ร.๓ : นักอุทกวิทยาพระองค์แรกของไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 8.3K views




ร.๓ : นักอุทกวิทยาพระองค์แรกของไทย

วันที่ ๓๑  มีนาคม (๒๕๔๙) นี้ จะเป็นคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติไว้อย่างมหาศาล 

เมื่อเอ่ยถึงรัชกาลที่ ๓  พระราชกรณียกิจที่คนไทยแทบทุกคนนึกถึงเป็นอันดับแรกคงหนีไม่พ้นการที่ทรงเป็นผู้มีพระทัยเมตตาและใฝ่ในการพระราชกุศล  เพราะได้ทรงทะนุบำรุงพระศาสนาไว้มากหลายนับตั้งแต่การสร้าง และบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ขึ้นหลายวัดด้วยสถาปัตยกรรมและงานประณีตศิลป์ตามแบบพระราชนิยมที่ได้รับการยกย่องกันว่างามเป็นเลิศ  ด้วยเป็นรัชสมัยที่การช่างฝีมือเฟื่องฟูที่สุด  โลหปราสาทอันเป็นปูชนียสถานที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลกขณะนี้ ก็ทรงเป็นผู้สร้างขึ้น และเป็นหน้าเป็นตาของประเทศอยู่ในปัจจุบัน  ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมให้ภิกษุสามเณรรอบรู้พระไตรปิฏกสมบูรณ์ขึ้นกว่าแต่ก่อน    ทั้งยังทรงส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้อยู่ในศีลในธรรม   ละห่างจากอบายมุขทั้งปวง   ในอันดับต่อไปคงจะนึกถึงมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทยคือวัดพระเชตุพนมิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นักปราชญ์  ราชกวี  ผู้ทรงคุณวิชาความรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ  รวมทั้งพระองค์เอง ได้มาประชุมช่วยกันจัดทำทำเนียบความรู้ต่างๆ จารึกไว้รอบผนังพระอุโบสถ วิหารทิศ หอไตร ศาลาราย และศาลาทิศ  เพื่อให้ประชาชนที่ใฝ่ในความรู้ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชายหรือเด็ก จะได้มาศึกษาเล่าเรียนตำราได้โดยเสมอภาคกัน   อีกประการหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของ “เงินถุงแดง” อันเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงออมและได้พระราชทานไว้ก่อนจะเสด็จสวรรคตว่าให้เก็บไว้ไถ่บ้านไถ่เมืองอันแสดงถึงพระปรีชาญาณในเรื่องของการต่างประเทศ  ส่วนพระราชกรณียกิจนอกนั้นคงจะทราบกันแต่เพียงผู้ศึกษาพระราชประวัติเป็นการเฉพาะ  ซึ่งมีอยู่มากมายเกินพรรณนา  ในที่นี้จึงจะได้อัญเชิญมาให้ได้รับทราบอีกในบางเรื่อง อย่างที่ได้ให้หัวข้อไว้  คือ  ทรงเป็นนักอุทกวิทยาพระองค์แรกของไทย  

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระองค์แรกที่โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งเสาหินเพื่อวัดระดับน้ำสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาในแต่ละปีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะอยู่ประมาณเดือน ๑๒ของไทย (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน)  แล้วนำค่าระดับน้ำสูงสุดมาพยากรณ์การทำนาของประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณทุ่งราบภาคกลาง มีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง เพื่อจะได้เตรียมรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจล่วงหน้าเพราะฤดูเก็บเกี่ยวจะทำเมื่อน้ำลด (ประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม)   ระดับน้ำสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเริ่มมีสถิติตั้งแต่ปี   ๒๓๗๔ เป็นต้นมา   จึงอาจจะกล่าวได้ว่านอกจากจะเป็นการเริ่มงานอุทกวิทยาของไทยแล้ว ยังเป็นการเริ่มต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์สำหรับประเทศไทยด้วย  เสาระดับน้ำที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นยังคงมีสถิติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยกรมชลประทานเป็นผู้เก็บสถิติและใช้ประโยชน์  ปัจจุบันยังใช้ในการพยากรณ์น้ำสูงสุดของกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย จึงสมควรยกย่องและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  ว่า “ทรงเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดสถิติอุทกวิทยาแก่ประเทศไทย”     



เรื่องควรรู้


- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อขณะยังทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้น ได้ทรงรับราชการสนองพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถด้วยพระราชอุตสาหะ  ด้วยความหวังดีต่อบ้านเมืองและด้วยความเมตตาต่อประชาชน  ดังนั้นในยามแผ่นดินขาดแคลน จึงนำเงินส่วนพระองค์ที่ได้จากการค้าสำเภากับนานาประเทศถวายให้สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงใช้สอยในราชการแผ่นดินพอบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราชการแผ่นดินได้มาก ถึงกับสมเด็จพระบรมชนกนาถตรัสล้อเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว”  สำหรับประชาชนที่ขัดสนพระองค์ก็ได้ทรงตั้งโรงทาน ที่บริเวณหน้าวังท่าพระอันเป็นที่ประทับประทานอาหารเลี้ยงดูมาโดยตลอด แม้เมื่อเสด็จครองราชย์แล้วก็มิได้ทรงเลิก กลับนิมนต์พระภิกษุ สามเณร ไปรับพระราชทานฉัน และแสดงธรรมให้กับประชาชน  ทำให้ประชาชนมีความใกล้ชิดกับพระศาสนามากขึ้น

- “เงินถุงแดง”  เป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิศริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์. นอกจากจะถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถใช้ในการแผ่นดินแล้ว ยังทรงเก็บสะสมไว้โดยใส่ถุงแดงเก็บไว้ข้างพระแท่นบรรทม จึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “เงินพระคลังข้างที่” คำว่า “พระคลังข้างที่” ในเวลาต่อมาก็เนื่องมาจากเงินข้างพระแท่นบรรทมนี้เอง   เงินในถุงแดงที่ทรงสะสมนี้ประมาณ ๔ หมื่นชั่งเศษ แต่เมื่อก่อนเสด็จสวรรคตได้มีพระดำรัสสั่งเสียมอบเงินถุงแดงนี้ไว้ใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองแต่ได้ทรงขอไว้สำหรับปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเสีย ๑ หมื่นชั่ง  ภายหลังเมื่อถึงเวลาต้องไถ่บ้านไถ่เมืองกับฝรั่งเศสเข้าจริง   จึงได้ใช้เงิน๓หมื่นชั่งเศษของพระนั่งเกล้าฯ ไถ่บ้านไถ่เมือง  ซึ่งเวลานั้นก็ประมาณ สองล้านห้า-สองล้านหก  ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย

       


เรียบเรียงจาก

 - พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ : มรว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์  หนังสือมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
- พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและศาสนา : รศ . ธงทอง จันทรางศุ  หนังสือมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์                            
- สถาปัตยกรรมแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : สมาคมสถาปนิกสยาม  ในพระบรมราชูปถัมภ์ : หนังสือมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
- เงินถุงแดงของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ : จุลดา ภักดีภูมินทร์ : นิตยสารสกุลไทย  ฉบับ ก.ย. ๔๘



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษ  ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท  เรื่อง  "ร. ๓ : นักอุทกวิทยาพระองค์แรกของไทย"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ