การประดิษฐ์ท่ารำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 42.8K views



การประดิษฐ์ท่ารำ 1/2
การประดิษฐ์ท่ารำ 2/2
การประดิษฐ์ท่ารำประกอบการเรียนการสอนวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ ชุดฟ้อนมาลัยศรีมหาชนะชัย กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (The Creation of Thai Dancing for Sytdying in the Classical Dance and Musical Subject Series "Fon Mali Srimahachanachai" by Art Department)


ปรากฏการณ์ ณ โรงเรียนมหาชนะชัย

โรงเรียนมหาชนะชัย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๗๑ ถนนเรืองแสนกรรฐ์ ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร นอกจากจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ จัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๕ แล้วยังได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการสร้างสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิดด้วยการจัดกิจกรรมทางด้านนาฏศิลป์พื้นบ้านซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบสานมาแต่โบราณกาลของชาวบ้านตำบลฟ้าหยาดจนประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนานวัตกรรมที่บูรณาการได้จริงทั้งความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี โดยมีนายเกรียงเดช  กัลปดี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน


ข้อค้นพบ  :  ต้นคิดของแนวทางการพัฒนา

การที่โรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนดั้งเดิมเป็นข้อได้เปรียบประการหนึ่งในเรื่องของการที่ชุมชนได้มีการอนุรักษ์สืบสาน สร้างสรรค์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงานสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่ตำบลฟ้าหยาดมีประเพณีแห่มาลัยหรือแห่พวงมาลัยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งเมื่อถึงเดือนสามก่อนวันมาฆะบูชาขงทุกปีชาวบ้านจะนำข้าวตอกมาร้อยเป็นมาลัยขนาดต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา มีการรำฟ้อนสนุกสนานรื่นเริงก่อนนำมาลัยไปถวาย ด้วยท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบเฉพาะของตนเอง

โดยธรรมชาติแล้วเด็ก ๆ ซึ่งเป็นผู้เรียนของโรงเรียนมหาชนะชัยมีความสนใจในนาฏศิลป์พื้นบ้านเป็นทุนเดิมทางสังคมอยู่บ้างแล้ว เมื่อโรงเรียนเปิดโอกาสให้ด้วยการจัดตั้งชมรมดนตรีและนาฏศิลป์ขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสนใจและมีความถนัดด้านศิลปะการเล่นดนตรีพื้นบ้านและการฟ้อนรำ จึงเป็นโอกาสดีของชีวิตที่จะได้แสดงความสามารถในสิ่งที่ตนเองถนัดให้ปรากฏ


การพัฒนานวัตกรรม

นอกจากการอนุรักษ์ สืบสาน นาฏศิลป์พื้นบ้านแล้วเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์และการพัฒนา นายเกรียงเดช  กัลปดี ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาชนะชัย ยังได้ดำเนินการให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะให้มีการประดิษฐ์ท่ารำ ซึ่งหมายถึง การคิด จัดทำ และการสร้างกิริยาอาการท่าทางที่เกี่ยวกับการแสดงเพื่อสื่อความหมายแทนคำพูดเป็นลักษณะของการตีบท หรือใช้ภาษานาฏศิลป์ในท่ารำของไทยที่เป็นแบบแผนมาตั้งแต่ดั้งเดิม สำหรับท่าฟ้อนมาลัยที่ชาวบ้านคิดค้น สืบสานมาจนถึงปัจจุบันที่ร่วมในขบวนแห่นั้น มี ๕ ท่า ได้แก่ ท่าไหว้ ท่าคั่วข้าว ท่าร่อนข้าวตอก ท่าร้อยพวงมาลัย และท่าแห่พวงมาลัย

เพื่อเป็นการต่อยอดภูมิปัญญา โรงเรียนมหาชนะชัยได้พัฒนาท่ารำและพัฒนาการแต่งกาย ดนตรีเพิ่มเติมแล้วตั้งชื่อชุดฟ้อนที่พัฒนาขึ้นใหม่ว่า "ฟ้อนมาลัยศรีมหาชนะชัย" เพื่อใช้พัฒนาการจัดการเรียนวิชาดนตรีนาฏศิลป์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โดยสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ไว้ใน ๕ ส่วน ได้แก่
     ๑.  คู่มือการประดิษฐ์ท่ารำประกอบการเรียนการสอน วิชาดนตรีและนาฏศิลป์ ชุดฟ้อนมาลัยศรีมหาชนะชัย
     ๒.  แผนการเรียนรู้ เรื่อง ฟ้อนมาลัยศรีมหาชนะชัย
     ๓.  แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
     ๔.  แบบวัดภาคปฏิบัติ วิชาดนตรีและนาฏศิลป์ ชุดฟ้อนมาลัยศรีมหาชนะชัย
     ๕.  แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียนต่อการจัดการเรียนการสอน


บทสรุปของความสำเร็จ

ผลจากการจัดทำนวัตกรรม การประดิษฐ์ท่ารำประกอบการเรียนการสอนวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ ชุดฟ้อนมาลัยศรีมหาชนะชัย กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะทำให้ได้ชุดนวัตกรรมนาฏศิลป์สำหรับใช้ในการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ได้แก่
     - คู่มือการประดิษฐ์ท่ารำประกอบการเรียนการสอนวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ ชุดฟ้อนมาลัยศรีมหาชนะชัย
     - แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ฟ้อนมาลัยศรีมหาชนะชัย กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
ในส่วนของผู้เรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาการเรียนรู้นาฏศิลป์ทั้งจากครูโดยตรงและสื่อสำหรับการฝึกทักษะการฟ้อนมาลัยที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝน เพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง จนสามารถเผยแพร่ผลงานการฟ้อนมาลัยต่อสาธารณชนได้อย่างสวยงาม