การบริหารจัดการบ้านทักษะชีวิตในโรงเรียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 13.2K views



การบริหารจัดการบ้านทักษะชีวิตในโรงเรียน 1/2
การบริหารจัดการบ้านทักษะชีวิตในโรงเรียน 2/2

การบริหารจัดการบ้านทักษะชีวิตในโรงเรียน

ปรากฏการณ์ ณ โรงเรียนมีนบุรี
โรงเรียนมีนบุรี ตั้งอยู่ที่ ๓๖ หมู่ ๑ ถนนสีหบุรานุกิจ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร สังกัดกรุงเทพมหานคร ที่จัดการศึกษาและพัฒนาการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยนางสาวสุมณฑา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

ข้อค้นพบ : ต้นคิดของแนวทางการพัฒนา
จากการออกแบบสอบถามความต้องการต่อความคาดหวังของนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ไปแล้วพบว่าจำนวนผู้ปกครองร้อยละ ๘๒.๐๐ คาดหวังให้นักเรียนเป็นคนดีของสังคม ร้อยละ ๑๘ .๐๐ คาดหวังให้นักเรียนสามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียง ในส่วนของโรงเรียนซึ่งมีนักเรียนจำนวน ๒,๖๕๖ คน จำนวนห้องเรียนต่อนักเรียนเท่ากับ ๑ : ๔๓ ทำให้การจัดการเรียนการสอนในแบบปกติมีอาจตอบสนองความมุ่งมั่นของโรงเรียนได้

การพัฒนานวัตกรรม
จากข้อค้นพบข้างต้นทำให้ผู้บริหารของโรงเรียนมีนบุรีคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการบ้านทักษะชีวิตในโรงเรียนขึ้นเพื่อให้เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในโรงเรียน โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน

คำว่า บ้านทักษะชีวิตในโรงเรียนนั้น หมายถึงการจัดกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ – ๖ ให้อยู่รวมกันเรียกว่าสมาชิกในบ้านทุกคนมีบทบาทเป็นพี่เป็นน้องในครอบครัวเดียวกัน โดยมีครูประจำบ้านทำหน้าที่เป็น พ่อ แม่ ประจำบ้าน ส่วนนิยามของคำว่า ทักษะชีวิต ( Life Skill ) หมายถึงความสามารถที่ประกอบไปด้วยความรู้ เจตคติ ทักษะที่จะจัดการกับปัญหารอบ ๆ ด้าน ในสภาพสังคมปัจจุบันและเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคตไม่ว่าเรื่องเพศ สารเสพติดบทบาทชายหญิง ชิวิตครอบครัว สุขภาพ อิทธิพลสื่อ สิ่งแวดล้อม จริยธรรม และปัญหาสังคม

บทสรุปของความสำเร็จ
จากความมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการบ้านทักษะชีวิตในโรงเรียนมีนบุรีประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ดังนี้
    ผู้เรียน : มีความเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการแบ่งปัน ให้การช่วยเหลือและรู้จักการพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และอื่นๆ ที่ประเมินผลได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์
    ครู : เกิดการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ มีกิจกรรมเชิงบูรณาการ ยึดหยุ่นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามความต้องการมากยิ่งขึ้น
    ผู้บริหารสถานศึกษา : มีนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในการเสริมสร้างคุณธรรม ความรับผิดชอบของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่สำคัญให้แก่สังคมโดยรวมไปพร้อม ๆ กัน
    ผู้ปกครองและชุมชน : ได้รับประโยชน์อย่างสมบูรณ์ บุตร หลานได้รับทั้งความรู้ ทักษะ และเจตคติจากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้มีความหวังในอนาคตของบุตรหลานมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา