วันพืชมงคล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7.5K views



 วันพืชมงคล

 

วันพืชมงคล หรือ วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีการสืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นพิธีที่สร้างความเป็นสิริมงคลแด่พืชพันธุ์ธัญญาหาร บำรุงขวัญเกษตรกร และเตือนให้เริ่มเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ อันเป็นธัญญาหารหลักในการดำรงชีวิตของคนไทย

การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เริ่มมีตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อถึงวันประกอบพระราชพิธี พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกเป็นองค์ประธาน แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องพิธีกรรม คือ พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี แต่จะทรงมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำแทน ส่วนตัวพระมหากษัตริย์เองจะทรงจำศีลเป็นเวลา ๓ วัน ถือปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) พระองค์ทรงเปลี่ยนพิธีกรรมบางอย่าง คือ ผู้ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนานั้นเป็นเจ้าพระยาพหลเทพ ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงให้ผู้ที่ยืนชิงช้าถือตำแหน่งพระยาแรกนาด้วย

เมื่อถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีเกี่ยวกับศาสนาพุทธ โดยมีชื่อเรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่ก็ต้องมีอันยกเลิกไป เนื่องจากในช่วงนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับบ้านเมือง

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ๒ พิธี คือ

  • วันแรก เป็นพระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีในศาสนาพุทธ จัดขึ้น ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง 

  • วันที่สอง ประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ จัดขึ้นที่ลานพระราชพิธี ท้องสนามหลวง โดยพระราชพิธีจะเริ่มเมื่อประธาน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ เสด็จประทับ ณ พลับพลา จากนั้นโหรหลวงจะบูชาพระฤกษ์และลั่นฆ้องชัย

    ขบวนพระยาแรกนา ได้แก่

    - พระยาแรกนา (ปัจจุบันผู้ทำหน้าที่นี้คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
    - เทพีคู่หาบทอง ๒ คน เทพีคู่หาบเงิน ๒ คน รวม ๔ คน(ปัจจุบัน คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญ จะต้องเป็นผู้หญิงโสด)
    - ราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ ๑ ท่าน
    - พราหมณ์เป่าสังข์ ๒ ท่าน
    - พราหมณ์เชิญพระโคอุศุภราช ๑ ท่าน
    - พราหมณ์ถือกรรชิง (กรรชิง คือ เครื่องสูงสำหรับกันแดด มีลักษณะคล้ายฉัตร) หน้า ๒ ท่าน หลัง ๒ ท่าน
    - พระโค ๑ คู่ 

    จากนั้นเริ่มเคลื่อนขบวน โดยพระยาแรกนาจับหางคันไถมือหนึ่ง และถือพระแสงปฏักอีกมือหนึ่ง เดินไถดะทั้งหมด ๓ รอบ และในระหว่างนั้นราชบัณฑิตจะพรมน้ำพระพุทธมนต์ลงบนพื้นดิน ในรอบที่ ๔ พระยาแรกนาจะเริ่มหว่านเมล็ดข้าวลงในแปลงนาจนครบ ๓ รอบ แล้วจึงไถกลบอีก ๓ รอบ รวมทั้งหมด ๙ รอบ พนักงานพิธีปลดแอกออกจากพระโค พระยาแรกนา พร้อมเทพีทั้ง ๔ กลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์

    หลังจากนั้นจะเป็นพิธีตั้งเลี้ยงพระโค (ข้าวเปลือกที่ใช้ในการพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกขึ้นในแปลงนาภายในพระราชวังสวนจิตรลดา ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนหนึ่งจะบรรจุลงในกระเช้าทอง และเงินของเทพีที่จะใช้หว่านในพระราชพิธี อีกส่วนหนึ่งจะแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรทั่วไป)


การเสี่ยงทายและการทำนายผล

พระยาแรกนาจะทำการเสี่ยงทายผ้านุ่ง โดยก่อนที่จะประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระยาแรกนาจะต้องตั้งสัตยาอธิษฐานหยิงผ้านั้น จะมีทั้งหมด ๓ ผืน และมีความยาวแตกต่างกันวางเรียงบนโตก มีผ้าคลุมอีกที เมื่อพระยาแรกนาเสี่ยงได้ผืนใด การทำนายผลก็จะแตกต่างกัน ดังนี้

๑. ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่

๒. ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์และผลาหาร (อาหารคือลูกไม้) มังสาหาร (อาหารคือ เนื้อสัตว์) จะอุดมสมบูรณ์ดี

๓. ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้างไม่ได้ผลเต็มที่

จากนั้นพระโคเสี่ยงทายจากอาหาร พราหมณ์ในพิธีจะเป็นผู้ที่นำอาหารมาตั้งเลี้ยงพระโค โดยใส่ในกระทงวางบนถาด อาหารของพระโคมี ๗ สิ่ง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา หญ้า น้ำ และเหล้า เมื่อพระโคเลือกสิ่งใดก็จะมีคำทำนายจากโหรหลวง

๑. ข้าวเปลือก หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร (อาหารคือข้าว) ผลาหารจะบริบูรณ์ดี

๒. ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร (อาหารที่กินประจำ) จะอุดมสมบูรณ์ดี

๓. เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศจะดีขึ้น เศรษฐกิจรุ่งเรือง

๔. น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี

จากความสำคัญของวันพืชมงคล ที่ถือเป็นพระราชพิธีที่มีการสืบทอดกันมาแต่โบราณ ทางราชการจึงได้กำหนดให้วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกรและกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย  

 

ที่มา:  วารสารวัฒนธรรมไทย ปีที่ 49 ฉบับที่ 5 ( พ.ค. 2553 ) หน้า 12-13.