อักขระในภาษาบาลี มี 41 ตัว แบ่งเป็น
พยัญชนะ (เรียก นิสสิต เพราะต้องอาศัยสระจึงจะออกเป็นเสียงต่างๆกัน เป็นเนื้อความได้33 ตัว
สระ (เรียก นิสัย หรือ นิสสัย เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของพยัญชนะ) 8 ตัว
พยัญชนะ ทั้ง 33 ตัว แบ่งเป็นพยัญชนะ
วรรค คือสามารถจัดรวมเป็นหมู่เดียวกันได้ เพราะเกิดจากฐานเดียวกัน มีทั้งหมด 5 วรรค และ
อวรรค หรือพยัญชนะที่ไม่สามารถจัดรวมเข้าในวรรคใดวรรคหนึ่งได้ จึงจัดรวมไว้เป็นอีกหมวดต่างหาก
มีทั้งหมด 8 ตัว คือ ย ร ล ว ส ห ฬ อํ
มาตราของอักขระ
ความสั้นยาวของเสียง จัดเป็นมาตรา โดยให้สระเสียงสั้น มีมาตราเดียว สระเสียงยาว มี 2 มาตรา และใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้กับสระที่มีพยัญชนะสังโยค และพยัญชนะด้วย
สระที่มีพยัญชนะสังโยค จัดเป็น 3 มาตรา (เช่น อา เมื่อมีตัวสะกดเป็น อาน เสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำว่า อาน จะยาวกว่า อา)
พยัญชนะทุกตัวมีเสียงกึ่งมาตรา
เสียงของพยัญชนะ
พยัญชนะแบ่งตามความก้องของเสียงเป็น 2 พวก คือ โฆสะ (เสียงก้อง) และ อโฆสะ (เสียงไม่ก้อง) ยกเว้นนิคคหิตซึ่งปราชญ์ทางด้านภาษาศาสตร์ ประสงค์ให้เป็นพยัญชนะโฆสะ แต่ปราชญ์ทางด้านศาสนา ต้องการให้เป็นพยัญชนะ โฆสาโฆสวิมุตติ คือ พ้นไปจากโฆสะและอโฆสะ
นอกจากความก้องของเสียง ยังแบ่งเป็นตามความหย่อนและหนักของเสียงได้อีกด้วย โดยแบ่งเป็น สิถิล คือพยัญชนะที่เสียงถูกฐานของตนหย่อนๆ เสียงหย่อน และ ธนิต คือพยัญชนะที่เสียงถูกฐานของตนหนักๆ เสียงหนัก
พยัญชนะที่เป็นสิถิลอโฆสะ เสียงเบากว่าทุกพยัญชนะ พยัญชนะธนิตอโฆสะ มีเสียงหนักกว่าสิถิลอโฆสะ พยัญชนะสิถิลโฆสะ มีเสียงดังกว่า ธนิตอโฆสะ พยัญชนะธนิตโฆสะ เสียงดังที่สุด
พยัญชนะธนิตโฆสะ เสียงก้องที่สุด ลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นๆ
ฐานกรณ์
คือที่เกิด และที่ทำอักขระ ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะออกเสียงได้ชัดเจน ฐานเป็นจุดที่เกิดเสียง กรณ์ทำให้เสียงที่เกิดนั้นชัดเจน
ฐาน คือจุดที่เกิดของเสียง มีทั้งหมด 6 ฐาน แต่เนื่องจากบางอักขระเกิดใน 2 ฐาน จึงทำให้ฐานที่เกิดขยายไปมากกว่า 6 รวมเป็น 10 ฐาน
อักขระที่เกิดฐานเดียวมี 6 ฐาน คือ กณฺโฐ (คอ), ตาลุ (เพดาน), มุทฺธา (ศีรษะหรือปุ่มเหงือก), ทนฺโต (ฟัน), โอฏฺโฐ (ริมฝีปาก) นาสิก (จมูก)
(ห หากประกอบพยัญชนะ 8 ตัวนี้คือ ญ ณ น ม ย ล ว ฬ ท่านว่าเกิดแต่อก อุรชะ แต่หากไม่ประกอบพยัญชนะ 8 ตัวดังกล่าว คือเกิดในคอตามฐานของตน)
อักขระที่เกิดใน 2 ฐาน มี 4 ฐาน คือ สระ เกิดที่ฐาน กณฺฐตาลุโช (คอและเพดาน) และ กณฺโฐฏฺฐโช (คอและริมฝีปาก) ส่วนพยัญชนะเกิดที่ฐาน ทนฺโตฏฐโช (ฟันและริมฝีปาก) และ สกฏฺฐานนาสิกฏฺฐานา (เกิดที่ฐานของตนและจมูก)
กรณ์
คือที่ทำของอักขระ คืออวัยวะจุดที่ทำให้เสียงชัดเจนขึ้น มี 6 คือ ชิวหคคํ (ปลายลิ้น),ชิวฺโหปคคํ (ถัดปลายลิ้นเข้ามา), ชิวฺหามชฺฌํ (ท่ามกลางลิ้น), ชิวฺหคโคฏโฐ (ปลายลิ้นและริมฝีปาก), กณฺโฐ (คอ),นาสิก (จมูก)
พยัญชนะวรรค เกิดใน 5 ฐาน 4 กรณ์ ส่วนพยัญชนะอวรรค เกิดใน 7 ฐาน 6 กรณ์ คือ
พยัญชนะวรรค ต ทั้งหมดและ อวรรค ล ส มีฐานที่เกิดคือ ทนฺตชา (ฟัน) กรณ์คือ ชิวฺหคคํ ปลายลิ้น
พยัญชนะวรรค ฎ ทั้งหมด และ อวรรค ร ฬ มีฐานที่เกิดคือ มุทฺธชา (ปุ่มเหงือก) กรณืคือ ชิวฺโหปคคํ ถัดปลายลิ้นเข้ามา