เมื่อคิดถึงพลังงานไฟฟ้าจากน้ำเพื่อนๆคิดถึงอะไรกันคะ
ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยร้อยทั้งร้อยจะคิดถึงภาพของเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งตระหง่านกั้นแม่น้ำสายหลักอยู่แน่ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ เพราะพลังงานน้ำในรูปแบบนี้เป็นที่คุ้นเคยกันดีในประเทศไทยมาหลายทศวรรษแล้ว จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน แค่พลังน้ำอย่างเดียวก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้เราได้ใช้กันถึงเกือบ 3,000 เมกกาวัตต์ต่อปี และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นนะคะ ทั่วทุกประเทศบนโลกล้วนใช้ประโยชน์จากพลังงานชนิดนี้ เราจึงกล่าวได้ว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำนั้น เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เยี่ยมยอดแห่งยุคเชียวค่ะ
แต่ในยุคปัจจุบันที่ความต้องการพลังงานมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แค่การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำอย่างเดียวคงไม่พอแน่ ความจริงก็คือ แม่น้ำสายไหนบนโลกที่สามารถสร้างเขื่อนได้ ส่วนใหญ่ก็มีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ามากั้นกันหมดแล้ว แล้วเราจะยังมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนสะอาดๆเหลืออยู่บนโลกอีกหรือเนี่ย มีแน่นอนค่ะ อย่าลืมสิคะว่าพื้นผิวกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของโลกเรานั้นเป็นน้ำ พลังงานน้ำจากมหาสมุทรไงคะ
พลังงานน้ำจากมหาสมุทรแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือพลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal Energy) และพลังงานจากคลื่น (Wave Energy) ถึงแม้พลังงานทั้งสองรูปแบบนี้ยังไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยนัก แต่เชื่อไหมคะว่าในต่างประเทศ มีการทดลองและพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบนี้มานานแล้ว
ยกตัวอย่างเช่นกำแพงกักน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal Barrage) ที่เมืองลารองส์ (La Rance) ประเทศฝรั่งเศสนี้ มีใช้กันมาตั้งแต่ปี 1966 แล้วค่ะ เทคโนโลยีแบบนี้จัดว่ามีรูปแบบใกล้เคียงกับเขื่อนพลังงานน้ำแบบดั้งเดิมที่สุด ถ้าพูดอย่างง่ายๆ เจ้า “กำแพง” นี้ก็คือเขื่อนนี่เอง หลักการของมันง่ายมากค่ะ กำแพงกั้นน้ำชนิดนี้จะต้องสร้างที่ปากแม่น้ำ หรือปากอ่าวที่มีพื้นที่เก็บน้ำได้มาก เมื่อเวลาน้ำขึ้น น้ำในมหาสมุทรก็จะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจนเต็ม และกำแพงจะกักน้ำไว้จนกว่าจะหมดสภาวะน้ำขึ้น เมื่อน้ำลง ประตูระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำจะเปิดออก น้ำจะไหลจากพื้นที่สูงลงสู่พื้นที่ต่ำ และการไหลออกของน้ำนี้ก็จะหมุนกังหันเพื่อให้เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าทำงานไปด้วยค่ะ
คราวนี้หลายคนก็คงสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยของเราจึงไม่ใช้วิธีนี้บ้าง ในเมื่อประเทศอื่นเขาทำและประสบความสำเร็จกันมานานแล้ว เหตุผลก็คือ สภาพชายฝั่งของไทยไม่เอื้ออำนวยค่ะ หากจะใช้วิธีนี้ สถานที่ตั้งกำแพงกักน้ำจะต้องมีพิสัยน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่า 5 เมตรถึงจะคุ้มค่ากับการลงทุน ในขณะที่ประเทศไทยมีพิสัยน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดอยู่ที่ 2.5 เมตรเท่านั้น
ส่วนการใช้ประโยชน์จากพลังงานคลื่นนั้น ณ ปัจจุบันนี้ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่อยู่มาก ซึ่งเครื่องมือในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากคลื่นนี้ก็มีอยู่หลายแบบหลายดีไซน์ค่ะ แต่ละอันก็จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันไป แต่แบบที่ผู้เขียนอยากพูดถึงคือเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานคลื่นที่ชื่อว่า เพลามีส (Pelamis Wave Energy Converter) ค่ะ
เพลามีสนี้จัดเป็นอุปกรณ์ผลิตพลังงานจากคลื่นแบบลอย (Floating Devices) มีลักษณะเป็นเป็นแนวท่อต่อกันยาว 450 ฟุต ซึ่งแต่ละท่อจะถูกเชื่อมโดยข้อต่อขนาดใหญ่ เมื่อนำไปลอยไว้กลางมหาสมุทร เครื่องอัดระบบไฮโดรลิคภายในข้อต่อจะต้านทุกๆการเคลื่อนไหวของคลื่น และการเคลื่อนไหวนี้จะสูบฉีดน้ำมันที่มีความดันสูงผ่านมอเตอร์ไฮโดรลิค ซึ่งจะให้พลังงานกับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ สายส่งกระแสไฟฟ้าของมันยังทำหน้าที่ยึดให้ทุ่นเหล่านี้ติดไว้กับพื้นมหาสมุทรด้วยค่ะ ฟาร์มดักพลังงานคลื่นแห่งแรกของโลกที่ใช้เจ้าเพลามีสนี้ เพิ่งจะเปิดตัวไปในปลายปี 2008 ห่างจากชายฝั่งของประเทศโปรตุเกสออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร ฟาร์มพลังงานที่มีพื้นที่เพียงครึ่งตารางไมล์แห่งนี้ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนโปรตุเกสใช้กันได้ถึง 1,500 ครัวเรือนเชียวค่ะ
สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าเจ้าเพลามีสนี้รูปร่างเป็นยังไง ทำงานยังไง ขอแนะนำให้คลิ๊กเข้าไปดูที่ https://www.trueplookpanya.com/plook/www_04_1 และถ้าหากสนใจอยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆ ขอแนะนำให้คลิ๊กเข้าไปที่เว็บไซท์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานที่ https://www.dede.go.th/ ค่ะ
แม้มนุษย์จะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน แต่เราทุกคนก็ควรตระหนักว่าพลังงานทุกประเภทมีวันหมดไปจากโลก จึงควรใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ที่สุดนะคะ
จากนิตยสารปลูก โดย www.trueplookpanya.com ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2554