ร.๕ กับงานพัฒนาเร่งด่วน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5.3K views




ร.๕ กับงานพัฒนาเร่งด่วน

วันปิยมหาราชจะเวียนมาถึงในวันที่ ๒๓ ตุลาคมนี้ ความสำคัญของวันนี้คือเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยอันสืบเนื่องมาจากคุณูปการที่ทรงมีต่อพสกนิกรและชาติบ้านเมืองมากมายมหาศาล  ซึ่งประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม 

ถ้าจะกล่าวถึงคุณูปการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อประชาชนและชาติบ้านเมือง   ส่วนใหญ่จะนึกถึงเรื่องที่ทรงเลิกทาสก่อนเรื่องอื่น  เพราะอิสรภาพเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์   แต่การเลิกทาสซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจเด่นที่สุดนี้  ยังเป็นเพียงส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาคน  ของพระองค์ท่านเท่านั้น  เพราะยังจะต้องมีการเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ ให้สมบูรณ์อีก  เช่นเรื่องการศึกษา  เรื่องของสุขอนามัย   ความเป็นอยู่  และสิ่งแวดล้อมเป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อให้ชาติตะวันตกที่กำลังแสวงหาอาณานิคมเห็นว่าคนไทยและเมืองไทยมีความเจริญทัดเทียมกับอารยประเทศ  และไม่สามารถใช้เป็นเงื่อนไขเข้ารุกราน  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมครั้งนี้เป็นพระราชภารกิจที่หนักยิ่ง  มีลำดับเหตุการณ์พอเป็นตัวอย่างดังนี้

การศึกษา  เป็นเครื่องมือโดยตรงทางหนึ่งในการผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถตามแบบแผนตะวันตก  ดังนั้นการศึกษาระบบโรงเรียนจึงเริ่มขึ้น ในพระบรมมหาราชวังก่อนได้แก่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงเรียนสราญรมย์หรือโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษสวนนันทอุทยานเป็นต้น  มีเป้าหมายในการเรียนการสอนเพื่อฝึกหัดกุลบุตรของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูงที่ถวายตัวเพื่อรับราชการชั้นสัญญาบัตร  ได้ดำเนินการควบคู่กันไปกับการส่งนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อกลับมารับราชการแทนชาวตะวันตกที่ทรงว่าจ้างให้ทำราชการในตำแหน่งสำคัญต่างๆ   ในปี  ๒๔๒๗ ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนวัดมหรรณพารามขึ้น เนื่องจากทรงเห็นว่า  การเรียนหนังสือแผนใหม่จากพระสงฆ์ในวัด จะทำให้คนมีทั้งความรู้  และมีคุณธรรม จริยธรรมตามพระพุทธศาสนาด้วย  จากนั้นในปี ๒๔๔๒ ก็ได้ขยายการศึกษาออกไปยังหัวเมือง  โดยวัดยังมีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนเหมือนเดิม และมีข้าราชการมหาดไทยในหัวเมืองเป็นผู้คอยช่วยเหลือด้านการเงินและด้านธุรการ  การศึกษาก็ค่อยขยายตัวกว้างขึ้น ๆ   พร้อมกันนั้นก็มีการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้จากตะวันตกผ่านตำรา อันมีส่วนในการสร้างทัศนคติต่อคนไทยให้ยอมรับวัฒนธรรมตะวันตกมาสร้างความเจริญในชาติอย่างไม่ขัดแย้ง ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จอันนื่องมาจากการปฏิรูปทางการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงประเพณี  เป็นอีกพระราชกรณียกิจหนึ่งที่ทรงกระทำเพื่อยกฐานะของคนไทยให้ทันสมัยแบบนานาอารยประเทศ  ประกอบด้วย

- ทรงยกเลิกประเพณีการหมอบ คลานเข้าเฝ้าฯ  ให้นั่งและยืนได้ตามโอกาส  ต่อมาให้นั่งเก้าอี้  ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน

- ทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีการไว้ผมและการแต่งกายของคนไทยเสียใหม่  จากที่ผู้ชายเคยไว้ผมทรงมหาดไทย ก็ให้ตัดเกรียนทั้งศีรษะ หรือไม่ก็ไว้ยาวเล็กน้อยเสมอกันทั้งศีรษะได้  ที่เคยนุ่งโจงกระเบนก็เปลี่ยนเป็นนุ่งกางเกง สวมเสื้อเชิร์ต มีผ้าผูกคอหรือเสื้อนอก ส่วนผู้หญิงก็ให้เลิกไว้ผมปีก มาไว้ผมยาวและผมทรงดอกกระทุ่ม สวมเสื้อแพรยาวกรอมแขนหรือเสื้อแขนสั้นคอเปิด แต่นุ่งโจงกระเบนหมือนเดิม  ทั้งยังทรงแนะราษฎรซึ่งปกติกินหมากกันจนฟันดำ  ให้ขัดฟันให้ขาวโดยให้ฝ่ายในทำเป็นตัวอย่าง

- โปรดให้ใช้ปฏิทินทางสุริยคติตามแบบสากล  และให้ใช้รัตนโกสินทร์ศกแทนคำว่าจุลศักราชที่ใช้อยู่เดิม

- ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขประเพณีสืบราชสันตติวงศ์  โดยให้เลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งแต่เดิมเป็นตำแหน่งของผู้สืบราชสมบัติ   และโปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช ดำรงสิทธิในการสืบราชสมบัติต่อไปได้ขึ้นมาแทน

- ทรงยกเลิกประเพณีโกนหัวเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต ให้มีการไว้ทุกข์ตามโบราณราชประเพณีอย่างเดียว

คุณภาพชีวิตของประชาชน  ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นมากในรัชกาลนี้  ทรงส่งเสริมให้มีการตั้งโรงไฟฟ้า-ประปา เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้  มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค  ทรงกวดขันเรื่องความสะอาดของสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันโรคระบาด  มีการตรา พรบ. ธรรมเนียมคลองขึ้นเพื่อควบคุม  ได้แก่การห้ามทำเว็จลงในคลอง  ห้ามทิ้งซากสัตว์หรือสิ่งปฏิกูลลงในคลอง  ห้ามปลูกสร้างบ้านหรือเพิงรุกล้ำคูคลองหรือแนวถนน  ห้ามขีดเขียนตามกำแพงและสถานที่ต่างๆ  เป็นต้น  พระบรมราโชบายนี้ นับเป็นต้นกำเนิดของเทศบาลนครกรุงเทพและกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน  นอกจากนั้นยังได้ทรงนำวิทยาการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาปรับใช้ในกิจการแพทย์ด้านต่างๆ  ของไทย เช่นจัดตั้งศิริราชพยาบาลและตั้งกรมพยาบาลในปี ๒๔๒๙,  จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์,   ให้หมอหลวงประชุมคิดยาขึ้น ๘ ขนานสำหรับใช้รักษาโรคที่ราษฎรมักเป็นกันอยู่เสมอ เช่นปวดหัว ปวดท้อง  สำหรับแจกจ่ายหรือจำหน่ายที่โอสถศาลาด้วยราคาถูก ยานี้เรียกว่ายาโอสถสภา,  จัดทำกฏหมายลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการอนามัยของประชาชนเช่น ความผิดในการปลอมปนเครื่องอาหาร เครื่องยา  การทิ้งของโสโครกในเขตชุมชน  การขายสุราให้เด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๔ ปี   มีการออกประกาศห้ามสูบฝิ่นและการผสมฝิ่นเป็นยา  ออก พรบ.กำหนดโทษผู้ทำฝิ่นเถื่อน  จนในที่สุดก็ทรงยกเลิกโรงฝิ่น เมื่อปี ๒๔๕๓ 

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงจัดตั้งกรมกองตระเวนและกรมตำรวจภูธรขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในพระนครและภูมิภาค กิจการตำรวจนี้ ระยะแรกใช้ฝรั่งเป็นเจ้ากรมและผู้บังคับบัญชาในหัวเมือง และจ้างแขกสิกข์เป็นพลตระเวณ  ต่อมาจึงฝึกคนไทยเข้าทำการแทน

การคมนาคม   ทั้งทางบก  ทางน้ำ  และการสื่อสาร  ได้รับการปรับปรุงอย่างจริงจังทุกด้าน โดยภาพรวมก็คือในรัชกาลนี้มีการสร้างถนน  สะพาน  สร้างทางรถราง  ทางรถไฟ  และสั่งยานพาหนะต่างๆ เข้ามาใช้ในบ้านเมือง  มีการขุด และซ่อมแซมคูคลองต่างๆ  มีการทำประตูระบายน้ำ  ทำเขื่อนกั้นน้ำ และเขื่อนกันตลิ่งพัง เพื่อประโยชน์ในการสัญจรไปมา  การทำไร่-ทำนา  และการค้า  มีการก่อตั้งกิจการไปรษณีย์โทรเลข  โทรศัพท์ วิทยุโทรเลข ซึ่งกิจการคมนาคมที่ทรงสร้างขึ้นอย่างทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศนี้ นอกจากจะทำให้การปกครอง  การดูแลหัวเมืองทำได้ใกล้ชิดขึ้นขึ้นแล้ว   การติดต่อกับมหาอำนาจตะวันตกก็ทำได้คล่องตัวขึ้น  เป็นผลดีในแง่ของการเจรจาความเมือง  ถือเป็นปัจจัยสำคัญทีเดียวที่ทำให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

เศรษฐกิจ มีผลต่อความมั่นคงของประเทศอย่างยิ่ง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บภาษีอากรและผลประโยชน์ต่างๆ ให้รัดกุมขึ้น รวมทั้งทรงจัดระเบียบการคลังใหม่ด้วย  ทำให้มีรายได้ของแผ่นดินมากขึ้น  สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

การปกครอง  แบบเก่า ที่การปฏิบัติงานยังก้าวก่ายและปะปนกัน ถูกพิจารณาแก้ไขนับตั้งแต่ปี ๒๔๑๖  ที่ทรงบรรลุนิติภาวะและรับบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา  ได้แก่ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)  ให้มาช่วยคิดทะนุบำรุงบ้านเมือง  ทรงตรา พ.ร.บ. ประกาศตั้งสภาองคมนตรี (Privy Council) คือที่ปรึกษาในพระองค์  ทรงตั้งเสนาบดีใหม่ขึ้นว่าการแต่ละกระทรวง  และปรับปรุงแก้ไขกระทรวงต่างๆ ตลอดจนเรื่องการปกครองหัวเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  มีการตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาลรวม ๑๘ มณฑล มีสมุหเทศาภิบาลควบคุมดูแล  จากนั้นจึงแบ่งออกเป็นจังหวัด  อำเภอ   ตำบลและหมู่บ้านตามลำดับ   การปกครองท้องถิ่นก็มีการจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้น  แห่งแรกคือที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเมื่อปี ๒๔๔๘  และ พ.ร.บ.จัดการสุขาภิบาลตามหัวเมืองต่างๆ พ.ศ. ๒๔๕๐ เพื่อชักนำให้ประชาชนได้ทดลองใช้การปกครองแบบเทศบาลเหมือนกับต่างประเทศ มีผู้ว่าราชการเมือง  มีนายอำเภอเป็นผู้นำประชาชนในท้องถิ่น ดำเนินการรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง  มีการจัดบำรุงทางบก ทางน้ำ และท่าเทียบเรือ  ตลอดจนเรื่องแสงสว่าง ด้วยค่าใช้จ่ายจากเงินในท้องถิ่น ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจการสุขาภิบาล การหารายได้ และการดำเนินงาน  การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าทรงมีพระราชประสงค์ที่จะปลูกฝังลัทธิประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน

ยกพระราชกรณียกิจต่างๆ มาดังนี้  ก็เพื่อให้คนไทยในรุ่นหลังได้เข้าใจว่า เป็นเพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นที่รักยิ่งของประชาชน  อนุสรณ์แห่งความรักเคารพ ก็ยังมีอยู่ให้คนรุ่นหลังไปถวายสักการะจนทุกวันนี้  เช่นพระบรมรูปทรงม้าขนาดโตกว่าพระองค์จริง ที่ประดิษฐาน ณ ลานพระราชวังดุสิต นั่นก็ชาวสยามในสมัยนั้นได้พร้อมใจกันจัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นเครื่องประกาศเกียรติคุณในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ ๔๐ ปี  พระบรมรูปทรงม้านี้ปั้นโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส และหล่อที่กรุงปารีส  ที่ฐานของแท่นโดยรอบนอกจากจะมีตัวอักษรจารึกบนแผ่นทองบรอนซ์พรรณาถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ปวงชนชาวไทยโดยย่อแล้ว ยังได้ถวายพระนามจารึกไว้ด้วยว่า “ปิยมหาราชาธิราช” ซึ่งแปลว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของราษฎร”

ในโอกาสที่วันปิยมหาราชเวียนมาถึง  พวกเราชาวไทยควรพร้อมใจกันถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณโดยพร้อมเพรียงกัน



ที่มา   - หนังสือสองพระมหาราชนักพัฒนา  ของ สวทช.
         - วารสารวัฒนธรรมไทย ต.ค.- พ.ย. ๒๕๔๔



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท  เรื่อง  "พระปิยมหาราช"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ