สถานภาพของบุคคลในสังคม
การที่เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของตนเอง เพื่อปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีและให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ดังนั้น นักเรียนจึงควรมีความรู้ในเรื่อง ต่อไปนี้
๑. สถานภาพ หมายถึง ตำแหน่งของบุคคลในสังคม ซึ่งเราต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสม บุคคลหนึ่งอาจมีหลายสถานภาพได้
๒. บทบาท หมายถึง การปฏิบัติตามหน้าที่สถานภาพที่มีอยู่ เช่น นายธงชัย มีสถานภาพเป็นบิดา บทบาทก็คือเลี้ยงดู ส่งเสียให้บุตรได้รับการศึกษา เป็นต้น
*สถานภาพและบทบาทมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน บุคคลที่อยู่ในสถานภาพใดก็จะต้องปฏิบัติตามบทบาทของตนให้สอดคล้องกับสถานภาพนั้น
๓. สิทธิ เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อให้บุคคลได้รับประโยชน์ และบุคคลเป็นผู้เลือกใช้สิทธิ โดยไม่มีผู้ใดมาบังคับได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดสิทธิของบุคคลไว้ ดังนี้
๑) บุคคลจะกล่าวหาด้วยข้อความหรือภาพ โดยละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นมิได้
๒) ทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า ๑๒ ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
๓) ทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
๔) เด็กและเยาวชน มีสิทธิได้รับความค้มครองจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
๕) บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และการช่วยเหลือจากรัฐ
๖) ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่ดี
๔. เสรีภาพ หมายถึง ความมีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ตามสิทธิที่มีอยู่ โดยไม่รุกล้ำสิทธิของผู้อื่น หรือขัดต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดเสรีภาพของบุคคลไว้ ดังนี้
๑) บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถานในการที่จะอยู่อาศัย และครอบครอง
๒) บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง ในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร
๓) บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย
๔) บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา
๕) บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเรียนรู้ การโฆษณา
๖) บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่ไม่ผิดกฎหมาย
๕. หน้าที่ หมายถึง สิ่งที่บุคคลพึงกระทำ หรืองดเว้นไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดสิทธิของบุคคลไว้ ดังนี้
๑) บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซื่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๒) บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
๓) บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
๔) บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษา อบรม พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บทบาทหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของจังหวัดและภาค
การเป็นสมาชิกที่ดีของจังหวัดและภาค จะต้องเป็นผู้ที่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ที่ตนจะต้องปฏิบัติต่อสังคมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
๑) มีความรักและภาคภูมิใจในจังหวัดและภูมิภาคของตน
๒) ช่วยกันรักษา พัฒนาจังหวัดและภูมิภาคของตนให้มีความเจริญและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่ประทับใจของผู้ที่พบเห็น
๓) เคารพและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายของชุมชนและประเเทศชาติ
๔) ร่วมมือกันอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม อันดีงามของจังหวัดและภาค
๕) เสียสละแรงงานหรือทรัพย์ส่วนตัวให้แก่ชุมชนของตนเอง ตามกำลังความสามารถและในโอกาสที่เหมาะสม
๖) ร่วมมือป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น
ที่มา: https://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/1619-00/