เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: สิริลักษณ์ น้อยสมมิตร์
Bridge ชมรมประมูลความคิด
กีฬาบริดจ์ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในกีฬามหาวิทยาลัย ทั้งยังมีการแข่งขันในระดับนานาชาติ สำหรับคนที่รู้จักเพียงผิวเผินคงมองไม่ออกว่าบริดจ์เป็นหนึ่งในประเภทกีฬาได้อย่างไร บริดจ์มีระบบการวัดคะแนนอย่างเป็นมาตรฐานจึงนับเป็นกีฬาประลองสมอง ฝึกความคิด และยังสามารถนำทักษะดังกล่าวไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ลองมาฟังสองแชมป์เหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัย สมาชิกสมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทย บิวตี้-ภัทริน หล่อตระกูลงาม บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ พอร์ช-ธนดล บุญยั่งยืน ชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ขอท้าทายออกกำลังกายสมองผ่านกีฬาบริดจ์
เกมกีฬาร้อยปี ไม่หวือหวา แต่ไม่หายไป
กีฬาบริดจ์แรกเริ่มนิยมเล่นกันมากในประเทศอังกฤษ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จไปศึกษาที่อังกฤษในช่วงที่บริดจ์กำลังแพร่หลาย จึงทรงกลับมาถ่ายทอดให้กับเจ้านายและข้าราชบริพารที่วังพญาไท ต่อมาเริ่มมีชาวต่างชาติมาทำงานในเมืองไทย จากเดิมที่เล่นบริดจ์กันในรั้ววังจึงขยายกลุ่มออกมาตามคลับและสโมสร จนพัฒนาก่อตั้งสมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทย กระทั่งมีการจัดการแข่งขันในระดับอุดมศึกษา
ปัจจุบันแม้จะมีชมรมในมหาวิทยาลัย บริดจ์กลับเป็นที่รู้จักในวงจำกัดและมีสถานะไม่มั่นคงนัก “ตามมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ จะมีชมรมบริดจ์ ภาคเหนือมีที่ ม.เชียงใหม่ ราชภัฏอุตรดิตถ์ เมื่อก่อนมี ม.นเรศวร แต่ตอนนี้หายไปแล้วเพราะไม่มีคนสานต่อ ในกรุงเทพฯ มีที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ พระนครเหนือ บางมด จันทรเกษม อีสานมี ม.ขอนแก่น ภาคใต้ก็มี ม.สงขลานครินทร์” “พอร์ช” เปิดเผย
ทั้ง “บิวตี้” และ “พอร์ช” รู้จักกีฬาบริดจ์ด้วยการถ่ายทอดจากรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย แม้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้กฎการแข่งขันพอสมควร สองปีต่อมาทั้งสองพัฒนาทักษะจนกลายเป็นตัวแทนประเทศคว้าแชมป์หลายรายการ และทำหน้าที่ถ่ายทอดต่อให้กับรุ่นน้อง “บริดจ์อยู่ได้ด้วยรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง หรือผู้ใหญ่ในสมาคมฯ ไปช่วยสอนตามภูมิภาคต่างๆ เพราะกีฬานี้ไม่ได้เริ่มเล่นตั้งแต่เด็ก อาจเป็นมุมมองว่าการเล่นไพ่เป็นสิ่งไม่ดี” บิวตี้ช่วยเสริม
สะพานของคู่หู ประมูลความคิดกับปรปักษ์
อุปกรณ์การเล่นบริดจ์ นอกจากไพ่ 52 ใบที่คล้ายกับไพ่ทั่วไปแต่มีสัญลักษณ์เพิ่มเติม bidding box หรือกล่องประมูล ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับ bidding card หรือการ์ดประมูล “บิวตี้” อธิบายว่าบริดจ์มีวิธีเล่นแบบ “สะพาน” เช่นเดียวกับชื่อ “บริดจ์แปลว่าสะพาน กีฬานี้ต้องมีคู่หูและเน้นการส่งสัญญาณเวลาเล่น โดยมีไพ่ทั้งสองมือเป็นตัวเชื่อมเหมือนสะพาน ส่วนการประมูลเป็นทักษะของแต่ละคน”
ไพ่บริดจ์แบ่งออกเป็น 4 ชุด ชุดละ 13 ใบ นับแต้มเฉพาะไพ่ยศคือ A,K,Q,J A มี 4 แต้ม K มี 3 แต้ม Q มี 2 แต้ม และ J มี 1 แต้ม รวมคะแนนทั้งหมด 40 แต้มต่อสำรับ แบ่งผู้เล่นเป็น 4 คน คู่หูจะนั่งตรงข้ามกัน อีกฝ่ายหนึ่งถูกเรียกว่าปรปักษ์ เมื่อแจกไพ่ทั้งหมดให้ผู้เล่นจึงเริ่มเปิดประมูล ผู้ที่เปิดประมูลคนแรกต้องมีแต้มอย่างน้อย 12 แต้มและพิจารณากับคู่หูว่าควรเอาชนะด้วยวิธีใด จากนั้นจึงเริ่มเดินไพ่และนับคะแนนตอนท้าย
“ความสนุกอยู่ที่การห้ามใช้เสียงหรือส่งสัญญาณระหว่างคู่ ระหว่างการประมูลจะมีการท้าทายกัน คล้ายๆ กับว่าคุณไม่สามารถจะทำตามที่ตั้งเอาไว้หรอก เราก็เกทับลงการ์ด double ไปให้เขาเสียคะแนนมากขึ้น แต่ถ้าทำได้จริง double ก็ทำให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีก” พอร์ชเล่า
ประยุกต์ใช้ในเกมชีวิต
ความน่าสนใจของบริดจ์คือทุกครั้งที่แข่งขันเสร็จจะมีกระดาษเฉลยให้ผู้เล่นทำความเข้าใจว่าต้องใช้วิธีใดจึงจะได้คะแนนมากที่สุด ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาฝีมือในครั้งต่อไป บริดจ์จึงสร้างความท้าทายให้กับผู้เล่นอยู่เสมอ นอกจากนี้กีฬาบริดจ์ยังช่วยฝึกทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ การวางแผน และการมองต่างมุม ที่สำคัญคือได้เพื่อนใหม่และสังคมคนเล่นบริดจ์ที่มีทั้งวัยรุ่นไปจนถึงคุณตาคุณยายวัย 90 ปี
ผู้ที่สนใจอยากเล่นกีฬาบริดจ์อาจเริ่มต้นทำความรู้จักได้ตามชมรมบริดจ์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยทุกชมรมยินดีต้อนรับเพื่อนต่างสถาบัน สำหรับสมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทยมีการเปิดค่ายสอนการเล่นกีฬาบริดจ์ในเดือนตุลาคมนี้ โดยครูผู้ฝึกสอนทีมชาติ สามารถติดต่อได้ที่ ห้อง 265 ราชมังคลากีฬาสถาน การกีฬาแห่งประเทศไทย ถ.รามคำแหง โทร. 02-369-1528, 02-369-3434 เว็บไซต์ https://thailandbridgeleague.com/
คลิปวิดีโอสาธิตการเล่นกีฬาบริดจ์
ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 17 เดือนพฤษภาคม 2555