บทความทางมานุษยวิทยา
ไปดูพัฒนาการ “อักษรโบราณ” ของอินโดนีเซีย
นวพรรณ ภัทรมูล
กลุ่มงานวิชาการ
24 กุมภาพันธ์ 2553
ผู้เขียนได้เจอบทความเรื่อง “Bali Age People” เขียนโดย Terima ในเว็บไซต์ https://balitouring.com
เห็นว่าน่าสนใจดี เพราะบทความนี้ได้กล่าวถึงพัฒนาการอักษรโบราณในประเทศอินโดนีเซียอย่างย่อๆ แต่ก็ทำ
ให้เห็นภาพรวมทั้งหมด และเห็นพัฒนาการอักษรโบราณที่สอดคล้องกับพัฒนาการอักษรทั้งของไทยและประเทศ
เพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ผู้เขียนจึงถือโอกาสเก็บความจากบทความนี้มาเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายขึ้น เผื่อ
ว่าจะมีประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่กำลังสนใจเรื่องจารึกและอักษรโบราณในภูมิภาคนี้ และรู้จักประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของเราในอีกแง่มุมหนึ่ง
สมัยประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียเริ่มต้นด้วยการค้นพบ “จารึกแห่งกาลิมันตันตะวันออก” ในเขตกูไต
(Kutai) อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งมีรูปแบบอักษรคล้ายอักษรอินเดีย และอาจเข้ามาพร้อมๆ กับที่ศาสนาฮินดู
เข้ามาในอินโดนีเซีย
ศาสตราจารย์ เจ. จี. เดอ คัสพาริส (Prof. J.G. de Casparis) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรม
อินโดนีเซีย ได้สรุปพัฒนาการอักษรโบราณในอินโดนีเซียโดยแบ่งเป็นช่วงๆ ของรูปแบบอักษรและลำดับยุคสมัย
ดังนี้
อักษรปัลลวะ
อักษรปัลลวะในอินโดนีเซียแบ่งเป็น 2 รุ่น คือรุ่นแรก และรุ่นหลัง ตัวอย่างจารึกอักษรปัลลวะรุ่นแรกนี้
พบที่ยูปา (Yupa) ในเขตกุไต (Kutai) อักษรจารึกมีรูปร่างสวยงาม เส้นอักษรยาว ตรง และตั้งฉากทำมุมพอดี
โดยรวมของอักษรจะค่อนข้างกลม และโค้งสวย ตัว ม (ma) จะเขียนเป็นตัวเล็กอยู่ในระดับต่ำกว่าอักษรตัวอื่นๆ
และตัว ต (ta) มีรูปร่างเป็นขดคล้ายก้นหอย ซึ่งเป็นรูปแบบที่เก่า และใกล้เคียงมากกับอักษรที่ใช้ในอาณาจักร
อิกษวากุ (Iksavakus) แห่งอันธะระ ประเทศ (Andhara Pradesh), อักษรที่สถูปเจดีย์นาคารชุนโกณฑะ
(Nagarjunakonda), จารึกของพระเจ้าภัทรวรมัน (Badravarman) ใน โช ดินห์ (Cho Dinh) ที่มีอายุอยู่ในช่วง
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 จารึกแห่งโช ดินห์ นี้มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับจารึกของรุวันวะลิสะยะ
(Ruvanvalisaya) แห่งอเมระธะปุระ (Ameradhapura) ประเทศศรีลังกา (Srilangka) ที่สร้างโดยพระเจ้าพุทธะ
สาสะ (Buddhasasa) ในปี ค.ศ. 337 – 365
ภาพ จารึกพบที่ยูปา (จากเว็บไซต์ https://en.wikipedia.org)
ส่วนอักษรปัลลวะรุ่นหลังนั้น มีการคลี่คลายค่อนข้างมาก เกิดระบบ “same height” หรือการเขียน
อักษรให้มีความสูงเสมอกัน จากที่มีการศึกษาเรื่องพัฒนาการทางอักษรทั้งในอินเดียใต้ และเอเชียใต้ เชื่อว่า
อักษรลักษณะนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 – 9 มีทั้งรูปแบบที่เป็นตัวอักษร และที่เป็นลายเส้น
สวยงาม
ภาพ จารึกลายเส้นจาก Tuk Mas ใกล้กับ Magelang (จากเว็บไซต์ https://bureketo.blogspot.com)
อักษรกวิ
ความแตกต่างระหว่างอักษรปัลลวะและกวิ คือ อักษรปัลลวะมักจะจารลงบนศิลา ส่วนอักษรกวิมักจะ
จารลงบนใบปาล์ม คำว่า “กวิ” หมายถึง ผู้เขียน แต่ภายหลังใช้หมายถึงอักษรชวาโบราณ และภาษาชวาโบราณ
ภาษาในจารึกส่วนใหญ่จะเป็นภาษาสันสกฤต
อักษรกวิก็แบ่งเป็นสองรุ่นเช่นเดียวกัน คือ รุ่นแรก และรุ่นหลัง, รุ่นแรกจะอยู่ในช่วง ค.ศ. 750 – 925
อักษรกวิรุ่นแรกที่เก่าที่สุดพบที่ฐานประติมากรรมพระพิฆเณศ พบที่ปลุมปุงัน (Plumpungan) ใกล้กับสาลาติกะ
(Salatika) ที่ดิโนโย (Dinoyo) ซึ่งมีอายุ ค.ศ. 760 สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวอักษรเป็นเส้นคู่ จารลงที่ฐานประติมากรรม
มีจารึกยุคสมัยเดียวกันนี้หลายหลัก หลักหนึ่งพบที่ลิกอร์ (Ligor) ภาคใต้ของประเทศไทย (หมายถึงจารึกวัด
เสมาเมือง นครศรีธรรมราช – ผู้เรียบเรียง) ซึ่งสร้างโดยกษัตริย์อาณาจักรศรีวิชัย ใน ค.ศ. 775 นอกจากนั้นยังมี
จารึกอักษรกวิรุ่นแรกชนิดที่เรียกว่า “อักษรกวิแบบมีระเบียบ” เป็นรูปแบบอักษรที่พบในสมัยพระเจ้าราไก กะยู
วังคิ (ค.ศ. 856 – 882) จารบนแผ่นทองสัมฤทธิ์และศิลา อักษรจารอย่างเป็นระเบียบ มีช่องไฟที่สมดุล และเส้น
นอนของอักษรแต่ละตัวจะตรงเป็นแนวเดียวกันทุกตัวอักษร ปลายยุคแรกนี้ อักษรจะเริ่มหัก ตั้งตรง และทำมุม
มากขึ้น พบในจารึกที่สร้างโดยพระเจ้าบาลิตุง (King Balitung, ค.ศ. 910), พระเจ้าทักษะ (King Daksa, ค.ศ.
919)
ในช่วง ค.ศ. 925 – 1250 ปรากฏรูปแบบอักษรกวิรุ่นหลัง ซึ่งมีทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน คือ แบบแรกอยู่
ในสมัยพระเจ้าทักษะ (King Daksa, ค.ศ. 910 – 921), พระเจ้าตูโลดง (King Tulodong, ค.ศ. 919 – 921), พระ
เจ้าวะวะ (King Wawa, ค.ศ. 921 – 929) และพระเจ้าซินดก (King Sindok, ค.ศ. 929 – 947) เส้นอักษรทั่วๆ
ไปจะเป็นเส้นเดี่ยว และเป็นระเบียบ แบบที่สองพัฒนามาจากจารึกของพระเจ้าเอรลังคะ (King Erlangga, ค.ศ.
1019 – 1042) และจารึกในกัลกัตตา อายุหลัง ค.ศ. 1041 อักษรในจารึกมีความสมดุล สมส่วน และสวยงาม
เรียกอักษรชนิดนี้ว่า อักษรรูปสี่เหลี่ยม อักษรชนิดนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายในชวา จารึกบางหลักมีรูปแบบการ
จารคล้ายกับจารึกที่รูปปั้นพระพิฆเณศ ที่กะรังเรโช (Karangrejo) ค.ศ. 1124 เขตโควะ คะชะ (Gowa Gajah)
และจารึกพบที่หมู่บ้านงันตัง (Ngantang) อายุ ค.ศ. 1057 ซึ่งมีการกล่าวถึง อาณาจักรปันชะลุ (Panjalu) ว่าเป็น
ศัตรู สร้างโดยพระเจ้าชยภยะ (King Jayabhaya) ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงมากในเรื่องของการทำนายอนาคตของ
อินโดนีเซีย และทรงมีวิสัยทัศน์ที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องแม่นยำ
อักษรสมัยอาณาจักรมัชปาหิต (ค.ศ. 1250 – 1450)
ช่วงนี้ อักษรมีหลากหลายรูปแบบ และดูราวกับมีการพัฒนาเป็นรูปแบบเฉพาะในแต่ละท้องที่ เช่น
อักษรของพระเจ้าเกรตะระชะสะ (King Kretarajasa) อายุหลัง ค.ศ. 1292, อักษรจารึกพบที่จิเรบอน (Cirebon)
และต้นฉบับตัวเขียนแห่งกุนชะระกะรนะ (Kunjakarna) หรือพุทธประวัติ อักษรจารึกเกือบทั้งหมดจารเป็นเส้น
เดี่ยว รูปสี่เหลี่ยม, อักษรจารึกแห่งอาณาจักรปะชะชะรัน (Pajajaran, ปัจจุบันอยู่ชวาตะวันตก หรือ ซุนดา
แลนด์) ใช้ ภาษาซุนดา อายุประมาณ ค.ศ. 1333, อักษรจารึกจากสุมาตราตะวันตก ใกล้กับบุกิต ติงคิ (Bukit
Tinggi) สร้างโดย พระเจ้าอาทิตยวรมัน (King Adityawarman, ค.ศ. 1356 – 1375) มีรูปแบบใกล้เคียงกับ
อักษรของอาณาจักรมัชปาหิตมากกว่า เมื่อเทียบกับของอาณาจักรปะชะชะรัน อักษรจารึกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนมุมอักษรเป็นรูปโค้งมน ไม่หยัก, อักษรอารบิก ค.ศ. 1297 สร้างโดยสุลต่านมาลิก อัล ซาเลห์ (Sultan Malik Al
Saleh), อักษรจารึกของประเทศมาเลเซียที่ได้รับอิทธิพลจากอักษรอารบิก และอักษรจารึกพบที่บาหลี ได้แก่
จารึกเจมปะคะ 100 (Cempaga C, ค.ศ. 1324) และจารึกปะนุลิซัน (Panulisan, ค.ศ. 1430) จารึกเหล่านี้
สวยงามมาก รูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม
อักษรนาครีรุ่นหลังในจารึกอินโดนีเซีย
อักษรนาครีที่เก่าที่สุดที่พบในอินโดนีเซีย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอักษรปาละ (Pala) ที่อินเดียเหนือ
มีการใช้อักษรชนิดนี้ที่ชวาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยมากจะใช้จารหลักธรรมบนป้ายดินเหนียวใส่ไว้ใน
สถูป มีข้อความว่า “เย เหตุ ปฺรภวา ธรฺม ...” ในบาหลี เขตเปชัง (Pejang) มีสถูปที่มีข้อความอย่างเดียวกันนี้
นับร้อยแห่ง มีจารึกหลักหนึ่งอายุสมัยเกรตะเนคะระ (Kretanegara, ค.ศ. 1267 – 1292) จารลงด้านหลังของ
ประติมากรรมรูปอโมคปาศะ (Amogapasha) แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอักษรของจาลุกยะ
(Chalukya) ในรัฐคุชราต (Gujarat) ประเทศอินเดีย ที่มีอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งรูปแบบดังกล่าวไม่
สามารถเทียบกับอักษรจารึกที่เคยพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใดๆ ได้เลย จึงเชื่อกันว่านี่คงเป็นพัฒนาการ
เฉพาะถิ่น ไม่ขึ้นกับใคร
อักษรอินโดนีเซียช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15
จารึกที่มีอายุอยู่ในช่วง ค.ศ. 1450 มีน้อยมาก อีกทั้งลำดับต่อจากนั้นเป็นยุคมืด (เข้าใจว่าช่วงยุคมืดนี้
น่าจะหมายถึงช่วงที่มีการบุกรุกของโปรตุเกส ค.ศ. 1511 ถึง ค.ศ. 1641 – ผู้เรียบเรียง) ไปจนกระทั่งสิ้น
คริสต์ศตวรรษที่ 16 และหลังจากยุคมืด ก็พบว่ามีการใช้อักษรชวาแบบใหม่ในทันที อักษรชวาแบบใหม่นี้ ยังใช้
อยู่จนถึงปัจจุบันโดยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จารึกหลายหลักถูกพบที่สุระดะกัน (Suradakan) มีอายุหลัง
ค.ศ. 1447, จารึกจากมัชปาหิตที่พบก็มีอายุราวสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 14, จารึกตระวุลัน 5 (trawulan 5) และ
แผ่นทองสัมฤทธิ์พบที่หมู่บ้านเรเนก (Renek) ก็มีอายุหลัง ค.ศ. 1473 รูปร่างของอักษรโดยรวมค่อนข้างสวยงาม
และเป็นรูปสี่เหลี่ยม จารึกบางหลักพบที่ตอนกลางของชวา เช่นเดียวกับ จารึกจันทิ สุกุห์ (Candi Sukuh) มีอายุ
หลังปี ค.ศ. 1439 และ 1457 พบที่งาโดนัน (Ngadona), สะลาติคะ (Salatiga) และอีกหนึ่งหลักจาก ภูเขาเมรบา
บุ (Merbabu), เสมารัง (Semarang) อายุหลังปี ค.ศ. 1449
แม้จะเป็นความจริงที่ว่า อินโดนีเซียมีมากกว่า 10 กลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆ แต่มีเพียง 2 ชาติพันธุ์ที่มี
ตัวอักษรเป็นของตัวเอง คือ ชวา และบาหลี ซึ่งอักษรของแต่ละที่ต่างก็สะท้อนให้เห็นรูปแบบของการคลี่คลายอัน
เนื่องมาจากอักษรที่มีมาก่อนหน้านั้น หากแต่ว่าอักษรบาหลีปัจจุบันมีรูปแบบที่แตกต่างกับอักษรชวาตรงที่อักษร
ของบาหลีมีรูปร่างกลม แต่อักษรของชวาเป็นรูปสี่เหลี่ยม
หลังคริสต์ศตวรรษที่ 15 ช่วงทศวรรษแรกนักเขียนชาวอินโดนีเซียเริ่มใช้วัตถุที่ย่อยสลายได้ในงานเขียน
เช่น ใบปาล์ม ซึ่งเป็นวัสดุที่เก็บไว้ไม่ได้นาน และหากเปรียบเทียบตัวอักษรของชวาและบาหลีกับตัวหนังสือที่ใช้
ในประเทศไทยและกัมพูชา จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันในบางส่วน และเชื่อว่าตัวหนังสือของประเทศเหล่านี้
ล้วนมีรากฐานมาจากอักษรปัลลวะเช่นเดียวกัน
ภาพ เปรียบเทียบอักษรปัลลวะกับอักษรกวิในอินโดนีเซีย (จากเว็บไซต์ https://www.balitouring.com)
เก็บความและเรียบเรียงจาก :
Terima, “Bali age people,” ใน Balitouring.com (online) เปิดข้อมูลเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2553 หาข้อมูลจาก
https://www.balitouring.com/bali_contents/baliwriting.htm
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sac.or.th/main/content_detail.php?content_id=109