สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 16.4K views




สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ 

     “พฤษภกาษร                 อีกกุญชรอันปลดปลง 
โททนต์เสน่งคง                   สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย                     มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี                    ประดับไว้ในโลกา 
ความดีก็ปรากฏ                   กฤติยศฤาชา
ความชั่วก็นินทา                   ทุรยศยืนขจร”

สุภาษิตบทนี้มักถูกยกขึ้นมาเสมอเมื่อผู้พูดหรือผู้เขียนต้องการเน้นให้มนุษย์ทุกคนพึงระลึกถึงผลที่แต่ละคนพึงจะได้รับ  หลังจากชีวิตตนดับสูญ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันระหว่างคนที่ทำความดีกับคนที่ทำความชั่ว  และแม้ว่าเวลาจะผ่านมานานถึงกว่าสองร้อยปีแต่สุภาษิตบทนี้ก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทย ผู้ทรงพระนิพนธ์บทกลอนนี้คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ และเป็นรัตนกวีของชาติอีกพระองค์หนึ่ง  ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานด้านวัฒนธรรมดีเด่นของโลก  ทรงมีอัจฉริยภาพมากถึงเพียงนี้  เราจึงขอนำพระประวัติและผลงาน ของพระองค์มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าการรู้จักเพียงกลอนสุภาษิตที่ยกมาข้างต้น  ดังนี้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๑ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๓๓๓  พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าวาสุกรี  ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยลำดับ ในสำนักของสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ   ภายหลังจากสมเด็จพระวันรัตฯ  ผู้เป็นพระอาจารย์มรณภาพ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีสงฆ์ ปกครองวัดพระเชตุพนฯ  เป็นพระราชาคณะ และสถาปนาขึ้นเป็น “กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์” ในเวลาต่อมา เนื่องจากทรงมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านพุทธศาสตร์ อักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณี จากการที่ได้ทรงอุตสาหะศึกษาวิชาการต่างๆ อย่างจริงจังมาโดยตลอด 

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ  มีอยู่มากมาย  แต่ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเยี่ยมในการแต่งกาพย์ โคลง  ฉันท์  และลิลิต   ประมวลพระนิพนธ์นับแต่ได้ทรงเริ่มในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว มีดังนี้

- ฉันท์ ๗ เรื่อง  ได้แก่ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์, จักรทีปนีตำราโหราศาสตร์,  ตำราฉันท์วรรณพฤติ และมาตราพฤติ, ฉันท์กล่อมช้างพัง, ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี, สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย และสรรพสิทธิ์คำฉันท์
- โคลง ๗ ได้แก่ โคลงจารึกศาลาราย, โคลงจารึกศาลาหน้าพระมหาเจดีย์, โคลงกลบท, โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน, โคลงฤาษีดัดตน, โคลงภาพคนต่างภาษา, ร่ายและโคลงบานแผนก
- ลิลิต ๒ เรื่อง  ได้แก่ลิลิตเตลงพ่ายและลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตรา
- ร่าย ๔ เรื่อง  ได้แก่มหาชาติ ๑๑ กัณฑ์ (เว้นกัณฑ์มหาพนและมัทรี), ปฐมสมโพธิกถา, คำขวัญนาคหลวง และประกาศบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔
- กาพย์ ๑ เรื่อง คือกาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
- กลอน ๑ เรื่อง คือเพลงยาวเจ้าพระ
- ความเรียง ๓ เรื่อง ได้แก่พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป,  พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยูยาและ คำฤษฎี

พระนิพนธ์ชิ้นเอก  ได้แก่  ลิลิตเตลงพ่าย   เนื้อเรื่องพรรณาถึงความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงปกป้องคุ้มครองแผ่นดินให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขด้วยทศพิธราชธรรม  ทรงสามารถนำเหตุการจากประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยามาผูกถ้อยคำได้สละสลวย มีการเล่าคำโวหารอุปมาอุปมัย และโน้มน้าวอารมณ์ได้เป็นเยี่ยม  เช่น

     สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง                 ยามสาย 
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย                       ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย                                 วางเทวษ  ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                         หยุดได้ฉันใด

การเล่นอักษร เช่น

     กระเต็นกระตั้วตื่น                     แตกคน 
ยูงย่องยอดยูงยล                           โยกย้าย
นกเปล้านกปลีปน                          ปลอบแปลก  กันนา
คล่ำคล่ำคลิ้งโคลงคล้าย                 คู่เคล้าคลอเคลียฯ

ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอาจารย์ของพระองค์ขึ้นเป็น “กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์”  ให้ทรงปกครองสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร  พอถึงปี ๒๓๙๔ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ก็ทรงประชวรด้วยพระโรคชราและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๓๙๖   และในปี  ๒๔๖๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ซึ่งทรงโปรดในทางกวี และทรงนับถือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ มาก ได้สถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส”

เกร็ดเรื่อง   ถ้ามีการพูดถึงเพลงยาว  ผู้คนมักจะนึกถึงจดหมายรักของคนสมัยก่อน  แต่สำหรับ “เพลงยาวเจ้าพระ”  ซึ่งเป็นพระนิพนธ์กลอนเพียงเรื่องเดียวของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสแล้ว กลับเป็นเพลงยาวที่ให้คุณประโยชน์ในการสั่งสอน  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                                                                  “ได้ยลอุบลลักษณ์เป็นอักษร
ซึ่งพระหลานบรรหารพจน์เป็นบทกลอน           ก็อวยพรศรีสวัสดิ์ให้วัฒนา
จงเชี่ยวชาญการกวีวิธีปราชญ์                          เฉลียวฉลาดตรองตรึกที่ศึกษา
ให้จะแจ้งทุกแห่งเห็นเจนจินดา                       อย่าโรยราอุตสาหะสละเพียร
ซึ่งไม้ม้วนมีถ้วนยี่สิบสรรพ                              กว่านั้นนับมลายล้วนไม่ควรเขียน
อักษรสานตามตำหรับฉบับเรียน                      ให้ชำเนียนชำนิชัดสันทัดแท้
ทั้งโทเอกเลขเจ็ดกับกากะบาด                        ทัณฑฆาตต่ายคู้รู้จงแน่
สำเนียงสูงต่ำนั้นอย่าผันแปร                            ถ้าฉวยแชแล้วสิเชือนชักเปื้อนปน
อันสามสอพ่อจงท่องให้คล่องไว้                      ชอบที่ใช้ตามบังคับไม่สับสน
สังเกตุผิดลิขิตเพี้ยนเขียนนิพนธ์                       นักปราชญ์ยลเย้ยสรวลจะชวนอาย”



ที่มา - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ของนงพงา สุขวนิช : สดุดีบุคคลสำคัญ เล่ม ๒  ของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติฯ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๒๖
       - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ของวนิดา สถิตานนท์ : อนุสาร อสท. ๕ ธ.ค. ๒๕๓๓



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท  เรื่อง  "สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ