ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามทูลขอโทษให้ขุนแผน
เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้เป็นนิยายพื้นบ้านของสุพรรณบุรี ที่แต่งขึ้นจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า โดยแต่งเป็นบทกลอนสำหรับขับเสภาให้ประชาชนฟัง เมื่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่มีผู้แต่งไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเหลืออยู่เพียงบางตอนเท่านั้นเพราะถูกไฟไหม้และสูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงกับพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่2) จึงโปรดเกล้า ฯ ให้กวีหลายท่าน เช่น พระองค์เอง กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สุนทรภู่ ครูแจ้ง เป็นต้น ให้ช่วยกันแต่งเพิ่มเติมขึ้นโดยแบ่งกันแต่งเป็นตอน ๆ ไปจนจบเรื่อง
คุณค่าทางวรรณคดี
ขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องที่ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา มีสำนวนโวหารไพเราะ คมคาย มีคติเตือนใจ สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตและสังคมความเป็นอยู่ของคนไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย และยังให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย
ขุนช้าง พลายแก้ว และนางพิมพิลาไลย เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี อยู่ในละแวกบ้านเดียวกันและเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เล็ก ครั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พลายแก้วได้แต่งงานกับนางพิมพิลาไลย ส่วนขุนช้างหลงรักนางพิมพิลาไลยจึงคอยหาโอกาสจะช่วงชิงนางพิมพิลาไลยมาเป็นของตน
ขุนช้าง มีลักษณะรูปชั่วตัวดำหัวล้านมาแต่กำเนิด นิสัยเจ้าเล่ห์เพทุบายเป็นบุตรของขุนศรีวิชัยและนางเทพทองซึ่งมีฐานะร่ำรวยมาก ขุนช้างแม้จะเกิดมาเป็นลูกเศรษฐีแต่ก็อาภัพถูกแม่เกลียดชังเพราะอับอายที่มีลูกหัวล้าน จึงมักถูกแม่ด่าว่าอยู่เสมอและไม่ว่าจะเดินไปทางใดก็จะเป็นที่ขบขันล้อเลียนของชาวบ้านทั่วไปเสมอ พอเป็นหนุ่มก็ได้นางแก่นแก้วเป็นภรรยาอยู่ด้วยกันได้ปีกว่านางก็ตาย จึงหันมาหมายปองนางพิมพิลาไลยแต่นางไม่ยินดีด้วยและได้แต่งงานกับพลายแก้ว แต่ขุนช้างก็ยังไม่ลดความพยายามคงใช้อุบายจนได้แต่งงานกับนางสมใจปรารถนา
นางพิมพิลาไลย เป็นหญิงรูปงามแต่ปากจัดเป็นบุตรของพันศรโยธาและนางศรีประจันต่อมาได้แต่งงานกับพลายแก้วซึ่งภายหลังมีลูกชายด้วยกัน คือ พลายงาม ระหว่างที่พลายแก้วไปทำสงครามนางได้ป่วยหนักรักษาเท่าไรก็ไม่หาย ขรัวตาจูวัดป่าเลไลยได้ตรวจดูดวงชะตาและแนะนำให้เปลี่ยนชื่อเป็นนางวันทองอาการไข้ จึงหาย ต่อมานางถูกแม่บังคับให้แต่งงานใหม่กับขุนช้างทำให้ถูกประนามว่าเป็นหญิงสองใจ เมื่อมีคดีฟ้องร้องถึงสมเด็จพระพันวษา ซึ่งพระองค์ให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใครแต่นางตัดสินใจไม่ถูกจึงถูกสั่งประหารชีวิต
ขุนแผน เดิมชื่อพลายแก้วเป็นบุตรของขุนไกรพลพ่ายและนางทองประศรีมีรูปร่างหน้าตางดงามคมสัน สติปัญญาเฉลียวฉลาด นิสัยเจ้าชู้ มีดาบฟ้าฟื้นเป็นอาวุธประจำตัว พาหนะคู่ใจคือม้าสีหมอก ได้บวชเณรและเรียนวิชาที่วัดส้มใหญ่ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลยจนสุดท้ายไปเป็นศิษย์สมภารคง วัดแค มีความรู้ทางโหราศาสตร์ ปลุกผี อยู่ยงคงกระพันคาถามหาละลวยทำให้ผู้หญิงรักตลอดจนวิชาจากตำรับพิชัยสงคราม และยังมีความสามารถเทศน์ได้ไพเราะจับใจอีกด้วย ต่อมาสึกจากเณรแล้วแต่งงานกับนางพิมพาลาไลย ไม่นานก็ถูกเรียกตัวไปเป็นแม่ทัพรบกับเชียงใหม่ ครั้นได้ชัยชนะกลับมาก็ได้เป็นขุนแผนแสนสะท้านแต่ปรากฎว่าภรรยาแต่งงานใหม่กับขุนช้าง ภายหลังขุนแผนต้องโทษถูกจำคุกถึง 15 ปี จึงพ้นโทษ และทำสงครามกับเชียงใหม่อีกครั้งเมื่อชนะกลับมาก็ได้ตำแหน่งเป็นพระสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองกาญจนบุรี
ครั้งหนึ่งเกิดศึกเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ยกทัพมาตีเมืองเชียงของ ซึ่งเจ้าเมืองเชียงของมาขอขึ้นต่อสมเด็จพระพันวษาสมเด็จพระพันวษาจึงโปรดให้พลายแก้วเป็นแม่ทัพไปรบกับทัพเมืองเชียงใหม่ ระหว่างที่พลายแก้วไปสงคราม นางพิมพิลาไลยเกิดป่วยหนักครั้นหายป่วยแล้ว ขรัวตาจูให้เปลี่ยนชื่อเป็นนางวันทอง ส่วนขุนช้างได้ออกอุบายหลอกลวงนางศรีประจัน ซึ่งเป็นแม่นางวันทองและนางวันทองว่า พลายแก้วไปราชการสงครามเสียชีวิตแล้ว ทางราชการจะริบทรัพย์สมบัติและลูกเมียของพลายแก้วเป็นของหลวงทั้งหมด และได้สู่ขอนางวันทองต่อนางศรีประจัน นางศรีประจันได้ยกนางวันทองให้แก่ขุนช้าง
ส่วนพลายแก้วไปราชการสงครามได้ชัยชนะ และได้นางลาวทองลูกสาวนายบ้านจอมทองเป็นภรรยา เมื่อกลับจากราชการสงครามแล้ว สมเด็จพระพันวษาทรงแต่งตั้งพลายแก้วเป็นขุนแผนนายด่านเมืองกาญจนบุรี ขุนแผนพานางลาวทองกลับบ้าน นางลาวทองทะเลาะกับนางวันทอง ขุนแผนโกรธนางวันทองเมื่อทราบว่านางศรีประจันยกนางวันทองให้กับขุนช้าง ขุนแผนจึงพานางลาวทองกลับไปกาญจนบุรี
ต่อมาขุนแผนกับขุนช้างได้เป็นมหาดเล็กในพระราชวัง และได้สาบานจะเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ต่อกัน นางลาวทองอยู่ที่กาญจนบุรีเกิดล้มป่วย ขุนแผนทราบข่าวจึงฝากเวรไว้แก่ขุนช้างเพื่อไปเยี่ยมนางลาวทอง ขุนช้างจึงเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษากราบทูลว่าขุนแผนหนีเวร สมเด็จพระพันวษาทรงพิโรธจึงมีรับสั่งให้นำนางลาวทองมาไว้ในวัง และให้ขุนแผนออกตระเวนด่าน ขุนแผนจึงออกเที่ยวตระเวนด่าน และได้ของดี 3 อย่างคือ กุมารทอง ดาบฟ้าฟื้น และม้าสีหมอกด้วยความแค้นขุนช้าง ขุนแผนจึงขึ้นเรือนขุนช้าง และลักพานางวันทองหนีจากขุนช้าง และพาไปอยู่ด้วยกันจนนางวันทองตั้งครรภ์แล้วพาเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษาเพื่อแก้คดี ขุนแผนชนะความขุนช้าง
ต่อมาขุนแผนทูลขอนางลาวทองจากสมเด็จพระพันวษาเป็นเหตุให้สมเด็จพระพันวษากริ้วให้นำขุนแผนไปจำคุก ขุนช้างได้โอกาสจึงฉุดนางวันทองไปอยู่กับตน นางวันทองไปอยู่กับขุนช้างจนคลอดบุตรชายชื่อ พลายงาม ขุนช้างลวงพลายงามซึ่งเป็นลูกของขุนแผนไปฆ่าในป่าแต่ผีพรายบ่าวของขุนแผนมาช่วยป้องกันไว้ นางวันทองจึงให้พลายงามไปอยู่กับนางทองประศรีผู้เป็นย่าที่กาญจนบุรี เมื่อพลายงามโตขึ้นได้เล่าเรียนวิชาตามตำราของขุนแผนจนเก่งกล้าสามารถ และได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กต่อมาพระเจ้าล้านช้างได้ถวายนางสร้อยทองพระธิดาแด่สมเด็จพระพันวษาพระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพมาชิงนางไปแล้วมีหนังสือมาท้าสมเด็จพระพันวษา ให้ยกทัพไปชิงนางสร้อยทองคืน พลายงามจึงกราบทูลรับอาสาและขอตัวขุนแผนออกจากคุก เพื่อไปทำศึกกับพระเจ้าเชียงใหม่
ต่อไปนี้จะได้อ่านเรื่องขุนช้างขุนแผนตอน พลายงามทูลขอโทษให้ขุนแผน
บทร้อยกรอง
คำศัพท์
กริ้ว หมายถึง โกรธ เคือง
กลางหน หมายถึง กลางทาง
การุณ หมายถึง ความกรุณา
เกศา หมายถึง เส้นผม
โกลี หมายถึง อื้ออึง วุ่นวาย
โคตรปราณ หมายถึง ถวายชีวิตทั้งตระกูล
ฉันทา หมายถึง ความลำเอียง เพราะรักใครชอบใจ
ช้างเครื่อง หมายถึง ช้างที่ประดับเครื่องทรงสำหรับออกศึก
เดือดดาล หมายถึง โกรธมาก
ตรอง หมายถึง คิดทบทวน
นรบาล หมายถึง พระราชา ในที่นี้หมายถึง ผู้คุม
นายเวร หมายถึง นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร มีหน้าที่เป็นเลขานุการของผู้มีตำแหน่งสูงกว่าตน
บังคมคัล หมายถึง ไหว้
บัตรหมาย หมายถึง หนังสือเกณฑ์ของราชการ
ประภาษ หมายถึง ตรัส บอก พูด
พระพักตร์ หมายถึง หน้า
พระยายม หมายถึง หัวหน้ากรมในราชการทหาร
พัศดี หมายถึง ผู้บังคับการเรือนจำ ผู้ปกครองนักโทษ
ไพร่พล หมายถึง กำลังคน กำลังทหาร
ระบือ หมายถึง เลื่องลือ เอิกเกริก
ร่ายพระเวท หมายถึง เสกคาถาอาคม
ทารกรรม หมายถึง การกระทำที่ทำให้ได้รับความทุกข์
เลกทาส หมายถึง ชายฉกรรจ์ ที่เป็นทาส
วัวต่าง หมายถึง วัวบรรทุกสิ่งของ
สระสรง หมายถึง สระผมอาบน้ำ
สรวล หมายถึง หัวเราะร่าเริง
สุริยา หมายถึง พระอาทิตย์
สีหนาท หมายถึง พระราชดำรัสอันเป็นที่น่าเกรงขามของคนทั้งปวง
สำเหนียก หมายถึง ฟัง ได้ยิน
หรรษา หมายถึง ความรื่นเริง ความยินดี
หมู่หุ้มแพร หมายถึง ตำแหน่งยศมหาดเล็ก รองจ่าลงมา
อนุสนธิ์ หมายถึง การต่อเนื่อง สืบเนื่อง
อภิวาท หมายถึง การคำนับ การไหว้
อาภัพ หมายถึง ตกอับ วาสนาน้อย
อาสัญ หมายถึง ความตาย ตาย