพระกรุณาธิคุณทุนดนตรีคลาสสิก แสงหนึ่งคือรุ้งงาม" โดย 19 นักเรียนทุนดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมการทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550  การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ถือว่าเป็นการรวมตัวครั้งแรกของนักเรียนทุนดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาที่ได้รับพระราชทานความเมตตาสนับสนุนทุนในการศึกษาดนตรี โดยทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่เปรียบมิได้ที่ทรงช่วยเหลือส่งเสริมนักดนตรีคลาสสิกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

พระองค์ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสด็จทอดพระเนตรการแสดงในหลายโอกาส ทั้งได้พระราชทานชื่อโรงละครโจหลุยส์ว่า “นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก” และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ "มูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็กฯ"  อันประกอบด้วยโรงละครและนักแสดงที่สืบทอดปณิธานการแสดงหุ่นละครเล็กจากศิลปินแห่งชาติครูสาคร ยังเขียวสด ซึ่งคณะละครโจหลุยส์ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานพิธีเปิดโรงละครที่สวนลุมไนท์บาซาร์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2545

พระอัจฉริยภาพ

พระอัจฉริยภาพด้านพระนิพนธ์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ได้ทรงริเริ่มออกวารสาร "รื่นรมย์" โดยได้ชักชวนให้พระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่องตั้งแต่พระชนมายุประมาณ 9 ชันษา ทรงทำหน้าที่บรรณาธิการและทรงเขียนบทความลงวารสารด้วย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนับสนุนให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงอ่านนิทานภาษาอังกฤษและเรียบเรียงเรื่อง "นิทานสำหรับเด็ก" ซึ่งต่อมาได้จัดพิมพ์แจกในงานวันประสูติของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2475 

พระนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง เช่น เวลาเป็นของมีค่า แม่เล่าให้ฟัง เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ มหามงกุฎราชสันตติวงศ์ และพระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยวเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จประพาส ได้แก่ ยูนนาน ที่ไซบีเรียหนาวไหม จีนตะวันออก ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เข้าวัด จีนอีสานและเสฉวน จากแดนแมนจูสู่ภูง่อไบ๊ เป็นต้น

 พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพลังแห่งการสร้างสรรค์ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงสนพระทัยและทรงเล่นกีฬาหลายประเภท อาทิ เล่นสกี กรรเชียงเรือ ตกปลา ขี่จักรยาน เดินภูเขา และทรงม้าผาดโผน ส่วนแบดมินตันนั้น ได้ทรงเล่นตามอย่างสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากทรงร่วมเล่นแล้ว ยังทรงสนับสนุนนักแบดมินตันหลายคนให้เข้าแข่งขันระดับนานาชาติ อีกทั้งยังทรงสนพระทัยเรื่องการขับรถยนต์ เครื่องยนต์กลไก และรถสามล้อ 

ทรงมีพระปรีชาสามารถในการขับเครื่องบินปีก 2 ชั้น และทรงขับเฮลิคอปเตอร์ได้อีกด้วย โดยทรงเรียนการบินเป็นนักบินหญิงอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย 

 พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสนพระทัยในการถ่ายภาพอย่างจริงจัง ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้การใช้กล้องบันทึกภาพ ซึ่งมิใช่เพียงเพื่อเก็บภาพไว้ดูเล่นเท่านั้น แต่ทรงบันทึกภาพโดยมีจุดประสงค์ทั้งในแง่ศิลปะและวิชาการ ไม่ว่าจะเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงบันทึกภาพที่สนพระทัยด้วยพระองค์เองเสมอ ภาพที่ทรงบันทึกไว้จะเป็นประโยชน์เมื่อทรงจัดทำพระนิพนธ์ในภายหลัง แม้แต่การบันทึกภาพด้วยวีดิทัศน์ของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ในการทำข่าวเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ก็จะพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้บันทึกภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์และมีความหมายสอดคล้องกับคำบรรยาย

การเทิดพระเกียรติ

ปูพระพี่นาง

ปูพระพี่นาง เป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกมีสีสันที่สวยงาม โดยกระดองมีสีแดงเลือดนก ขอบของกระดอง ขอบเบ้าตา และริมฝีปากเป็นสีแดงส้ม ขาเดินทั้ง 4 คู่ เป็นสีแดงเลือดนก ยกเว้นตรงปลายประมาณ 1 ใน 3 ของก้ามหนีบทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว กระดองขนาดกว้างประมาณ 4.6 เซนติเมตร ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยนายมงคล วงศ์กาฬสินธุ์ นักวาดรูปนก ณ ตำบลท่าแฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี และได้รับการตรวจสอบสายพันธุ์โดยศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือกราบทูลขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นชื่อไทยของปูชนิดใหม่นี้ว่า ปูพระพี่นาง”  เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอเนกอนันต์   ปูพระพี่นาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Potamon galyaniae และมีชื่อสามัญว่า Crimson Crab  

ดอกแก้วกัลยา

ดอกแก้วกัลยาเป็นดอกไม้ในจินตนาการ มาจากดอกไม้ 2 ชนิดตระกูลดอกแก้ว คือ ดอกแก้วเจ้าจอม และดอกแก้ว 

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดอกไม้ประดิษฐ์ซึ่งประดิษฐ์โดยคนพิการในศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า "ดอกแก้วกัลยา" พร้อมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้เป็นดอกไม้แห่งสัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนพิการและองค์กรของคนพิการ ทรงมีพระดำรัสให้ฝึกอบรมอาชีพคนพิการเพื่อประดิษฐ์ดอกแก้วกัลยา รวมทั้งจัดจำหน่ายเพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพคนพิการในองค์กรคนพิการทั่วประเทศ ดอกแก้วกัลยามีลักษณะผสมผสานของระหว่างดอกของแก้วเจ้าจอมที่เป็นดอกไม้สีม่วงคราม สวยสง่าแต่อ่อนหวาน กับดอกแก้วที่เป็นดอกไม้สีขาว มีกลิ่นหอม

 
พระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สิ้นพระชนม์

พระองค์ทรงมีพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี (ท้อง) และได้เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 02.54 น. สิริพระชนมายุ 84 พรรษา