กำเนิดสภากาชาดไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 39.7K views



กำเนิดสภากาชาดไทย

กำเนิดสภากาชาดไทย

          ปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เกิดกรณีพิพาท ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส เกี่ยวกับเขตแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและมีการสู้รบ เป็นผลให้ทหารได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และได้รับ ความทุกข์ทรมานจำนวนมาก 

         สตรีไทยกลุ่มหนึ่งนำโดย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทย ช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของเพื่อส่งไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บและมีความเห็นว่าควรจะมีองค์กรการกุศลช่วยบรรเทาความ ทุกข์ยากของทหาร เช่นเดียวกับกาชาดของต่างประเทศ จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีื พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงเป็นชนนีผู้บำรุงในการจัดตั้งองค์การเพื่อบรรเทาทุกข์ยากของทหาร

        ซึ่งเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้ง สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม ขึ้น เมื่อวันที่ 26เมษายน 2436 และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ทรงเป็นสภาชนนี สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงเป็น สภานายิกา และ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นเลขานุการิณี 

        การดำเนินงานของสภาอุณาโลมแดง ในระยะแรกมีกิจกรรมที่สำคัญ คือการจัดส่งยา เวชภัณฑ์ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องอุปโภคต่าง ๆ ไปช่วยทหารและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ 

        เมื่อกรณีพิพาทและการสู้รบยุติลง กิจการของสภาอุณาโลมแดงก็ระงับและซบเซาไประยะหนึ่งจนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และทรงสำเร็จการศึกษาจาก ประเทศอังกฤษ ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับโดยผ่านประเทศญี่ปุ่น ได้ทอดพระเนตรโรงพยาบาลของสภากาชาดญี่ปุ่นเป็นที่สง่า งาม จึงมีพระราชดำริว่า หากมีโรงพยาบาลของสภากาชาดสยามก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมาก ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์บำเพ็ญพระราชกุศลร่วมกับพระราชโอรส พระราชธิดาใน รัชกาลที่ 5 ทุกพระองค์ รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่เดิม จำนวน 121,910 บาท สร้างโรงพยาบาลของสภากาชาด ขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2457 เพื่อรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ทั่วไป 

           ในปี พ.ศ. 2461 มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้และ บาดเจ็บในสงครามและยามสงบ ทั้งการบรรเทาทุกข์ในเหตุการณ์สาธารณภัยพิบัติ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือ ความเห็นในทางการเมืองของผู้ประสบภัย ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง ยังผลให้คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศรับรอง สภากาชาดสยาม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 และสันนิบาตสภากาชาดมีมติรับสภากาชาดสยามเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2464

 

ที่มา : ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย