ความต้องการใช้ไฟฟ้าคืออะไร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 53.6K views



ความต้องการใช้ไฟฟ้าคืออะไร

              ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกักเก็บได้ และความต้องการไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน การไฟฟ้าจำเป็นต้องจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา

 

 

 

              ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าเพื่อนำไปพยากรณ์ ความต้องการไฟฟ้าระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อประเมินว่าความต้องการไฟฟ้า จะเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณเท่าใดในพื้นที่ส่วนไหน และจากผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มใด ทั้งนี้เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนขยายกำลังผลิตไฟฟ้า ระบบสายส่ง และระบบสายจำหน่าย ให้เพียงพอกับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

              ความจำเป็นของการพยากรณ์ความต้องการใช้ "ไฟฟ้า" ก็เช่นกัน เพราะไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญของการดำรงชีวิต ดังนั้น การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า หรือ Load forecast ไม่ว่าจะเป็นในระยะปานกลาง หรือในระยะยาว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นก้าวแรกในการเริ่มวางแผนการพัฒนาไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด รวมทั้งเพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนขยายกำลังผลิตไฟฟ้า ระบบสายส่ง และระบบสายจำหน่าย ให้เพียงพอกับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

              การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า คือ การพยากรณ์ค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) (เป็นค่าสูงสุดของความต้องการไฟฟ้า มีหน่วยเป็นเมกะวัตต์) และค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Energy) (เป็นปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละชั่วโมงตลอดทั้งปี มีหน่วยเป็นล้านหน่วย หรือ กิกะวัตต์-ชั่วโมง) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสมมติฐานที่สำคัญที่ใช้ในการพยากรณ์คืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ซึ่งได้พิจารณาในด้านการประหยัดพลังงาน (DSM) การสูญเสียในระบบ และการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

              การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในระยะยาวของประเทศ เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุกรรมการฯ ได้ทำการปรับปรุงค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงาน สภาพเศรษฐกิจ และข้อสมมุติฐานต่างๆ ในการจัดทำค่าพยากรณ์ฯ ที่เปลี่ยนไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้การจัดหาไฟฟ้าสูงหรือต่ำเกินไปจนเกิดผลเสียต่อประเทศชาติและผู้ ใช้ไฟฟ้าได้ ซึ่งหากพยากรณ์ฯ สูงเกินความเป็นจริง จะทำให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่สูงเกินความต้องการที่แท้จริง โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะถูกผลักสู่ค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระในที่สุด แต่หากพยากรณ์ฯ ต่ำกว่าความเป็นจริงจะทำให้เกิดไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้ ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าและสภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับปรุงค่าพยากรณ์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

              จากผลการศึกษาค่าพยากรณ์เศรษฐกิจไทยระยะยาวเบื้องต้นโดย สศช. รวมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้มีการจัดทำค่าพยากรณ์ GDP ในระยะยาว (เบื้องต้น) ไว้ 3 กรณี คือ กรณีสูง กรณีฐาน และกรณีต่ำ คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยจึง พิจารณาให้ใช้ GDP กรณีฐานเป็นเกณฑ์ในการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า สำหรับจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2010 โดยค่าพยากรณ์ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดเมื่อสิ้นปี 2564 มีค่าประมาณ 37,718 เมกะวัตต์ลดลงจากค่าพยากรณ์ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดที่ใช้ในการจัดทำแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ประมาณ 6,563 เมกะวัตต์ ในขณะที่ค่าพยากรณ์ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดเมื่อสิ้นสุดแผน PDP 2010 ในปี 2573 มีค่าประมาณ 52,691 เมกะวัตต์

 

 

ที่มา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

 

วิธีการคำนวณ

              วิธีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นพิจารณาจากการถือครอง และการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าวิธี End Use ซึ่งวิธีนี้จะต้องมีข้อมูลที่ใช้ประกอบการพยากรณ์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในภาพกว้าง เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจ จำนวนประชากร จำนวนครัวเรือน มาตรการของรัฐทางด้านไฟฟ้า เป็นต้น หรือข้อมูลในระดับย่อย เช่น การใช้ไฟฟ้าต่อมูลค่าเพิ่มของธุรกิจ และอุตสาหกรรมในระดับย่อย ประเภทของบ้านอยู่อาศัย ระดับรายได้ การใช้ไฟฟ้าและประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้า การขอใช้ไฟฟ้าและการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน หรือ BOI การใช้ไฟฟ้าต่อพื้นที่ใช้สอย อุณหภูมิ เป็นต้น

              โดยในการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้านั้น จะทำการพยากรณ์ทั้งค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand Forecast) ซึ่งเป็นค่าสูงสุดของความต้องการไฟฟ้าในแต่ละปี มีหน่วยเป็นเมกะวัตต์ (MW) และค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Energy Demand Forecast) ซึ่งเป็นปริมาณไฟฟ้าในแต่ละชั่วโมงตลอดทั้งปีมีหน่วยเป็นล้านหน่วย (GWh) เหตุที่ต้องพยากรณ์ทั้งสองค่านี้ เพราะว่าการไฟฟ้าต้องการทราบว่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณเท่าใด เพื่อใช้ในการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าหรือรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนทั้งภายในและต่าง ประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องทราบว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าในแต่ละปีเป็นปริมาณเท่าใด เพื่อใช้ในการวางแผนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

              ด้วยวิธีการเหล่านี้ ทำให้สามารถเห็นภาพรวมทั้งหมดของค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าได้ในทุกแง่มุม ว่า ค่าพยากรณ์ที่เพิ่มขึ้นมาจากส่วนไหน และมีลักษณะอย่างไร การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าดังกล่าว ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาของการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การมองภาพการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเป็นไปอย่างมีระบบและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สมมติฐานในการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553  มีรายละเอียดดังนี้ 

              1. กำหนดขอบเขตการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในช่วงปี 2553 – 2573
              2. ใช้ข้อมูลความต้องการไฟฟ้าที่เป็นค่าที่เกิดขึ้นจริงของปี 2552 ทั้งค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด(Peak) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy)

              3. ใช้ข้อมูลประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(Gross Domestic Products: GDP) เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าได้เห็นชอบให้ใช้ค่า ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจ (GDP) ดังนี้
                   ในช่วงสิ้น (ปี 2553 – 2554) ใช้ค่าประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจ (GDP) ที่สอดคล้องกับค่าที่ใช้ในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2554 ของทั้งสามการไฟฟ้า
                   ในช่วงยาว (ปี 2555 – 2567) ใช้ค่าประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจ (GDP) ระยะยาว จากผลการศึกษา (เบื้องต้น) ของโครงการศึกษาและจัดทำข้อมูลพยากรณ์เศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งมีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  (นิด้า) เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ภายใต้การกำกับดูแลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
                   สำหรับใน ปี 2568 – 2573 ใช้ค่าประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจ (GDP) เท่ากับค่า GDP ปี 2567 จากผลการศึกษาฯ (เบื้องต้น) ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

              4. ใช้ข้อมูลประมาณการปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก(Very Small Power Producer: VSPP) ประเภทพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน15 ปี ของกระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน 15 ปีนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 

              5. ใช้ข้อมูลแผนอนุรักษ์พลังงานตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รวบรวมและคำนวณโดยนำข้อมูลโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) ไปปรับลดความต้องการไฟฟ้าในระดับผู้ใช้ไฟฟ้า (Consumption) ทั้งนี้จะคำนึงถึงเฉพาะโครงการหรืออุปกรณ์ที่เป็นโครงการใหม่ซึ่งยังไม่รวม อยู่ในตัวแบบการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า

              ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ใช้ในการจัดทาแผน PDP 2010 ทั้งนี้ในภาพรวมจะเห็นว่า ณ ปี 2573 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) จะประมาณ 52,890 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.37 เท่าของปี 2552 (ซึ่งพลังไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นเท่ากับ 22,315.35 เมกะวัตต์) โดยอัตราการเพิ่มเฉลี่ยในปี 2553 – 2573 ประมาณร้อยละ 4.19 ต่อปี ส่วนความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Energy) จะประมาณ 347,947 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.38 เท่าของปี 2552 (ที่มีค่าพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 146,182 ล้านหน่วย) โดยอัตราการเพิ่มเฉลยในปี 2553 – 2573 ประมาณร้อยละ 4.22 ต่อปี ทั้งนี้ในระยะยาวจะมีค่าตัวประกอบการใช้ไฟฟ้า (Load Factor) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 74-75

              ในการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ใช้การจัดทำแผน PDP 2010 นี้ ได้พิจารณาถึงโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) ซึ่งเป็นโครงการหรือมาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิการใช้ไฟฟ้า โดยได้นำประมาณการผลการประหยัดไฟฟ้าที่คาดว่าจะประหยัดได้จากโครงการDSM (ที่เป็นโครงการใหม่) ไปปรับลดความต้องการไฟฟ้าในระดับผู้ใช้ไฟฟ้า (Consumption) จึงทำให้ค่า Elasticity ในอนาคตมีแนวโน้มที่ลดลง โดยจะลดลงจาก 1.36 ในปี 2553 เป็นประมาณ 0.99 ในปี 2573  

              ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับนี้ (ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับเดือนธันวาคม 2551 มีการเปลี่ยนแปลงในทางลดลง ทั้งนี้สาเหตุมาจากมการปรับปรุงค่าประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยระยะยาว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงเป็นผลให้ต้องการปรับปรุงค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ

              ในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้เกิดความแม่นยำที่สุดจะมีผลต่อวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่แม่นยำตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้ทั้ง 3 การไฟฟ้าสามารถวางแผนในการผลิตไฟฟ้าได้ถูกต้องและเหมาะสม หากคำนวณสูงเกินไปก็จะก่อให้เกิดภาระในการลงทุน แต่ในทางกลับกันหากคำนวณต่ำเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับได้ ดังนั้นจึงต้องจัดทำค่าการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สะท้อนตามความเป็น จริงมากที่สุด 

 

 

 

ที่มา คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า

 

ทำไมต้องมีกำลังผลิตสำรองไฟฟ้า

               กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) คือ กำลังผลิตไฟฟ้าที่มีเกินความต้องการไฟฟ้าในระดับหนึ่ง เพื่อเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในกรณีที่โรงไฟฟ้าหลักที่เดินเครื่องอยู่เกิด อุบัติเหตุไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้หรือหยุดซ่อมบำรุงรักษา หรือมีข้อจำกัดอื่นๆในการผลิตหรือส่งไฟฟ้า หรือความไม่แน่นอนในกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ

 

 

 

               ในการกำหนดระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง โดยทั่วไปหากกำหนดไว้สูงเกินไปก็จะเป็นภาระการลงทุนของ กฟผ. ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่ถ้ากำหนดไว้ต่ำเกินไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับได้ หากปริมาณสำรองมีไม่เพียงพอโอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับก็จะมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายประมาณ 60 บาท/หน่วย (kWh) ในขณะที่ค่าไฟฟ้าหน่วยละประมาณ 2.50 บาท เท่านั้น ดังนั้น การกำหนดระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเป็นหลักประกันการมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้ตลอดเวลา โดยต้องคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ความไม่แน่นอนต่างๆ และระยะเวลาก่อสร้างของโรงไฟฟ้าใหม่ด้วย ในปัจจุบัน กฟผ. กำหนดระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในอัตราร้อยละ 15 และโอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับมีไม่เกิน 1 วันต่อปี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากำลังการผลิตของประเทศมีเพียงพอ
วิธีคำนวณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง

               เนื่องจากระบบจะต้องมีไฟฟ้าที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ทุกเวลา รวมทั้งในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดด้วย ดังนั้นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะคิดจากส่วนที่เกินความต้องการไฟฟ้าสูงสุดไม่ใช่คิดจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยของปี

                
               กำลังผลิตพึ่งได้  (เมกะวัตต์)      =      กำลังผลิตติดตั้ง - Derate Capacity

               กำลังผลิตพึ่งได้ หมายถึง กำลังผลิตสูงสุดซึ่งระบบสามารถผลิตไฟฟ้าได้ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งภายใต้สภาวะแวดล้อมที่จำกัดจะคิดจากกำลังผลิตที่สามารถ ผลิตได้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละโรง สำหรับกำลังผลิตพึ่งได้ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะคิดจากความสามารถในการผลิตเมื่อ พิจารณาปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยคำนึงถึงข้อมูลของปริมาณน้ำในอดีตด้วย ส่วนกำลังผลิตพึ่งได้ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเป็นความสามารถในการผลิต เมื่อพิจารณาถึงสภาวะแวดล้อมหลายๆสภาวะ (ข้อจำกัดของสภาวะแวดล้อม) ที่ทำให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังผลิต (ในปัจจุบันกำลังผลิตพึ่งได้ของโรงไฟฟ้าจะใช้ค่า Contracted Capacity ซึ่งเป็นค่ากำลังผลิตที่โรงไฟฟ้าทำสัญญาไว้กับ กฟผ.) ดังนั้น กำลังการผลิตสำรองที่เหมาะสมจะเป็นเท่าใดจะขึ้นอยู่กับสภาพของโรงไฟฟ้าและ ข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าด้วย

หมายเหตุ : กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ จะรวมโรงไฟฟ้าที่กำลังซ่อมบำรุงรักษาด้วย เนื่องจากหลังจากซ่อมบำรุงแล้วสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก

               พลังงานไฟฟ้าที่สูญเสียในระบบ คือ พลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ผลิตและซื้อหักด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. จำหน่าย และหักด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้พลังงานไฟฟ้าที่สูญเสียในระบบกฟผ. ทั้งหมดจะเกิดการสูญเสียในระบบส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าแรงสูง โดยปกติจะมีค่าพลังงานไฟฟ้าที่สูญเสียในระบบประมาณ 2.0%

 

 

 ที่มาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

 

Peak Demand

 

             Peak Demand คือ ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 

             ความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak demand) อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate : TOU)

อัตราค่าไฟฟ้าจะถูกกำหนดราคาตามช่วงเวลาของการใช้ โดยในแต่ละสัปดาห์จะแบ่งออกเป็นช่วงคือ 

             1. ช่วง ON – PEAK เวลา 09.00 – 22.00 ของวันจันทร์ – วันศุกร์ ที่ไม่ใช่วันหยุดราชการปกติ
             2. ช่วง OFF- PEAK เวลา 22.00 – 09.00 ของวันจันทร์ – วันศุกร์ ที่ไม่ใช่วันหยุดราชการปกติ
             3. ช่วง OFF- PEAK เวลา 00.00 – 24.00 ของวันเสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ

             ค่า Peak จะคิดจากการใช้ไฟฟ้าสูงสุดโดยเฉลี่ยในระยะเวลา 15 นาที ค่าที่ส่งออกมาเป็นค่า peak คือค่าเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 1 เดือน

 

 

ที่มา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สภาวิศวกร