พระปิยมหาราช
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3.9K views




พระปิยมหาราช

23 ตุลาคม  “วันปิยมหาราช”   เมื่อเวียนมาครั้งใด สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ในยุคหลังมักน้อมรำลึกถึง  ก็คือพระปรีชาสามารถในการปกครองประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์  รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ที่ราษฎรพร้อมใจกันถวายพระสมัญญานามว่า  “พระปิยมหาราช” ในการที่ทรงเร่งพัฒนาคน  พัฒนาประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ ทำให้ชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมไม่สามารถอ้างได้โดยสะดวกในการเข้ายึดครอง ดังเช่นที่ทำกับประเทศเพื่อนบ้าน  และสุดท้ายก็ทรงนำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤติกาลนั้นมาได้  ยังคงความเป็นเอกราชทุกวันนี้   ยังมีพระราชจริยาวัตรอีกบางประการที่ควรจดจำอยู่มิใช่น้อย นั่นคือทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ใกล้ชิดประชาชน ดังเช่นการเสด็จประพาสต้นอันเป็นการสร้างความผูกพันและไว้วางใจกันระหว่างเจ้าแผ่นดินกับราษฎร   เราคงจะทราบกันอยู่บ้างว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น โปรดที่จะเสด็จฯ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยมิได้แสดงพระองค์ราษฎรบางคนจำได้ก็โปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าใกล้ชิดมิได้ถือพระองค์ แต่เมื่อเสด็จฯ กลับ น้อยคนจะได้ทราบว่าในพระราชวังที่ประทับนั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนต้นไว้ต้อนรับเพื่อนต้นของพระองค์ด้วย เราสามารถมองภาพนี้จากการพรรณาของ มรว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ในหนังสือสี่แผ่นดิน อันเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อสะท้อนภาพสังคมยุคนั้น ตอนหนึ่งที่ว่า  “ศูนย์กลางของพระราชวังดุสิตคืออ่างหยก เป็นสระน้ำใหญ่ลงเขื่อน มีน้ำใสสะอาดเต็มตั้งอยู่กลางพระราชวัง ริมอ่างหยกด้านหนึ่งมีพระที่นั่งไม้สามชั้นคือ พระที่นั่งวิมาน-เมฆ ริมพระที่นั่งมีโรงเฟิร์นใหญ่ในนั้นมีน้ำพุประดับด้วยต้นเฟิร์นและไม้อื่นดูเยือกเย็น ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกเรือนต้นขึ้นที่ริมอ่างหยกอีกด้านหนึ่งตรงข้ามพระที่นั่งวิมานเมฆ เรือนต้นเป็นเรือนไทยแบบชนบทฝาไม้กระดาน หลังคามุงด้วยจากมีหอนั่ง เรือนนอน นอกชาน ครัวไฟและทุกอย่างครบเหมือนเรือนราษฎรธรรมดาตามชนบท

พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นหลายครั้งหลายครา เสด็จไปตามจังหวัดต่าง ๆ ปะปนกับหมู่ราษฎร และเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรถึงบ้านช่อง โดยที่ราษฎรมิได้รู้ว่าพระองค์เป็นผู้ใด ในการเสด็จประพาสแบบนี้ได้ทรงรู้จักคุ้นเคยกับราษฎรในชนบทหลายคน โปรดให้เรียกว่า “เพื่อนต้น” และโปรดเกล้าให้พวกเพื่อนต้นนี้เข้าเฝ้าที่พระราชวังดุสิตก็เสด็จออกรับที่เรือนต้นอย่างกันเอง ราษฎรเหล่านั้นก็ได้เข้าเฝ้าเจ้าชีวิตของตนในระยะใกล้ชิด มิใช่ในปราสาทราชฐานที่โอ่อ่าแวดล้อมไปด้วยเครื่องประดับอันมีค่าซึ่งจะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนกใจ และเจ้าชีวิตนั้นก็มิได้แต่งพระองค์ด้วยภูษาภรณ์อันมีค่า  ประทับอยู่บนราชบัลลังก์ที่แสดงพระราชอำนาจ อันอาจทำให้เขาต้องตกประหม่า สิ่งที่คนบ้านนอกจากชนบทได้พบเห็นเมื่อเข้าเฝ้าก็คือเจ้าชีวิตที่แต่งพระองค์อย่างลำลองประทับอยู่ที่บนเรือนไม้ท่ามกลางบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ไม่ผิดไปจากบ้านในชนบทที่เขาคุ้นเคยอยู่  และในท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ ความตื่นตระหนกและความประหม่าก็ไม่เกิดขึ้น ชาวบ้านเหล่านั้นสามารถพูดคุยกับพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างระหว่างคนต่อคน มิใช่อย่างระหว่างเจ้าชีวิตและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เนื้อความที่พูดจากันจึงเต็มไปด้วยสาระ และความจริงที่เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายไม่มีอุปสรรคกีดขวางจากประเพณีหรือระเบียบอื่น ๆ และในบรรยากาศที่คุ้นเคยนั้น ทุกคนสามารถแสดงตัวให้ปรากฏเป็นตัวของตัวเองเต็มไปด้วยเกียรติอันภาคภูมิที่ได้เป็นเพื่อนต้นของพระเจ้าแผ่นดินไทย”

ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่งดงามและทรงมีน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยเมตตาเช่นนี้ กอปรด้วยพระปรีชาสามารถในการปกครองประเทศนำพาราษฎรให้ได้รับความสงบสุขร่มเย็น   เมื่อทรงครองราชสมบัติครบ 40 ปีบริบูรณ์ ประชาชนจึงได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมรูปทรงม้าขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย   ที่แท่นหินอ่อนด้านหน้านั้น มีข้อความเฉลิมพระ-เกียรติจารึกไว้ตอนหนึ่งว่า “พระองค์กอปรด้วยพระราชกฤษฎาภินิหารเป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตรเสด็จสถิตย์ในสัจจธรรมอันมั่นคงมิหวั่นไหวทรงอธิษฐานพระราชหฤทัยในทางที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้สถิตย์สถาพร และให้เกิดความสามัคคีสโมสรเจริญสุขสำราญทั่วไปในอเนกนิกรประชาชาติ  เป็นเบื้องหน้าแห่งพระราชจรรยา ทรงพระสุขุมปรีชาสามารถสอดส่องวินิจฉัยในคุณโทษแห่งประเพณีเมือง ทรงปลดเปลื้องโทษ นำประโยชน์มาบัญญัติ โดยปฏิบัติพระองค์ทรงนำหน้าชักจูงประชาชนให้ดำเนินตามในทางที่งามดีมีประโยชน์เป็นแก่นสาร พระองค์ทรงทำให้ความสุขสำราญแห่งประชาราษฎร์สำเร็จได้ด้วยอาศัยดำเนินอยู่เนืองนิจในพระวิริยะและพระขันตีคุณอันแรงกล้า ทรงอาจหาญในพระราชจรรยา มิได้ย่อท้อต่อความลำบากยากเข็ญ มิได้เห็นที่ขัดข้องอันใดเป็นข้อควรขยาดแม้ประโยชน์และความสุขในส่วนพระองค์ก็อาจจะสละแลกความสุขสำราญพระราชทานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้  โดยทรงพระกรุณาปรานี พระองค์คือบูรพการีของราษฎรเพราะเหตุนี้แผ่นดินของพระองค์จึงยงยิ่งด้วยความสถาพรรุ่งเรืองงาม มหาชนชาวสยามถึงความสุขเกษมล่วงล้ำอดีตสมัยที่ได้ปรากฏมา………….”

ดังนี้  แม้เวลาได้ล่วงเลยนับจากวันเสด็จฯ สวรรคตมาถึง 95 ปี แล้วแต่ในทุก ๆ ปี ที่ วันที่ 23 ตุลาคม เวียนมาถึง ประชาชนชาวไทยยังรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอยู่ไม่เว้นวาย



เรียบเรียงจาก  - วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ : ผศ.พรพรรณ  ธารานุมาศ : 2524
                   - สี่แผ่นดิน :  มรว.คึกฤทธิ์  ปราโมช
                   - สองพระมหาราชนักพัฒนา : ศูนย์วัฒนธรรม : 2531



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมทเรื่อง  "พระปิยมหาราช"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ