เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
อยู่-กับ-น้ำ
“S HOUSING” คือแนวความคิดที่สามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมอันดับที่ 3 ผลงานของ น๊อต-สิทธนา พงษ์กิจการุณ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากการประกวด Experimental Design 2012 "F-L-U-D" Prize Winners (Future Living for Unstable Delta อยู่-กับ-น้ำ) จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นการประกวดที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบทุกสาขาจากทั่วโลกออกแบบแนวความคิดในการใช้ชีวิตในอนาคต
สถานการณ์สร้างแรงบันดาลใจ
ภาพสะพานไม้จากหน้าปกนิตยสารกลายเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบแนวความคิด และสานต่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายใต้โจทย์ “อยู่-กับ-น้ำ” “แนวคิดมีสองส่วนด้วยกัน คือส่วนที่เกิดช่วงระหว่างน้ำท่วมครับ คนทั่วไปมีความต้องการกลับเข้าบ้าน แต่เข้าถึงบ้านตัวเองยากมาก กับอีกส่วนหนึ่งคือหลังน้ำท่วมไปแล้ว เมื่อน้ำแห้งก็ทำให้ผนังบ้านเกิดความเสียหาย ตัวสถาปัตยกรรมก็เสียหาย จึงนำสองแนวคิดมารวมกัน” เจ้าของแนวความคิดเปิดเผย
ขั้นตอนประมวลแนวคิด
“หลังจากนั้นผมก็เลือกเครื่องมือว่าเราจะสามารถใช้อะไรกับสองแนวคิดนี้ได้บ้าง ก็คิดว่าระบบสำเร็จรูปน่าจะเป็นคำตอบ คือก่อสร้างสำเร็จรูปหรือว่าระบบพิกัด ก็เอามาใช้ และออกแบบให้สามารถแยกเป็นชิ้นส่วนได้ เพื่อให้คนทั่วไปขนย้ายเองได้ เหมือนกับข้าวของที่เขาสามารถเก็บขนย้ายเองได้ด้วย” “น็อต” พูดถึงลักษณะเด่นของแนวคิดส่วนแรก
สำหรับประเด็นเรื่องความเสียหายด้านสถาปัตยกรรมหลังน้ำท่วม เขาเลือกใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ “ถ้าเกิดน้ำท่วม แล้วจะขนย้ายชิ้นส่วนไปไว้ที่ไหน ผมเลยคิดต่อว่าถ้าเราทำหลังคาให้ปรับเปลี่ยนเป็นห้องใต้หลังคา แล้วเอาผนังที่เป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูปพวกนี้ย้ายขึ้นไปไว้ข้างบนได้ก็น่าจะง่าย แถมยังเปลี่ยนไปเป็นพื้นหรือผนังข้างบนแทนได้ด้วยครับ พอถึงตอนนี้ผมก็กลับมาที่แนวคิดแรกที่ว่า ผู้อยู่อาศัยกลับเข้าบ้านได้ยากลำบาก ถ้าหลังคาบ้านสามารถเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับบ้านหลังอื่นๆ ได้ด้วยก็น่าจะดี เจ้าของบ้านอยากเข้าไปดูของในบ้านก็ทำได้ เลยทำเป็นเฮาส์ซิงหรืออาคารชุด ที่เหลือก็จะเป็นการออกแบบตกแต่งหน้าตาให้เข้ากับตัวอาคารครับ”
อยู่-กับ-น้ำ
“เราทำอย่างไรให้ชีวิตเป็นปกติที่สุด เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมาในชีวิต ก็น่าจะเป็นอะไรที่ธรรมดาๆ” “น็อต” เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้แนวคิดนี้เป็นที่น่าสนใจจนได้รับรางวัลคือความปกติธรรมดา “ผมคิดว่ามันเป็นอาคารปกติทั่วไป สามารถรักษาตัวมันเองได้ เราไม่ต้องปล่อยให้บ้านเป็นเชื้อราแล้วต้องมาซ่อมทีหลัง เราสามารถป้องกันได้ด้วยตัวเองว่าเราย้ายความเสียหายได้ หรือทำให้เสียหายน้อยที่สุด”
ต่อคำถามที่ว่าในอนาคตเราอาจจะต้องอยู่กับน้ำจริงหรือ สถาปนิกในอนาคตให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่าไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นนะ แล้วแต่พื้นที่ครับ ถ้าพื้นที่ที่เกิดปัญหาผมคิดว่าคนที่อยู่อาศัยเขาก็จะเริ่มรู้ตัวว่าต้องค่อยๆ ปรับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ตามน้ำ เพราะปกติคนไทยก็อยู่ริมน้ำแบบนี้อยู่แล้ว มีเรือนแพ แต่ว่าพอโลกเป็นโลกาภิวัฒน์ขึ้น เราก็เริ่มรับแนวคิดของวัฒนธรรมต่างประเทศมา ความจริงสถาปนิกแค่สนองความต้องการว่าเจ้าของต้องการบ้านอย่างไร เราก็จะเป็นคนหาวิธีมาเพื่อให้ได้ตามที่เจ้าบ้านต้องการครับ”
ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 18 เดือนมิถุนายน 2555