คู่มือพ่อแม่ดูแลลูกยุคไซเบอร์
บทละครจากชีวิตจริงของเด็กและพ่อแม่จำนวนหนึ่งที่ลูกติดเกมแล้วใช้ 10 ข้อปฏิบัติในการแก้ปัญหา เป็นแนวทางปฏิบัติง่ายๆ แต่ได้ผลสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยสถาบันสุขภาพจิต เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้ดำเนินการอบรมพ่อแม่ในการดูแลลูกติดเกมไปหลายรุ่น พบว่ากรอบแนวทาง 10 ข้อปฏิบัติ นี้ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากพอสมควร โดยพบว่าพ่อแม่เปลี่ยนแปลงตนเอง และส่งผลให้ลูกเปลี่ยนแปลง มีทั้งที่ลูกเลิกเล่นไปเลย ลดการเล่นลง หรือแม้แต่เล่นเท่าเดิมแต่มีความรับผิดชอบหรือมีสัมพันธภาพกับพ่อแม่ที่ดีขึ้น
ปัจจุบันปัญหาเด็กติดเกมกำลังแพร่กระจายอย่างมากในสังคมไทย พ่อแม่จำนวนมากเดือดร้อนกับลูกที่คลั่งไคล้การเล่นเกม ก่อให้เกิดผลกระทบหลายระดับตั้งแต่หมกมุ่นเล่นมากไปจนไม่กินไม่นอน การเรียนแย่ลง ไม่อ่านหนังสือ สอบตก โดดเรียน อารมณ์ที่เปลี่ยนไปตั้งแต่หงุดหงิดง่าย ไปจนก้าวร้าว เถียงพ่อแม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่า เป้าหมายของการแก้ไขปัญหาอยู่ที่เด็กต้องเห็นผลเสียของการติดเกม และต้องควบคุมตนเองให้ได้ นั่นไม่แปลกอะไร แต่การจะทำให้เด็กมีจิตสำนึกและพฤติกรรมเช่นนั้นต้องมาจากการลงมือแก้ไขปัญหาจากหลายๆจุด ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน รัฐ สื่อมวลชน รวมถึงทุกภาคของสังคม
เรื่องย่อ
2 ครอบครัวนี้เป็นเพื่อนกันและมีปัญหาเรื่องลูกติดเกมเหมือนกัน ครอบครัวแรกลูกเป็นเด็กโต เด็กคนนี้ชื่อว่าแม็ก แม็กเริ่มเล่นเกมด้วยความคิดสนุกๆ แก้เซ็งเพื่อผ่อนคลายจากการเรียน พอเล่นบ่อยเข้าเวลาที่ใช้เล่นก็ยิ่งมากขึ้นพอเวลาพ่อแม่ใช้อะไรก็จะพูดคำว่าเดี๋ยวก่อน จากนั้นแม็กก็ยิ่งใช้เวลาอยู่กับเกมมากขึ้น แม่ก็ชอบบ่นและต่อว่าแม็กด้วยวาจาที่รุนแรงขึ้น ส่วนพ่อก็มีแต่บอกแม่ว่าปล่อยๆลูกไปเถอะลูกต้องการพักผ่อนสมองเพราะลูกเรียนหนักแม็กยิ่งเล่นเกมหนักขึ้น ถึงกระทั่งหนีเรียนไปหาเพื่อนแล้วเล่นเกมที่ร้านอินเตอร์เน็ตกับเพื่อนกลับบ้านดึกๆ ขโมยเงินพ่อแม่เพื่อเอาไปเล่นเกม วันหนึ่งพ่อจับได้ว่าแม็กขาดเรียนกลับดึกเพราะ หนีไปเล่นเกม พ่อก็เลยตีแม็ก แทนที่แม็กจะสำนึกผิดแม็ก กลับโต้เถียงด้วยวาจาท้าทาย ในขณะที่แม็กกำลังเล่นเกม แม่บอกให้แม็กหยุดเล่นเกมและทำการบ้าน แต่แม็กไม่ยอมหยุดแม่เลยถอดปลั๊กเพื่อปิดเครื่องทำให้แม็กไม่พอใจเป็นอย่างมาก อีกครอบครัวหนึ่ง มีลูกชื่อเพชร เป็นเด็กประถมเล่นเกมเหมือนกันแต่เวลาพ่อแม่ใช้อะไรก็จะรีบทำให้เสร็จ แล้วก็รีบไปเล่นเกม แล้ววันหนึ่งแม่รู้ว่าเพชร นัดกับเพื่อนว่าจะแอบหนีไปเล่นเกม ด้วยเหตุนี้ ทั้ง 2 ครอบครัวเลยร่วมมือกันหาวิธีแก้ปัญหาเด็กติดเกม ได้แก่ การควบคุมการใช้เงิน สร้างพลังใจระหว่างพ่อกับแม่โดยการให้กำลังใจกันและกัน สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกด้วยการพูดคุยเรื่องเกมกับลูก สอดแทรกการสอนเรื่องระเบียบวินัยไปในตัวระหว่างพูดคุย กำหนดกฎกติการวมกันระหว่างลูกกับผู้ปกครอง สร้างรอยยิ้มเล็ก ๆ ในครอบครัวด้วยการทำกิจกรรมเล็ก ๆ ร่วมกัน
สรุป 10 ข้อปฏิบัติในการดูแล ช่วยเหลือเด็กติดเกมหรืออินเตอร์เน็ต
1.สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเด็ก
2.ลดโอกาสในการเขาถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต
3.ใช้มาตรการทางการเงิน
4.ฟังและพูดดีต่อกัน
5.จับถูกและชื่นชมความดีแม้เล็กๆน้อยๆ และให้กำลังใจ
6.ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม
7.มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้เด็ก
8.สร้างรอยยิ้มเล็กๆในครอบครัว
9.ควบคุมอารมณ์และสร้างพลังใจให้ตัวเอง
10.เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา...ทันที
การแก้ไข ต้องอดทน เรียนรู้ และทำให้ดีที่สุด
สิ่งที่สำคัญคือการป้องกันตั้งแต่ยังเล็กเพราะการป้องกันง่ายกว่าการแก้ไข
แหล่งที่มา : สถาบันสุขภาพจิต เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต