สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 18.1K views




สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย

24  กันยายน  วันมหิดลเวียนมาบรรจบครั้งใด  สิ่งที่คนไทยมักระลึกถึงเป็นอันดับแรก คือ พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมฯ  พระบรมราชชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  เนื่องจากทรงเป็นผู้ที่มีคุณูปการ แก่กิจการแพทย์ของไทย กล่าวคือ พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ นั้น นอกจากจะทำให้ ร.พ.ศิริราช สามารถยืนหยัดให้บริการด้านสุขภาพแก่คนไทยได้ในเบื้องต้นแล้ว ยังเป็นรากฐานของความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันด้วย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ  พระบรมราชชนกทรงผ่านการศึกษาวิชาทหารมาจากประเทศเยอรมัน  ทรงศึกษาทั้งวิชาทหารบกและทหารเรือ ทั้งยังเคยเข้าปฏิบัติงานในราชนาวีเยอรมันมาก่อนด้วยพระยศนายเรือตรี  เมื่อเสด็จกลับเมืองไทย ปี พ.ศ. 2460 ก็เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโทแห่งสยามราชนาวี แต่ก็ทรงมีความสนพระทัยในวิชาโภชนาการอยู่ด้วย   เหตุที่ทรงหันมาให้ความสนพระทัยในเรื่องของการแพทย์-สาธารณสุขนั้นมี เนื่องมาจากเมื่อพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  ขณะนั้น ร.พ.ศิริราช ก่อตั้งมา 30 ปี และกำลังอยู่ในสภาพลำบาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร “เสด็จในกรม” ผู้บัญชาการโรงเรียนแพทยาลัย  มีพระดำริต้องกันกับหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม  เกษมศรี  ว่าควรจะมีผู้อุปถัมภ์โรงเรียนแพทย์ที่พร้อมด้วยกำลังทรัพย์และอิทธิพล และทรงเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะให้  “สมเด็จพระราชบิดา” ทรงหันมาสนพระทัยการแพทย์ จึงกราบทูลเชิญให้เสด็จประพาสทางชลมารค โดยประทับเรือยนต์ไปตามคลองบางกอกน้อย  พักเสวยพระ-กระยาหารใต้ร่มไม้ริมคลอง  เป็นที่สบายพระทัยแล้ว เมื่อเสด็จกลับ จึงกราบทูลเชิญให้เสด็จศิริราช   ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพเรือนคนไข้ ซึ่งเป็นเรือนไม้ หลังคามุงจาก  คนป่วยนอนอยู่อย่างหมดที่พึ่ง ใต้ร่มไม้ บ้างในสนามบ้าง   ทรงสลดพระทัย มีพระปรารภว่า เรือนคนไข้  “เหมือนโรงม้า”    เสด็จในกรมได้ถือโอกาสกราบทูลถึงความขาดแคลนต่าง ๆ พร้อมทั้งขอประทานพระอุปถัมภ์ ซึ่งทรงเห็นพ้องด้วยว่ามีช่องทางที่จะทำประโยชน์ใหญ่ยิ่ง ได้แก่ ประเทศด้านนี้  จึงตัดสินพระทัยไปเข้าเรียนวิชาสาธารณสุข และก็เรียนวิชาแพทย์ที่อเมริกา และทรงรับหน้าที่ติดต่อมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์สืบต่อ จากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงริเริ่มติดต่อไว้ก่อนบ้างแล้ว   นับเป็นมูลเหตุสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างสมเด็จพระ-มหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ พระบรมราชชนกมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้เป็นไปอย่างดี  เกิดผลเป็นประโยชน์ต่อกิจการแพทย์ของประเทศไทย

ศจ.นพ. สุด  แสงวิเชียร  ผู้มีผลงานเขียนเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระองค์มากมายได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าศิริราชได้พุ่งตัวขึ้นไปสู่ความเจริญชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เป็นผลแห่งการทุ่มเทพระสติปัญญา ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ อีกทั้งเพราะทรงมีพระราชหฤทัยเล็งผลเลิศในการปฏิบัติ โดยถูกต้องด้วยหลักของเหตุและผล หากจะกล่าวว่าศิริราชได้มีตัวตนขึ้นก่อนแล้ว แต่ทูลกระหม่อมทรงพระกรุณาประทานชีวิตให้ก็เห็นจะไม่ผิดไปจากความจริงเลย”  นอกจากนั้น ศจ.นพ. สุดฯ     ยังได้สรุปพระกรณียกิจ ในพระองค์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ พระบรมราชชนก เฉพาะที่เกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลไว้ 5 ประการด้วยกัน คือ

1. ทรงส่ง นักเรียนทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาวิชา ณ.ต่างประเทศ เนื่องจากทรงมีพระดำริว่า  การสร้างหรือปรับปรุงโรงเรียนแพทย์นั้นจำต้องเริ่มด้วยการจัดให้มีครูดีและเพียงพอเสียก่อน  พระองค์เองก็ยังทรงพร่ำสอนศิษย์ให้เป็นตัวอย่างอีกด้วย

2. ประทานทุน “วิทยาศาสตร์ การแพทย์”  เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี จำนวน 2 แสนบาท

3. ประทานทุน “เพื่อการสืบค้นคว้าและการสอนในโรงพยาบาลศิริราช ด้วยทรงประจักษ์ในความจริงที่ว่า การค้นคว้าวิจัยและการสอน เป็นงานสำคัญส่วนหนึ่งในการจรรโลงวิชาแพทย์

4. ทรงจัดหาที่ดิน และสร้างอาคารเพิ่มเติมให้กับ ร.พ.ศิริราช ซึ่งแต่เดิมมีเพียงตึกเล็ก ๆ สี่ ห้าหลัง นอกนั้นเป็นโรงไม้หลังคามุงจากที่คับแคบทั้งสิ้น การประทานเงินส่วนพระองค์ไม่ว่าเพื่อซื้อที่ดิน, สร้างตึกคนไข้, หรือซ่อมแซม-สร้างบ้านอาจารย์ผู้ปกครองทั้งนี้  ไม่ทรงปรารถนาให้อัญเชิญพระนามเป็นชื่อตึกเลย  นอกจากนี้ด้วยพระบารมี  สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสา อัยยิกาเจ้าได้พระราชทานเงินค่าก่อสร้างวางท่อประปาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังได้ทรงชักชวนให้พระญาติจัดสรรเงินส่วนพระองค์หรือจากกองมรดกสร้างตึกต่าง ๆ หลายตึก เช่นตึก อัษฎางค์ , ตึกตรีเพ็ชร และตึกจุฑาธุช เป็นต้น ศจ.นพ.สุด  แสงวิเชียร บันทึกไว้ว่า “ทูลกระหม่อมทรงมีพระทัยนิสัยละเอียดละออ รักษาผลประโยชน์ในสิ่งอันไม่ควรจะเสียเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงคราวควรจะเสีย พระองค์ทรงสละได้อย่างมากมายและเต็มพระทัย   ครั้งหนึ่งขณะที่เสด็จออกทรงตรวจคนไข้ตามตึก ทอดพระเนตรพบน้ำประปาที่อ่างล้างมือลืมปิด ปล่อยน้ำทิ้งไว้เฉย ๆ ได้เสด็จเข้าไปปิดเองด้วยพระหัตถ์ และรับสั่งว่า  “ระวังหน่อย เงินของประชาชนเขา”  “พระอัธยาศัยของทูลกระหม่อมนั้น ทรงเกลียดการเกียจคร้าน มุ่งหน้าเอาประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว เมื่อใครทำอะไรให้ไม่ทรงรับเปล่า แต่ประทานตอบแทนให้คุ้มค่าหรือสูงกว่า ดังเช่นเมื่อเสด็จมาพบสภาพอันน่าเวทนาของห้องทดลอง มีพระดำรัสว่าจะประทานตึกสำหรับแผนกพยาธิวิทยาและห้องทดลอง ถ้าทางรัฐบาลจะออกค่าเครื่องตกแต่งให้ ในทัศนะของพระองค์นั้นกิจการแพทย์เป็นเรื่องของรัฐโดยตรง ก็เหตุไฉนรัฐจะไม่ยอมเสียสละตอบแทนแม้เพียงส่วนน้อย  เป็นการแสดงออกโดยถ่องแท้ในความดำริถึงการควรมิควร เมื่อจะต้องเสียสละ”

ศจ.นพ.เอลลิส  ชาวอเมริกันที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ส่งมาประจำในประเทศไทยก็เคยบันทึกไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างตึกว่า  “ในตอนต้นปี พ.ศ. 2467 ได้ตกลงที่จะสร้างตึกสำหรับแผนกกายวิภาควิทยา และสรีรวิทยาของโรงเรียนแพทย์ ทุนในการก่อสร้างนี้ ร็อกกี้เฟลเลอร์มูลนิธิจะเป็นผู้ออก ได้ทรงแนะนำและเป็นที่ตกลงตามพระดำริว่า ให้กระทรวงธรรมการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลการก่อสร้าง แทนที่จะให้หานายช่างนอกกระทรวงออกแบบ ได้ตั้งกรรมการขึ้นไว้สำหรับตรวจจัดการเรื่องนี้โดยตลอด ทั้งในเวลาประชุมและนอกเวลาประชุมได้รับสั่งยืนยันเสมอว่า ตึกสำหรับโรงเรียนและโรงพยาบาลนั้นไม่ให้มีลวดลายและเครื่องประดับที่ไม่จำเป็น ให้เป็นแต่เพียงที่ทำงานและบ้านอย่างเรียบ ๆ ไม่ให้มีลวดลายสลักและเครื่องประดับประดาที่แพง และใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทั้งนี้ย่อมไม่เป็นที่พอใจของนายช่างออกแบบ เพราะเหตุว่านายช่างทุกคนเห็นว่ารูปร่างความสวยงามเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการก่อสร้างแต่พระองค์ทรงคอยระวังไม่ให้มีการประดับประดาอย่าง “หรูแฟ่” ตามที่ทรงเรียกนั้นเลย ทรงระวังให้ประหยัดทุนในการก่อสร้างตึกนี้เสมอเพื่อให้ราคาต่ำ เหมือนกับว่าเป็นทุนของพระองค์เอง และบางทีจะยิ่งกว่าด้วยซ้ำ”

5. ทรงทำความตกลงเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เป็นผลสำเร็จ มีการทำสัญญาให้ความช่วยเหลือกำหนด 6 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2466-2472 และมีการต่อสัญญาอีก 6 ปี ก่อนจะพ้นความช่วยเหลือของมูลนิธิ ในปี พ.ศ. 2478

สำหรับจำนวนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ได้สละเพื่อเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์นั้น นพ.เอลลิสฯได้ประมาณการไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนบาท และถ้ารวมมรดกครั้งสุดท้ายเข้าด้วยจะเป็นเงิน 1.2-1.3 ล้านบาท ซึ่งสมัยนั้นเป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะหวังได้ว่าผู้ใดจะกล้าบริจาคได้ปานนั้น  ทั้งยังได้บันทึกไว้ด้วยว่า  “เรื่องที่ได้เคยสนทนากับพระองค์ท่านมาในระหว่างเก้าปี ข้าพเจ้าได้ทำงานร่วมกับพระองค์ท่าน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ พระองค์นี้ไม่ได้รับสั่งถึงเรื่องอื่น นอกจากเรื่องการศึกษา การศึกษาวิชาแพทย์ การศึกษาวิชาพยาบาล การสาธารณสุข การทารกสงเคราะห์  สิ่งเหล่านี้ได้ทรงศึกษามา  ได้ทรงทำนุบำรุงมา ได้ทรงเอาพระทัยใส่สอดส่องตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงติดอยู่กับพระองค์ท่าน จนกระทั่งถึงเวลาที่ เสด็จทิ้งพวกเราไปเสีย และเสด็จขึ้นสู่ปรโลก เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472…”

แม้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ พระบรมราชชนก จะทรงมีพระชนม์ชีพสั้นเพียง 38 พรรษา แต่พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัตินั้น แผ่ไพศาล ให้ความสุข  ปลดเปลื้องความทุกข์ แก่ประชาชนคนไทยมาอย่างเอนกอนันต์ และเมื่อวันที่ 24 กันยายน เวียนมาถึง จึงควรที่ทุกคนจักได้ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณและเพียรปฎิบัติสิ่งใดก็ตามเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเท่าที่กำลังความสามารถจักอำนวย ก็เท่ากับได้สืบสานสิ่งดีงามตามพระปณิธานแห่งพระองค์ให้ยั่งยืนตลอดไป



เรียบเรียงจาก - สารคดีพิเศษเนื่องในวันมหิดล:สกุลไทย: ก.ย. 34



บทย่อ

24 กันยายน เป็นวันมหิดล วันที่ ประชาชนทั่วไปมักน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ พระบรมราชชนก เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้ให้ความอุปถัมภ์ค้ำชู้แก่ ร.พ.ศิริราช ที่ขาดแคลนไปเสียทุกอย่างในเบื้องต้น โดยได้ทรงทุ่มเททั้งพระกำลังสติปัญญาและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จนศิริราชมีความเจริญก้าวหน้าเป็นพื้นฐานของความเจริญทางการแพทย์ สามารถให้บริการแก่ประชาชนที่ป่วยเจ็บได้เต็มศักยภาพเช่น ที่เห็นในปัจจุบัน

- สมเด็จพระราชบิดา ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารและรับราชการทหารเรือมาก่อน

- ทรงหันมาสนพระทัย ในเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขเนื่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการ  ร.ร.แพทยาลัย กับ มจ.พูนศรีเกษม  เกษมศรี นำเสด็จให้ได้ทรงพบเห็นสภาพเรือนคนไข้ และคนป่วยเจ็บที่นอนรอรับการรักษาอยู่อย่างยากลำบาก  ทรงสลดพระทัยและเห็นว่าจะทำประโยชน์ทางด้านนี้ให้แก่บ้านเมืองได้ จึงรับอุปถัมภ์ตามคำทูลเชิญของเสด็จในกรมฯ และไปทรงเข้าเรียนวิชาสาธารณสุข วิชาแพทย์ที่อเมริกาตามลำดับ ทั้งยังทรงรับหน้าที่ติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ขอความช่วยเหลือต่าง ๆ สืบต่อจากที่เสด็จในกรมฯ ริเริ่มไว้ด้วย

- ศจ.นพ.สุด  แสงวิเชียร  บันทึกสรุปพระกรณียกิจในพระองค์เฉพาะที่เกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์ และ ศิริราชพยาบาลไว้ 5 ประการด้วยกัน พอสรุปได้ว่า

1. ทรงส่งนักเรียนทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาวิชา ณ.ต่างประเทศ เพื่อให้มีครูที่ดีและพอเพียงสำหรับการสร้างหรือปรับปรุง  รร.แพทย์

2. ประทานทุนวิทยาศาสตร์การแพทย์

3. “ประทานพระราชทรัพย์ เพื่อการสืบค้นคว้าและการสอนใน รพ.ศิริราช”  เนื่องจากเห็นความสำคัญของการค้นคว้าวิจัยและการสอน

4. จัดหาที่ดิน  สร้างอาคารผู้ป่วยเพิ่ม  ซ่อมแซมบ้านอาจารย์ผู้ปกครอง โดยไม่มีพระประสงค์ให้ใช้พระนามเป็นชื่อตึก ทั้งยังชักชวนพระญาติให้จัดสรรเงินมา สร้างตึกได้อีก หลายตึก  สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็ได้พระราชทานเงินค่าก่อสร้างวางท่อประปาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้ด้วย

5. ทรงทำความตกลงกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และพระปรีชาญาณ จนกระทั่ง มีการทำสัญญาให้ความช่วยเหลือครั้งแรกกำหนด 6 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2466-2472 และยังได้ต่อสัญญาอีก 6 ปี ด้วย

- ศจ.นพ.สุด  แสงวิเชียร มีบันทึกว่า ศจ.นพ.เอลลิสฯ  ได้ประมาณไว้ว่า  สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์แก่วงการแพทย์ ไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนบาท โดยถ้ารวมกับมรดกครั้งสุดท้ายจะเป็นเงินราว 1.2 – 1.3 ล้านบาท ซึ่งสมัยนั้นเป็นเงินจำนวนเงินที่มากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะหวังว่าผู้ใดจะบริจาคได้ถึงเพียงนี้



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง  "สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ