รู้รอบโลก ตอน อองรี ดูนองต์ อาสากาชาด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 12.7K views



          เพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเคยผ่านมาแถวๆ ศูนย์รวมวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์ คงจะเคยได้ยินชื่อถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งเป็นถนนที่ตั้งของสภากาชาดไทยกันบ้างแล้ว แต่เคยสงสัยกันไหมคะว่า ชื่อถนน “อังรีดูนังต์” นั้นมาจากไหน เพราะฟังดูยังงั๊ย.... ยังไงก็ไม่น่าใช่ชื่อภาษาไทยแน่ๆ

           ที่จริงแล้ว ชื่อถนน “อังรีดูนังต์” นั้นเป็นคำที่แผลงมาจากชื่อในภาษาฝรั่งเศสของ นาย “ช็อง อองรี ดูนองต์” (Jean Henri Dunant) นักธุรกิจชาวสวิส ผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ซึ่งเป็นองค์กรที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่ขบวนการกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงนานาชาติ (International Red Cross and Red Crescent Movement) นั่นเองค่ะ

           ไหนๆ นิตยสารปลูกฉบับนี้ก็มีเนื้อหาอยากจะเชิญชวนเพื่อนๆ ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว เราลองมาทำความรู้จักที่มาที่ไปของเครือข่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกกันค่ะ

           ถ้าจะพูดถึงความคิดริเริ่มที่จะจัดตั้งองค์กรกาชาดขึ้นครั้งแรก ก็คงต้องย้อนไปปี ค.ศ. 1859 เมื่อนายอองรี ดูนองต์ เดินทางผ่านเมืองโซลเฟริโน ในประเทศอิตาลี และได้พบเห็นภาพหลังการสู้รบนองเลือดระหว่างกองทัพฝรั่งเศสและกองทัพออสเตรีย การสู้รบครั้งนั้นทำให้ทหารของทั้งสองฝ่ายต้องเสียชีวิตหรือนอนเจ็บรอความตายอยู่ในสนามรบกว่าสี่หมื่นคน โดยที่คนเจ็บก็ไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอจากหน่วยแพทย์ ดูนองต์รู้สึกสลดใจกับเหตุการณ์ที่เห็นมาก จึงตัดสินใจจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นขึ้น โดยร่วมมือกับชาวบ้านในท้องถิ่น ให้ความช่วยเหลือทหารของทั้งสองฝ่าย โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติใดๆ

           หลังเหตุการณ์นั้น ดูนองต์ได้กลับไปที่เมืองเจนีวาบ้านเกิด และตีพิมพ์หนังสือเรื่อง บันทึกความทรงจำจากโซลเฟริโน (A Memory of Solferino) ขึ้นในปี ค.ศ. 1862 โดยเนื้อหาในหนังสือได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรบรรเทาทุกข์ที่จะทำหน้าที่ฝึกสอนบรรดาอาสาสมัครในยามที่บ้านเมืองสงบ ให้มีความรู้ความสามารถดูแลคนเจ็บได้ในยามสงคราม ซึ่งแนวความคิดนี้ได้นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรที่รู้จักกันในนาม คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross) โดยมีดูนองต์และชาวเจนีวาอีกสี่คนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1863 และมีสัญลักษณ์เป็นกากบาทสีแดงบนพื้นหลังสีขาว ซึ่งกล่าวกันว่าได้แรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เป็นกากบาทสีขาวบนพื้นแดงค่ะ

           ตลอดเวลาเกือบ 150 ปีมานี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และองค์กรอื่นๆ ในขบวนการกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงนานาชาติ มีบทบาทอย่างมากในด้านการบรรเทาทุกข์ภัยที่เกิดจากสงครามและภัยธรรมชาติในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีภารกิจหลักที่ต้องการบรรเทาความทุกข์ยากของมนุษย์ ปกป้องคุ้มครองชีวิตและสุขอนามัยที่ดี และค้ำจุนเกียรติของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงคราม นอกจากนี้ กลุ่มองค์กรกาชาดทั้งหมดดำเนินงานภายใต้หลักการกาชาดที่เป็นสากลเจ็ดประการ คือ มนุษยธรรม ความไม่ลำเอียง ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ บริการอาสาสมัคร ความเป็นเอกภาพ และความเป็นสากล

            สภากาชาดไทยเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงนานาชาติเช่นกันค่ะ โดยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 หรือในสมัย ร.ศ. 112 ที่ไทยมีกรณีพิพาทกับประเทศฝรั่งเศสเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ความขัดแย้งครั้งนั้นรุนแรงจนถึงขั้นสู้รบกัน แต่ในสมัยนั้นประเทศไทยยังไม่มีองค์กรการกุศลใดๆ คอยช่วยเหลือปฐมพยาบาลทหารที่บาดเจ็บ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” ขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็มีพระราชกระแสว่าเป็นความคิดที่ดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง "สภาอุณาโลมแดง" ขึ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2436 ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สภากาชาดไทย” อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันค่ะ

           ทราบประวัติความเป็นมาของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และสภากาชาดไทยแล้ว เพื่อนๆ คนไหนสนใจสมัครเป็นอาสาสมัครของสภากาชาดไทย สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.redcross.or.th/aboutus/volunteer หรือถ้าอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาและหน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมากขึ้น เราขอแนะนำคลิปดีๆ จาก YouTube พร้อมคำแปล จากเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอม ที่(https://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_youtube.php?youtube_id=344)

 

จากนิตยสารปลูก โดย www.trueplookpanya.com ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ.2554