วันสำคัญทางพุทธศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 42.4K views



วันสำคัญทางพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา


วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 หากปีใดเป็นปีอธิกมาส คือ ปีที่มีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปในวันขึ้น 15 เดือน 4 มาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า มาฆปุรณมีบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 (มาฆปุรณมี อ่านว่า มา-คะ-ปุ-ระ-นะ-มี)

จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ 4 คือ มีเหตุการณ์กิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ (จาตุรงคสันนิบาต อ่านว่า จา-ตุ-รง-คะสัน-นิ-บาด) ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือเรียกว่าวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เสวยมาฆฤกษ์ อ่านว่า สะ-เหวย-มา-คะ-เริก)

1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
2. พระสงฆ์ที่มาประชุมนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์
3. พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า
4. พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ

การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และใจ
การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

กิจกรรมในวันมาฆบูชา

- ใส่บาตรพระสงฆ์ในตอนเช้า
- ฟังพระธรรมเทศนา
- รักษาศีล 5 หรือ ศีล 8
- ร่วมเวียนเทียนที่วัดในตอนค่ำ

สรุปเหตุการณ์ในวันมาฆบูชา

1. เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง
2. มีพระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
3. พระสงฆ์เหล่านั้น พระพุทธเจ้าทรงบวชให้
4. พระสงฆ์เหล่านั้น เป็นพระอรหันต์



วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หากปีใดตรงกับปีอธิกมาส ก็จะเลื่อนเป้นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7  พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน ในวันขึ้น  15 ค่ำ เดือน6 ทรงพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ พราหมณ์ทั้งหลายต่างทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ว่า ถ้าเป็นฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิและถ้าทรงออกผบวชจะเป็นศาสดาเอกของโลก

เมื่อประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาทรงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบหมาย ให้พระนางปชาบดีโคตรมีได้ทรงดูแลเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะ พระเจ้าสุทโธทนะมีพระราชประสงค์ ให้เจ้าชายครองราชย์สมบัติ จึงทรงเลี้ยงดูอย่างดี เมื่อเจ้าชายมีพระชมน์ได้ 16 พรรษา ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา (ยโสธารา)  พระนางพิมพมทรงประสูติพระโอรสซึ่งมีพระนามว่า ราหุล

เจ้าชายได้เสด็จประพาสเมืองทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตายและสมณะ ได้สร้างความทุกข์พระทัยให้กับพระองค์เป็นยิ่งนัก พระองค์มีประสงค์จะหลุดพ้นจากความทุกข์ จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวชโดยมีนายฉันนะเป็นผู้ติดตามและทรงม้ากัณฐกะเสด็จยังริมฝั่งแม่น้ำอโนมา

พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยา อันเป็นการทรมานร่างกาย โดยมีพราหมณ์ 5 คน คอยปรนนิบัติรับใช้ พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยานาน 6 ปี ก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จทรงเลิกวิธีการดังกล่าว กลับมาเสวยพระกระยาหารและทำพระวรกายให้แข็งแรงแล้วบำเพ็ญเพียรสมาธิ ทรงเห็นว่าการปฏิบัติทุกรกิริยานั้นไม่สามารถค้นพบหนทางแห่งการดับทุกข์ได้ จึงกลับมาเสวยพระกระยาหารดังเดิม โดยได้รับการถวายข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา

พระองค์ทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 ด้วยหลักธรรมอริยสัจ 4 และทรงพระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อริยสัจ 4

ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
นิโรธ คือ การดับทุกข์
มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์

พระองค์ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา 45 ปี  พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ เมืองกุสินารา เมื่อพระชมมายุได้ 80 พรรษา  พ.ศ. 2540 ที่ประชุมองค์การพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์แห่งโลก องค์การสหประชาชาติมีมติให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก

กิจกรรมในวันวิสาขบูชา

1. ร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ในตอนเช้า
2. ฟังพระธรรมเทศนา
3. รักษาศีล 5 ศีล 8
4. เวียนเทียนที่วัดในตอนค่ำ

สรุปเหตุการณ์ในวันวิสาขบูชา

เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน



วันอาสาฬหบูชา

คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระองค์ทรงตระหนักถึงธรรมะที่ทรงตรัสรู้ว่ายากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม  พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแบ่งมนุษย์ ออกเป็น 4 ประเภท พวกแรกเป็นผู้ที่มีปัญญาสูงฉลาดเมื่อได้ฟังธรรม อันลึกซึ้งก็สามารถเข้าใจได้ทันทีเปรียบดั่งดอกบัวที่ปริ่มน้ำ เมื่อได้รับแสดงจากดวงอาทิตย์ ก็จะบานทันที

พวกที่สอง เป็นพวกที่มีระดับสติปัญญารองลงมาเมื่อได้ฟังคำอธิบายซ้ำ ก็จะเข้าใจเปรียบดังดอกบัวที่โผล่เหนือน้ำพร้อมที่จะบานในวันต่อไป

พวกพี่สาม เป็นผู้ที่มีปัญญาในระดับต่ำฉลาดเล็กน้อยพอที่จะสอนให้เข้าใจได้แต่ต้องใช้เวลาเปรียบเทียบเหมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหลายวันจึงโผล่พ้นขึ้นเหนือน้ำ

พวกพี่สี่ เป็นพวกที่มีระดับปัญญาต่ำสุดไม่อาจจะเรียนรู้ให้เข้าใจได้โดยงาย เปรียบเหมือนดอกบัว ที่อยู่ก้นสระมีแต่จะเป็นอาหารของปู ปลา ก่อนที่โผล่ขึ้นเหนือน้ำ

พระพุทธเจ้าทรงเดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ที่เมืองพาราณสี เพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาที่ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมเป็นแรกคือ โกณฑัญญะซึ่งได้กลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา

กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา

1. ร่วมใส่บาตรพระสงฆ์ในตอนเช้า
2. ฟังพระธรรมเทศนา
3. เวียนเทียนที่วันในตอนค่ำ

สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชา

1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้า แสดงธรรมเป็นครัง้แรกที่เรียกกว่าปฐมเทศนา โดยหลักธรรมที่แสดงนั้นมีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
2. เป็นวันที่มีพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนาคือ โกณทัญญะ
3. ทำให้วันอาสาฬหบูชา มีพระรัตนตรัยครบ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์



วันเข้าพรรษา

การเข้าพรรษา คือ การที่พระภิกษุอยู่ประจำวัดตลอดช่วงของการเข้าพรรษา เป็นเวลา 3 เดือน ปุริมพรรษา เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

ปัจฉิมพรรษา เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

พระสาวกในพระพุทธศาสนาได้ออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยไม่มีวันหยุด เมื่อถึงฤดูฝน พระสงฆ์ต่างก็ยังเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในช่วงฤดูฝนนั้นก็เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้เริ่มทำการเพราะปลูก การเดินทางเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เพราะได้เหยียบย่ำพืชผลที่ปลูกไว้

อีกทั้งการเดินทางในช่วงฤดูฝนก็ไม่ค่อยสะดวกนัก บางครั้งอาจเจอสัตว์มีพิษหรือเดินเหยียบย่ำสัตว์ตัวเล็ก ๆพระพุทธเจ้าจึงได้บัญญติให้มีการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ตลอดช่วงเข้าพรรษา กรณีที่มีกิจธุระจำเป็นจะต้องเดินทางไปค้างแรมที่อื่นนั้น สามารถไปได้ไม่เกิน 7 วัน เรียกว่า สัตตหะ (สัด-ตะ-หะ) ตลอดระยะเวลาในการเข้าพรรษานั้นพระสงฆ์จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด พุทธศาสนนิกชน จะทำการถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้ผลัดเปลี่ยนในช่วงเข้าพรรษา และของใช้ที่จำเป็นอย่างอื่นสำหรับพระสงฆ์ เช่นเครื่องอัฎฐบริขาร (อัด-ถะ-บอ-ริ-ขาน) อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฎิ เข็ม บาตร รัดประคด หร้อมกรองน้ำ มีดโกน รวมถึงการถวายเทียนให้แก่พระสงฆ์ เพื่อใช้ตลอดช่วงเข้าพรรษา จนกลายเป็นประเพณีแห่เทียนพรรษาจนถึงปัจจุบันนี้

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่จัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ได้งดงามและยิ่งใหญ่ทุกปี จนกลายเป็นประเพณีประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงมาก

กิจกรรมในวันเข้าพรรษา

1. ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า
2. รักษาศีลและปฏิบัติธรรม เพื่อให้จิตใจบริสุทธิ์ ผ่องใส
3. ฟังพระธรรมเทศนาที่วัด

สรุปเหตุการณ์ในวันเข้าพรรษา

1. พระสงฆ์อยู่ประจำวัดเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงฤดูฝน
2. พุทธศาสนิกชนร่วมกันถวายเทียนจำนำพรรษา หรือการทำสังฆทานหรือการถวายเครื่องอัฎฐบริขาร



วันออกพรรษา

วันออกพรรษา เป็นวันที่สิ้นสุดการจำพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะประกอบพิธีการทำสังฆกรรม (สัง-คะ-กำ) ซึ่งเรียกว่าการทำปวารณา (ปะ-วา-ระ-นา) คือ พระภิกษุจะสามารถว่ากล่าวตักเตือนกันได้

กิจกรรมในวันเข้าพรรษา

1. ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า
2. ถวายสังฆทาน
3. ฟังพระธรรมเทศนา

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

1. ตักบาตรเทโว ตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 11
2. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว ได้เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์
3. เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ ณ เมือง สังกัสสนคร (สัง-กัด-สะ-นะ-คอน) การเสด็จลงมาจากสวรรค์ครั้งนั้น เรียกว่า เทโวโรหณะ พุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสต่างพร้อมใจกันไปรับเสด็จ จนเกิดเป็นประเพณีตักบาตรเทโว

พิธีทอดผ้าป่า

พระภิกษุในสมัยโบราณจะนำผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้วมาตัดเย็บและย้อมทำเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฎิ บางครั้งชาวบ้านก็นำผ้าที่พระสงฆ์จำเป็นต้องใช้ไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่าง ๆ เมื่อพระสงฆ์มาพบก็จะนำมาทำเป็นสบง หรือจีวร  พิธีทอดผ้าป่าของไทยได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4

สรุปเหตุการณ์

1. เป็นวันพระสงฆ์เสร็จสิ้นจากการจำพรรษาซึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน
2. ในวันออกพรรษาได้เกิดประเพณีที่สำคัญ คือ
    2.1 ประเพณีการตักบาตรเทโว
    2.2 ประเพณีการทอดผ้าป่า


ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน