ในหลวงกับการพัฒนา ตอนที่ 3
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5.6K views




เวลานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทยทรงได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์มายาวนานที่สุดในโลกแล้ว  โดยทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี  เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายนที่ผ่านมา   ซึ่งเราชาวไทยก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองฯ กันอย่างยิ่งใหญ่ตลอดปีนี้  เพื่อเทิดพระเกียรติ  และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเพียรพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นโดยมิได้เลือกชาติ ชั้น วรรณะ    จนทุกวันนี้ประชาชนที่เคยยากไร้ขัดสนในภูมิภาคต่างๆ   ก็ได้มีความรู้ความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการประกอบอาชีพให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยตนเอง   ทั้งสามารถ เลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีความสุขได้ตามสมควร   ดังที่สถานีวิทยุ อสมท ได้นำ พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติด้านต่างๆ ออกเผยแพร่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๙  นับตั้งแต่เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์   ได้ทรงพัฒนา “คน”  ด้วยการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่การศาสนา  ได้พระราชทานความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขให้พสกนิกรไทยมีสุขภาพแข็งแรง  ได้พระราชทานความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน  ซึ่งเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงในโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ  เพื่อให้คนไทยมีความรู้ความความสามารถในการติดตามความก้าวหน้าต่างๆ ทั้งวิชาการ อาชีพ  และสังคมโลกได้ทัน  จากเรื่องของการ “พัฒนาคน”  ต่อไปท่านจะได้ทราบเรื่องของพระปรีชาสามารถในการบริหารจัดการกับปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย  ได้แก่ปัญหา “น้ำ”  และ  “ดิน” ดังนี้



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนา (ตอนที่ ๓)

ไทยเราเป็นประเทศกสิกรรม  ราษฎรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ๘๐ ประกอบอาชีพทางการเกษตร  จากการเสด็จฯ เยี่ยมราษฏรในทุกภูมิภาคอย่างใกล้ชิด ก็ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าปัญหาใหญ่ของพสกนิกรที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร  คือเรื่องของ“น้ำ” กับ “ดิน”  เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ยากจน   ดังนั้นหลังจากพระราชทานความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะหน้าแล้ว  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรกรรมทุกแขนงอย่างจริงจัง  และครบวงจร  ทุกขั้นทุกตอน  อันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

น้ำ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดี  ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ที่ว่า

“......หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค  น้ำใช้  น้ำเพื่อการเพาะปลูก  เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น  ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้  ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้  ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้  แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ  คนอยู่ไม่ได้....”

อีกทั้งยังทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแหล่งน้ำให้ดี  ก่อนที่ประเทศไทยจะต้องประสบกับความเดือดร้อนในเรื่องน้ำอย่างรุนแรง  ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า

“......น้ำมีมากในโลก  เป็นน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะใช้อย่างนี้ไม่ได้  แล้วนอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ที่กำลังมีมากขึ้นก็คือน้ำเน่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีน้ำเน่า  จะมีอยู่เสมอ  แต่อย่าให้น้ำเน่านั้นเป็นโทษมากเกินไป ฉะนั้นนี่เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราต้องปฏิบัติ  แล้วก็ถ้าไม่จัดการโดยเร็ว เราก็จะนอนอยู่ในน้ำเน่า  น้ำดีจะไม่มีใช้ แม้จะไปซื้อจากต่างประเทศมาก็กลายเป็นน้ำเน่าหมด เพราะว่าเอามาใช้โดยไม่ได้ระมัดระวัง    วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่าเมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้งแล้งไป  ไม่มีน้ำเหลือ จะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้   แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าคำนวณดูน้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้วยังมีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลขเหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอน น้ำนั้นน่ะในโลกมีมากแล้ว  ที่ใช้จริงๆมันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่  อาจไม่ถึงก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ  น้ำนี้จะต้องใช้ให้ดี  คือน้ำนั้นมีคุณอย่างที่เราใช้น้ำสำหรับบริโภค  น้ำสำหรับการเกษตร  น้ำสำหรับอุตสาหกรรม  ทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่าน้ำที่สะอาด  ถ้าเรามีน้ำแล้วมาใช้อย่างระมัดระวังข้อหนึ่ง และควบคุมน้ำที่เสียอย่างดีอีกข้อหนึ่ง   ก็อยู่ได้  เพราะว่าภูมิประเทศของประเทศไทย “ยังให้” ใช้คำว่า “ยังให้” ก็หมายความว่ายังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ ไม่ใช่ไม่เหมาะ  ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน   แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้  ไม่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นสวน เป็นนา   กลายเป็นทะเลทราย   ก็ป้องกันได้  ทำได้.....”

พระราชดำรัสนี้จึงเป็นที่มาของการพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระพระราชดำริที่สำคัญๆ หลายโครงการ  โดยแต่ละโครงการจะอำนวยประโยชน์แก่ราษฎรตามสภาพของปัญหาในแต่ละพื้นที่ 


ฝนหลวง

ฝนหลวง”  เกิดขึ้นจากแรงบันดาลพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในจังหวัดกาฬสินธุ์  ปี  ๒๔๙๘  ได้ทรงสังเกตุพบว่า“มีก้อนเมฆฝนมาก  น่าจะมีฝนตก แต่กลับไม่ตกดังคาด”  จึงได้ทรงทุ่มเทเวลา คิดค้น วิจัยหาแนวทางที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำฝนในประเทศไทย  ซึ่งต้องทรงใช้เวลาเกือบ ๑๐ ปี  จึงได้เริ่มโครงการพระราชดำริฝนหลวงหรือ ฝนเทียมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒   มี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงเป็นผู้ดำเนินการสนองพระราชดำริ จัดตั้งโครงการค้นคว้าทดลองการทำฝนเทียม  ได้ทำการทดลองกับเมฆในท้องฟ้าครั้งแรกที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในเดือนกรกฎาคม  แต่การทดลองครั้งนั้น ถึงแม้หลังปฏิบัติการประมาณ ๑๕ นาทีจะมีก้อนเมฆมารวมตัวกันหนาแน่น ก่อยอดสูงและมีขนาดใหญ่  รวมทั้งสีของฐานเมฆก็เปลี่ยน ดูว่าพร้อมที่จะตกเป็นฝน  แต่ไม่สามารถสังเกตุเห็นฝนตกได้เพราะยอดเขาบัง  จึงทรงแนะนำให้เปลี่ยนสถานที่ทดลองไปใช้บริเวณศูนย์โครงการพัฒนาชนบทไทย-อิสราเอล อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์โครงการพัฒนาหมู่บ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แทน   เพราะเป็นพื้นที่ที่ประสบความแห้งแล้งติดต่อกันมาหลายปี   และจะติดตามสังเกตุการทดลองได้ดีกว่า  ด้วยความร่วมมือจากตำรวจตระเวณชายแดนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตก  การรายงานผลก็ทำได้รวดเร็วโดยผ่านข่ายสื่อสารของกรมตำรวจ  และถ้าหากเกิดฝนตกมากเกินความต้องการ  ก็สามารถระบายลงสู่ทะเลได้   จะไม่เกิดอุทกภัยทำความเสียหายให้แก่ราษฎร

“การทำฝน”  เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ต่อการรับรู้ของคนทั่วไปในสมัยนั้น  นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ยังไม่มี  ทำให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงเป็นกำลังสำคัญตั้งแต่แรกตั้งโครงการตลอดจนการพัฒนากิจกรรมนี้โดยตลอดทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

ในปี   ๒๕๑๔  เกษตรกรในจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์  ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้ทำฝนช่วยเหลือนาข้าวของทั้งสองจังหวัดที่กำลังประสบภัยแล้งใกล้จะเสียหาย   ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมเป็นครั้งแรก  ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จ  นาข้าวของทั้งสองจังหวัดดังกล่าวรอดพ้นความเสียหายจากภัยแล้งครั้งนั้นได้อย่างสมบูรณ์  นับจากนั้นมาก็ได้มีการปฏิบัติการช่วยเหลือตามการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น  ควบคู่กันไปกับการพัฒนากรรมวิธีโดยตลอดพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่ได้พระราชทานโครงการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากภัยแล้งเป็นผลสำเร็จนี้   เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป  ในปี ๒๕๑๕  ได้มีคณะผู้แทนจากสาธารณรัฐสิงคโปร์มาขอศึกษาและดูการทำฝนหลวงด้วย   ในครั้งนั้นทรงรับอำนวยการสาธิตด้วยพระองค์เอง  โดยทรงกำหนดสนามบินบ่อฝ้าย ในเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ติดต่ออำเภอชะอำของจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นฐานปฏิบัติการ  โดยกำหนดให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนแก่งกระจานเป็นพื้นที่เป้าหมาย   เป็นการสาธิตที่ท้าทายมากเพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยปฏิบัติการมา    แต่ก็ปรากฏว่าหลังจากเริ่มปฏิบัติการไม่เกิน ๕ ชั่วโมง ก็ทรงสามารถบังคับให้ฝนตกลงสู่อ่างเก็บน้ำที่เขื่อนแก่งกระจานได้เป็นผลสำเร็จ  ทำให้ในปี  ๒๕๑๖  ก็ทรงสามารถสรุปกรรมวิธีการทำฝนหลวงไว้  ๓ ขั้นตอนคือ ก่อกวน  เลี้ยงให้อ้วน  แล้วโจมตี   แล้วจึงพระราชทานให้ใช้เป็นหลักของการปฏิบัติการฝนหลวงมาจนทุกวันนี้ 

และสิ่งที่นำความปลาบปลื้มมาสู่พสกนิกรไทยก็คือ  สำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ได้ออกสิทธิบัตร “ฝนหลวง” เลขที่ ๑๔๙๑๐๘๘   ภายใต้ชื่อ “Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว  โดยมีกลุ่มประเทศที่สามารถขยายผลคุ้มครองทั้งสิ้น  ๓๐ ประเทศ  และสิทธิบัตรยุโรปนี้มีอายุ ๒๐ ปี นับแต่วันขอสิทธิบัตร ดังนั้น  สิทธิบัตร“ฝนหลวง”นี้จึงจะไปหมดอายุในวันที่ ๓ กันยายน ปี ๒๕๖๖

ฝนหลวง   ยังอำนวยประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมายมหาศาล  นอกเหนือจากช่วยบรรเทาความเสียหายทางด้านการเกษตรจากภัยแล้ง  เช่น
- ทำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ  มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น  เท่ากับเป็นการช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ในขณะที่น้ำในแม่น้ำมีน้อย  ตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนก็คือ   ถ้าน้ำในแม่น้ำมีน้อยการคมนาคมทางเรือซึ่งมีความสำคัญมากในการขนส่งสินค้าเพราะมีราคาถูกก็จะสะดุด  หรือทำได้ด้วยความลำบาก  เนื่องจากสันดอนบางแห่งบางช่วงที่โดยปกติก็อยู่ใต้น้ำไม่เป็นอุปสรรคอันใด  แต่พอน้ำน้อยก็จะตื้นขึ้นเป็นอุปสรรคการเดินทาง
- สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีเส้นทางติดต่อถึงอ่าวไทย  ถ้าปริมาณน้ำลดน้อยลงเมื่อใด  จะเกิดความเดือดร้อนมากต่อผู้ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา   เพราะน้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้ามาแทนที่น้ำจืดได้ทันที ทำให้น้ำในแม่น้ำฯมีรสกร่อย  จะเกิดผลเสียหายต่อการเกษตร  จำเป็นต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลมาเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อผลักดันน้ำเค็มไม่ให้หนุนเนื่องเข้ามาทำความเสียหายได้  การที่มีน้ำจากฝนหลวงมาเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำฯ  นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มหนุนเนื่องอย่างที่กล่าวมาแล้ว  ยังจะช่วยผลักดันขยะมูลฝอยในแม่น้ำออกสู่ทะเลไปพร้อมๆ  กับการเจือจางน้ำเน่าเสียในแม่น้ำเจ้าพระยาไปในตัวด้วย
- อ่างเก็บน้ำ  ห้วย  หนอง  คลอง  บึง  เป็นแหล่งน้ำที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคและการประกอบอาชีพของผู้คน  ยกตัวอย่างในภาคอีสาน  ซึ่งมักจะขาดแคลนน้ำ  เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินร่วน ปนทราย ไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้  ใต้พื้นดินบางแห่งก็ยังมีแหล่งหินเกลือครอบคลุมเป็นพื้นที่กว้าง  เมื่อใดน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหรือขนาดกลางมีปริมาณน้อยเกลือที่อยู่ชั้นล่างก็จะเกิดการละลายแล้วลอยตัวขึ้นทำให้น้ำมีรสกร่อยหรือเค็ม  สร้างความเดือดร้อนอย่างยิ่งต่อประชาขน  การมีฝนหลวงมาเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือตามห้วย หนอง คลอง บึง จึงเท่ากับมาช่วยแก้ปัญหาคุณภาพน้ำให้ชุมชนนั่นเอง  แต่ถ้าคิดต่อไปว่าฝนหลวงช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ๆ เช่นเขื่อนภูมิพล  หรือเขื่อนสิริกิติ์ด้วย  ก็ยิ่งจะเห็นประโยชน์อย่างใหญ่ขึ้นไปอีก  เพราะทุกวันนี้เราทราบกันดีว่า  ได้มีการนำน้ำจากเขื่อนดังกล่าวมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง   เช่นใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งให้ใช้กันอย่างทั่วถึง ทั้งใช้เพื่อแสงสว่าง  และเพื่อการอุตสาหกรรม   ช่วยผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา   และใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี  เช่นงานลอยกระทงเป็นต้น   เมื่อใดที่น้ำในเขื่อนน้อยเราจะมีความวิตกกังวลกันมากมายเพราะจะไม่มีน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างที่กล่าวมา  การมีฝนหลวงมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนอย่างไม่ขาดแคลน จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้



โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

การชลประทาน” เป็นพระราชกรณียกิจด้านหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทความสนพระราชหฤทัย และทรงปฏิบัติควบคู่กันไปกับการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร  ด้านอื่น โดยอาศัยความร่วมมือจากกรมชลประทาน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาจัดสร้างเขื่อน  ฝาย  อ่างเก็บน้ำ  คลองระบายน้ำ และคลองส่งน้ำต่างๆ  เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับ “น้ำ” ที่ราษฎรประสบอยู่ให้หมดไป   ได้เสด็จฯ  ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศจริง ทั้งต้นน้ำลำธาร และพื้นที่การเกษตร  และทรงสอบถามชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับชื่อ  และตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งน้ำ ลำธาร แล้วทรงตรวจสอบกับแผนที่ที่จะทรงถือติดพระหัตถ์อยู่เสมอว่าตรงกันหรือไม่  เมื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน  แล้วจึงทรงกำหนดแนวทางแก้ไข    สำหรับแนวพระราชดำริด้านชลประทานอย่างกว้างๆ ก็คือ   ระบายน้ำส่วนเกินที่อาจสร้างความเสียหายแก่ราษฎรไปเก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำ  เพื่อระบายต่อไปยังพื้นที่ที่ทำการเกษตรในช่วงขาดแคลนน้ำ  พื้นที่ใดที่มีน้ำขังตลอดปีก็ให้ขุดคลองเพื่อระบายน้ำออก ให้พื้นที่บริเวณนั้นแห้งขึ้น  จนใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมได้     และผลของการขุดคลองซอยไปเชื่อมกับลำคลองธรรมชาติสำหรับส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกนั้น  ยังเกิดผลพลอยได้ขึ้น  คือมีแหล่งน้ำสำหรับเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น  ราษฎรก็มีแหล่งอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น  โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีมากกว่า ๑,๐๐๐ โครงการ  แต่ละโครงการก่อสร้างอย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ  กับแหล่งน้ำและสอดคล้องกับปัญหาของแต่ละท้องที่  แต่ในภาพรวมสามารถจำแนกประเภทได้ดังนี้

- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภค  ได้แก่  อ่างเก็บน้ำ  ฝายทดน้ำที่ก่อสร้างบริเวณต้นน้ำ หรือใกล้ลำน้ำ  แล้วสร้างระบบส่งน้ำไปเก็บไว้ที่บ่อจ่ายน้ำ ราษฎรสามารถขุดคูจากบ่อน้ำ จ่ายไปยังแปลงเพาะปลูกโดยตรง วิธีนี้ช่วยให้ราษฎรมีน้ำกินน้ำใ