ระบบสินเชื่อ สถาบันการเงิน และรายได้ของรัฐ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 23.4K views



ระบบสินเชื่อ สถาบันการเงิน และรายได้ของรัฐ ตอนที่ 1
ระบบสินเชื่อ สถาบันการเงิน และรายได้ของรัฐ ตอนที่ 2

     สถาบันทางการเงิน

     สถาบันการเงิน หมายถึง สถาบันที่ทำหน้าที่ระดมเงินออม ให้กู้ยืมแก่ผู้ที่ต้องการเงินไปเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการลงทุนดำเนินธุรกิจ โดยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ออม และคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืม

 สถาบันการเงินประเภทธนาคาร 
    - ธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) คือ สถาบันการเงินที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ให้มีฐานะเป็นธนาคารกลางของประเทศทำหน้าที่ควบคุมดูแลระบบการเงินการธนาคาร ของประเทศ เป็นสถาบันที่ดำเนินการโดยไม่แสวงหากำไร และไม่แข่งขันกับสถาบันการเงินของเอกชน
     หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
       1. ผลิตธนบัตรและออกธนบัตร
       2. เป็นนายธนาคารของรัฐบาล (ตัวแทนทางการเงินของรัฐ)
       3. รักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
       4. กำหนดนโยบายทางการเงินของประเทศ
       5. รักษาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
       6. กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
       7. ควบคุมดูแลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินต่าง ๆ
   - ธนาคารพาณิชย์ (commercla bank) คือ สถาบันการเงินภาคเอกชนที่มีความสำคัญที่สุดในประเทศไทย เพราะมีปริมาณเงินฝากและจำนวนเงินให้กู้สูงสุดเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยยอมให้ไม่ต้องใช้คำว่า “บริษัท” นำหน้า แต่ให้มีคำว่า “จำกัด” ไว้ท้ายชื่อเท่านั้น เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ธนาคารพาณิชย์ให้บริการด้านการเงินในด้านต่างๆ ดังนี้
      1. การรับฝากเงิน

      2. การปล่อยสินเชื่อ

      3. การโอนเงิน

      4. การเรียกเก็บเงิน

      5. การซื้อขายเงินตราระหว่าประเทศ

สถาบันการเงินประเภทไม่ใช่ธนาคาร
     1.บริษัทเงินทุน (finance company) เป็นบริษัทเงินทุนที่ทำหน้าที่ระดมเงินออมจากประชาชนทั่วไป โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำหน่ายแก่ประชาชนคล้ายกับการรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์ แต่อาจให้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
     2.กองทุนรวม (mutual fund) จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมเงินจากผู้มีเงินออมด้วยวิธีการจำหน่าย หน่วยลงทุน ให้แก่ผู้สนใจแล้วบริษัทจัดการกองทุนรวมจะรวบรวมเงินไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์ เช่น พันธบัตร หุ้นสามัญ หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น
     3.สหกรณ์การเกษตร เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาทุนให้สมาชิกกู้ยืมส่งเสริมการออมของสมาชิกช่วยเหลือสมาชิกด้านการจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตร และด้านการจำหน่ายผลิตผลของสมาชิก รวมทั้งส่งเสริมและเผยแพร่วิชาการเกษตรสมัยใหม่แก่สมาชิก
     4.สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินที่จดทะเบียนกับทางการโดยทำหน้าที่รับฝากเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย แล้วนำกำไรที่ได้รั้บจากการดำเนินงานมาแบ่งปันให้สมาชิกตามมูลค่าหุ้นที่หุ้นที่ถือและตามมูลค่าดอกเบี้ยเงินกู้ เงินทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ได้จากเงินค่าหุ้นของสมาชิก เงินฝากจากสมาชิก และเงินกู้จากสถาบันการเงินอื่นๆ แล้วนำเงินทุน ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน

    5.โรงรับจำนำ เป็นสถาบันการเงินขนาดเล็กที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งชุมชน ทำหน้าที่ให้กู้ยืมแก่ประชาชนทั่วไป โดยการรับจำนำสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งของใหม่และของที่ใช้แล้ว โรงรับจำนำมีอยู่ 3 ประเภท ตามลักษณะของผู้ดำเนินงาน คือ
      1. โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเอกชน
      2. โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์ เรียกว่า สถานธนานุเคราะห์
      3. โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเทศบาลหรือกรุงเทพมหานคร (กทม) เรียกว่า สถานธนานุบาล

    6. บริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2502 เพื่อจัดหาทุนให้กู้ระยะปานกลางและระยะยาวแก่กิจการอุตสาหกรรมต่างๆ 

      ระบบสินเชื่อ
     ระบบสินเชื่อ หมายถืง สภาพหนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนเงิน สินค้า หรือ บริการ โดยมีสัญญาตกลงกันว่าจะชำระหนี้ ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ตกลงกันไว้
     ประเภทสินเชื่อ
     สินเชื่อรัฐบาล คือ การที่รัฐบาลกู้ยืมเงินจากประชาชนในรูปของพันธบัตรเป็นการทำสัญญากู้ยืมเงินจากประชาชนในระยะยาว โดยที่รัฐบาลจะจ่ายเงินจำนวนนั้นคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยจำนวนหนึ่งในระยะเวลาที่กำหนด
     สินเชื่อการเกษตร คือ การให้เงินกู้แก่เกษตรกร โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
     สินเชื่อส่วนบุคคล คือ การซื้อสินค้าหรือบริการแล้วค่อยชำระเงินภายหลัง การกู้เงินจากธนาคารหรือจากสถาบันการเงินอื่น ๆ หรือการกู้ยืมในรูปของบัตรเครดิต
     สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คือ การกู้เพื่อซื้อที่ดิน หรือปลูกสร้างบ้าน เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนาน เพื่อให้เงินที่ต้องชำระในแต่ละงวดนั้นเป็นเงินก้อนที่เล็กลง เพื่อให้ผู้ขอกู้สามารถชำระคืนได้

     ผลดีและผลเสียของระบบสินเชื่อ
     ผลดี    -ทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากในครั้งเดียว เมื่อซื้อสินค้าที่มีราคาแพง เช่น บ้าน รถยนต์
               -ทำให้พ่อค้าขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะเป็นการขายผ่อนส่ง
               -ทำให้ธุรกิจไม่ชะงัก เพราะมีเงินหมุนเวียนตลอดเวลา
     ผลเสีย -ทำให้ผู้ซื้อต้องซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ย
               -เป็นการส่งเสริมให้ผู้ซื้อมีนิสัยฟุ่มเฟือยและใช้จ่ายเกินฐานะ

 ที่มา: https://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/1695-00/