วันสุนทรภู่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 23.9K views



วันสุนทรภู่
วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี
 

วันสุนทรภู่ หมายถึง วันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร(สุนทรภู่) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลอนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก

ความเป็นมา
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์โดยสรุป คือ

๑. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฎแก่มวลสมาชิกทั่วโลก
๒. เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

ในการนี้รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก


ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดให้ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่
 

ประวัติ
สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตามสันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวง อยู่ในพระราชวังหลัง บิดามารดาเลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่เกิด บิดาออกไปบวชที่วัดป่า ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิมส่วนมารดากลับเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง และได้ถวายตัวเป็นนางนมของพระธิดาในกรมฯ นั้น

ในปฐมวัย
สุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังหลังและได้อาศัยอยู่กับมารดา สุนทรภู่ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักการแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้นรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอน นิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว ๒๐ ปี ในระยะนี้ได้ลอบรักกับหญิงสาวชาววังชื่อ "จันทร์" จึงต้องเวรจำทั้งชายหญิง เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตจึงพ้นโทษ ต่อมาจึงได้แม่จันทร์เป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันไม่นานก็เกิดระหองระแหงคงเป็นเพราะสุนทรภู่เมาสุราอยู่เป็นนิตย์

สมัยรัชกาลที่ ๒
สุนทรภู่ได้เข้ารักราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด ระยะนี้สุนทรภู่ได้หญิงชาวบางกอกน้อยที่ชื่อ นิ่ม เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๖๔ สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษเพราะความสามารถในทางกลอนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมัยรัชกาลที่ ๓
สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่องอื่น ๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหารต่อมาสุนทรภู่ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวร สิ้นพระชนม์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ ๑๐ พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง ๒ พรรษาก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้อุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

สมัยรัชกาลที่ ๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ และรับราชการต่อมาได้ ๔ ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี

ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก

ท่านสุนทรภู่ถือได้ว่าเป็นกวีสามัญชนที่สร้างผลงานอันทรงคุณค่ามากที่สุด บทกลอนของท่านได้เป็นแบบอย่างที่คนไทยยึดถือมาจนถึงปัจจุบันนี้นอกจากนั้นท่าน ยังได้ชื่อว่าเป็นกวีเอกของโลกท่านหนึ่งโดย องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือที่รู้จักกันในนามของ ยูเนสโก ( UNESCO )ได้ประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ในวาระที่ครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิดของท่าน

“ สุนทรภู่เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบ 200 ปี เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2329 ” นับว่าท่านเป็นกวีสามัญชนคนแรกที่ได้รับการประกาศ เกียรติคุณเช่นนี้
 
สำหรับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญของชาติต่าง ๆ ในโอกาสครบรอบวันเกิด หรือวันตายที่นับเป็นศตวรรษหรือ 100 ปีขึ้นไปของยูเนสโกนี้ก็เพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณ และผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกของชาติต่าง ๆ ให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั้งโลก และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการประกาศ ยกย่องเพื่อก่อให้เกิดความคุ้นเคยซึ่งกันและกันโดยอาศัยบุคคลสำคัญของชาติต่าง ๆ เป็นสื่อกลาง โดยบุคคลนั้น ๆต้องเป็นบุคคลสำคัญของชาติที่มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในสากล เพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม หรือสื่อสารมวลชน

ซึ่งในส่วนประเทศไทยยูเนสโกได้มีการประกาศยกย่องเชิดชู เกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก จนถึงปัจจุบันในปีนี้มีดังนี้

-- ฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ 21 มิถุนายน 2505- -- ฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ 28 เมษายน 2506

-- ฉลองวันพระบรมราชสมภพ ครบ 200 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2511

--ฉลองวันพระบรมราชสมภพ ครบ 100 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524                                  


ผลงาน

หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฎเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบัน คือ

๑. ประเภทนิราศ
นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเป็นโคลง) นิราศอิเหนา นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร

๒. ประเภทนิทาน
เรื่องโคบุตร เรื่องพระอภัยมณี เรื่องพระไชยสุริยา เรื่องลักษณวงศ์ เรื่องสิงหไกรภพ

๓. ประเภทสุภาษิต
สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท สุภาษิตสอนหญิง

๔. ประเภทบทละคร
เรื่องอภัยณุราช

๕. ประเภทบทเสภา
เรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องพระราชพงศาวดาร

๖. ประเภทบทเห่กล่อม
เห่จับระบำ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร

 

คติสอนใจแทรกไว้ในผลงาน 

บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว   สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา    เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา     
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์      มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด   
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด   ไม่เคี้ยวคดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้มีที่รักอยู่สองสถาน    บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน       เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้ใครรักรักมั่งชังชังตอบ       ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา                   รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี


คำกลอนสอนใจให้เรารู้จักรอบคอบและระมัดระวังในการคบคน เพราะจิตใจของมนุษย์นั้น ยากที่ใครจะคาดเดาได้แม้แต่ตัวของผู้นั้นเอง ท่านเปรียบให้เห็นว่าแม้เถาวัลย์จะคดโค้งอย่างไร ก็ยังเห็นไม่เหมือนใจคน และว่าน้ำใจความรักของพ่อแม่จึงจะเชื่อได้ อีกทั้งสอนว่าคนที่เราจะพึ่งพิงได้นั้นคือตัวของเรานั่นเอง

นอกจากนี้ท่านยังว่า วิชาความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้เลี้ยงชีพต่อไปได้ แต่การมีวิชาความรู้ก็ต้องรู้จักเอาตัวรอดด้วยจึงเป็นผลดี ในประโยคหลังนี้มีหลายคนไปตีความในทางลบ กล่าวว่าผู้ที่เอาตัวรอดนั้นเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่โดยนัยความหมายที่แท้จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะท่านหมายถึงการที่คนเราต้องรู้จักหาทางช่วยตัวเองด้วยสติปัญญา อย่าให้อับจนหนทางต่างหาก

นอกจากนี้ยังมีสุภาษิต สำนวน คติธรรมคำสอนอีกเป็นอันมากที่เราสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างดี เช่น

โบราณ ว่าถ้าเหลือกำลังลาก จงออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม
การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดกิน
องค์พระปฏิมายังราคิน มนุษย์เดินดินหรือจะพ้นคนนินทา
อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อักตัญญูตาเขา เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน    


หรืออย่างใน “สวัสดิรักษาคำกลอน” ซึ่งเป็นวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ก็สอนถึงข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และการพูดจาเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ตน เช่น สอนให้ควบคุมอารมณ์ในตอนเช้าให้แจ่มใส-ว่า


เช้าตรู่สุริโยอโณทัย ตื่นนอนให้ห้ามโมโหอย่าโกรธา
แล้วเอื้อนอรรถตรัสความที่ดีก่อน จะถาวรพูนเกิดประเสริฐศักดิ์
อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ
วันกำเนิดเกิดสวัสดิ์ อย่าฆ่าสัตว์เสียสง่าทั้งราศี
อายุน้อยถอยเลื่อนทุกเดือนปี แล้วมักมีทุกข์โศกโรคโรคาฯลฯ

ตัวอย่างเหล่านี้มันเป็นส่วนน้อยนิดที่ปรากฏในผลงานของท่านสุนทรภู่ หากใครสนใจก็สามารถหาอ่านได้อย่างละเอียดในแต่ละเรื่องที่ท่านประพันธ์ไว้ซึ่งแต่เพียงแค่นี้เรายังได้เห็นถึงอัจฉริยะภาพในเชิงวรรณศิลป์ ตลอดจนเนื้อหาที่ให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อย่างน่าทึ่งสมกับที่ท่านเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และยูเนสโกได้ ประกาศยกย่องให้เป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก เมื่อครบปีเกิด 200 ปี วันที่ 26 มิถุนายน 2529 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีถือเป็น “ วันสุนทรภู่ ” วันกวีไทยวันที่เราจะระลึกถึงกวีเอกของเราด้วยความภาคภูมิใจ.


 

ที่มา : https://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=1840