ในหลวงกับการพัฒนา ตอนที่ 2
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.2K views




วันที่ ๙ มิถุนายนนี้ (๒๕๔๙)  เป็นวันมหามงคล  เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาครบ ๖๐ ปี    และเป็น ๖๐ ปีที่ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ไปในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในอันที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนและชาติบ้านเมือง   และเป็นการยากเกินกว่าที่ผู้ใดจะสามารถนำเรื่องราวความเสียสละ  พระปรีชาสามารถ ตลอดจนพระเมตตาธรรมมากล่าวได้ถูกถ้วน  สถานีวิทยุ อสมท  จึงได้อัญเชิญฯ  พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัตินานัปการออกเผยแพร่เพื่อเฉลิมพระเกียรติอย่างต่อเนื่องตลอดปีแห่งการเฉลิมฉลองดังต่อไปนี้



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนา  (ตอนที่ ๒)

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ นิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร  และได้ทรงพบว่าสภาพบ้านเมืองตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรส่วนใหญ่ยังล้าหลัง   ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในเรื่องสุขภาพอนามัยของพสกนิกรอยู่ระยะหนึ่ง  พอปี  ๒๔๙๕  ก็ได้เริ่มเสด็จฯ  เยี่ยมเยียนราษฎรอย่างเป็นทางการ  ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ได้พระราชทานพระราชดำริโครงการแรก คือการสร้างถนนบ้านห้วยมงคล  ปัจจุบันคือตำบลทับใต้  อำเภอหัวหิน เพื่อให้ราษฎรนำพืชผลการเกษตรไปขายได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น   ต่อมาในปี  ๒๔๙๖  ก็ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริทางด้านชลประทานแห่งแรกที่อำเภอหัวหินอีก  ได้แก่การสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรจากภาวะแห้งแล้ง  ในปีเดียวกันนั้น  โครงการช่วยเหลือทางด้านประมงก็ถือกำเนิดขึ้นด้วยเหมือนกัน  ได้แก่  การพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านของตนจะได้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น   นอกจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ  ของภาคกลางอย่างทั่วถึง  ได้แก่  จังหวัดเพชรบุรี  ราชบุรี  นครปฐม  สุพรรณบุรี  อ่างทอง สิงห์บุรี  และชัยนาท เป็นต้น 

ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริเพื่อการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ  หลากหลายโครงการ ทำให้ประชาชนในภาคกลางมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  หรือภาคอีสาน ซึ่งได้ชื่อว่าแห้งแล้งกันดารและยากจนที่สุด เป็นภาคต่อไปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียน   การเสด็จฯ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน  ๒๔๙๘ ซึ่งต้องทรงใช้พาหนะทั้งรถยนต์ รถไฟ เฮลิคอปเตอร์ หรือเครื่องบิน ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ  ด้วยความยากลำบากครั้งนั้น  มีราษฎรมาเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างล้นหลาม  แม้บางพวกบางกลุ่มจะต้องใช้เวลาในการเดินทางข้ามวันข้ามคืนก็มิได้ย่อท้อ  ต่างนำสิ่งของเท่าที่พอจะหาได้มาทูลเกล้าฯ ถวายด้วยความจงรักภักดีเช่น กล้วยน้ำว้า ๑ หวี  อาหารพื้นบ้านห่อเล็กๆ  หรือดอกไม้เพียง ๑ ดอก ก็ทรงรับไว้ด้วยความเต็มพระราชหฤทัย   เมื่อได้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ขึ้นที่จังหวัดสกลนครแล้ว  ก็ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคมของทุกปี  และได้เสด็จฯ ออกเยี่ยมราษฏรอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง  ทรงพบว่าชาวอีสานยากจนข้นแค้น  แผ่นดินก็มีแต่ความแห้งแล้งเพราะป่าไม้ถูกทำลายเกือบหมด ทั้งยังเป็นผืนดินทรายที่ไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้  ทำให้ราษฎรขาดแคลนทั้งน้ำกิน  น้ำใช้และน้ำเพื่อทำการเกษตร  จึงได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงานเข้าเฝ้าฯ  รับสนองพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรเช่น  กรมชลประทานรับสนองฯ  ในเรื่องของการสร้างอ่างเก็บน้ำ  ขุดคลองส่งน้ำ  สร้างฝายทดน้ำ ซึ่งในปีหนึ่งๆ ก็หลายสิบโครงการ  หน่วยงานพัฒนาชุมชนรับสนองฯ  การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน  หน่วยทหารในพื้นที่รับสนองฯในการสร้างโรงเรียนเพื่อให้บุตรหลานราษฎรได้มีที่เรียน  ที่ศึกษาหาความรู้และได้รับการปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรมเป็นอนาคตที่ดีของชาติ  โครงการตามพระราชดำริเพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรในภาคอีสานเกิดขึ้นตามความจำเป็นและเหมาะสมมากมายหลายโครงการ  กระจายตัวอยู่ในทุกจังหวัด  และมีการติดตามผลงานอยู่เสมอ  ช่วยให้ปัจจุบันชาวอีสานมีน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร  อันเป็นอาชีพหลัก  มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกต่อการขนส่งพืชผลการเกษตร   บุตรหลานชาวอีสานมีที่ศึกษาเล่าเรียน  บรรดาแม่บ้านที่แต่เดิมผลิตของกินของใช้จากภูมิปัญญาชาวบ้านได้รับการพัฒนาฝีมือจนสามารถผลิตเพื่อการจำหน่าย  ตามโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ทำให้มีรายได้พิเศษเพิ่มพูนขึ้น 

ภาคเหนือ  ในปีถัดมา  (๒๔๙๙)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ก็เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ  โดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง  ได้ทรงหยุดพักตามจังหวัดรายทางเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระพุทธรูปและพระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ในแต่ละจังหวัด  และทรงเยี่ยมราษฎรด้วย  เริ่มจากพิษณุโลกเป็นจังหวัดแรก  ถัดไปก็สุโขทัย  ตาก  ลำพูน  เชียงใหม่และเชียงรายตามลำดับ  ในทุกที่ที่เสด็จฯไปถึงได้มีราษฎรมาคอยเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อย่างล้นหลาม  บางคนต้องเดินทางแรมวันแรมคืนมารอเฝ้าฯ เช่นเดียวกับราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และที่เชียงใหม่  มีชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ มาเฝ้าฯ รับเสด็จอยู่ที่เชิงดอยเป็นจำนวนมากด้วย  ซึ่งก็ทรงมีพระราชปฏิสันถารใกล้ชิด มิได้ถือพระองค์ ก่อให้เกิดความปลื้มปิติแก่เหล่าพสกนิกรเป็นอย่างมาก   ระหว่างเสด็จฯ  เที่ยวกลับกรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็ได้ทรงหยุดพักตามจังหวัดรายทาง  เช่น  แพร่ น่าน อุตรดิตถ์  และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ  เช่นเดียวกันกับเมื่อเสด็จฯ เที่ยวขาไป  ซึ่งก็ปรากฏว่ามีราษฎรมาคอยเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างล้นหลาม  หลังจากทรงเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ต่างๆมาวิเคราะห์  แล้วจึงพระราชทานโครงการพระราชดำริซึ่งล้วนแล้วแต่เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้ดีขึ้นทั้งสิ้น  เป็นต้นว่า  โดยปกตินั้น  ชาวเขาบนดอยและที่ราบสูง  ส่วนใหญ่เขาปลูกฝิ่น  และทำไร่เลื่อนลอยกันเป็นอาชีพ  ฝิ่นนั้นเป็นที่มาของมหันตภัยต่อทุกชีวิตมนุษย์  ในขณะที่การทำไร่เลื่อนลอยเป็นสาเหตุให้ต้องตัดไม้ทำลายป่า  ทำลายต้นน้ำลำธาร  ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายเป็นลูกโซ่กันไปจนถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศในท้ายที่สุด  โครงการปลูกพืชพันธุ์ไม้เมืองหนาวจึงเกิดขึ้น  โดยได้ทรงทดลองปลูกเลี้ยงพืชเมืองหนาวแล้วพระราชทานให้ชาวดอย บนที่ราบสูงนำไปปลูกทดแทนฝิ่นและเลิกการ็ทำไร่เลื่อนลอย เป็นต้น

ภาคใต้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ ไปทรงเยือนภาคใต้  ในปี ๒๕๐๑  เริ่มจากจังหวัดชุมพรเป็นต้นไปจนถึงนราธิวาส สุดเขตแดนภาคใต้  การเสด็จฯ ครั้งนั้นสมควรจารึกในประวัติศาสตร์ทีเดียวว่า  ได้มีราษฎรทั้งไทยพุทธ  และไทยมุสลิมหลั่งไหลมาคอยเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อย่างที่เรียกว่า “มืดฟ้ามัวดิน”  โดยมิได้ย่อท้อต่อการเดินทางที่แสนไกล  ต่อสถานที่คอยเฝ้าฯ  ที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คน แม้จะต้องยืนแช่น้ำในชายฝั่งทะเลสาปสงขลาก็ยังดี  ขอแต่ได้ชมพระบารมีเท่านั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เหล่าพสกนิกรได้เข้าเฝ้าใกล้ชิด  ต่างได้แสดงความจงรักภักดีตามแบบวัฒนธรรมของตน  เช่นชาวไทยพุทธก็จะปูผ้าเช็ดหน้าเพื่อให้ทรงพระดำเนินประทับรอยพระบาท  จะได้นำไปบูชา  บางคนขอพระราชทานพระหัตถ์ขึ้นทูนเหนือศีรษะเพื่อความเป็นสิริมงคล  ส่วนชาวไทยมุสลิมก็ขอพระราชทานจูบพระหัตถ์อันเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง  ที่จังหวัดนราธิวาสชาวไทยมุสลิมได้อัญเชิญเสด็จฯ เข้าประทับในสุเหร่าเพื่อเป็นเกียรติ  ทั้งๆ ที่ตามประเพณีทางศาสนาอิสลามจะถือเคร่งครัดไม่อนุญาตให้คนต่างศาสนาเข้าไปในศาสนสถานของตน  บางจังหวัดราษฎรก็นำสิ่งของมีค่าเช่น  ดาบประจำตระกูล   พระพุทธรูปเก่าแก่มาทูลเกล้าฯถวายด้วยความจงรักภักดี   การเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรครั้งนั้น และครั้งต่อ ๆ มาทำให้ทรงมีข้อมูลที่ได้ศึกษาไว้  ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ้านเมือง ภูมิประเทศ  วัฒนธรรมความ  การดำรงชีพ มาวิเคราะห์  คิดค้น หาทางแก้ไขปัญหาต่างๆที่เป็นข้อเดือดร้อนของราษฎรอยู่ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อศึกษาวิจัยดินพรุอันเป็นปัญหาใหญ่ของภาคใต้  

ในการพระราชทานโครงการพระราชดำรินั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงใช้ความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง  กล่าวคือหลังจากได้พระราชทานความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเฉพาะหน้าไปแล้ว  ก็จะมีการศึกษาค้นคว้า เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตต่อไป    อันเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ แห่ง  ในทุกภาค  โดยมีหลักการดำเนินงานตามพระราชดำรัสที่ได้อัญเชิญบางส่วนมาดังนี้

“....การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์  และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา   ภูมิประเทศตามสังคมวิทยาคือนิสัยใจคอของคน  เราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้  เราต้องแนะนำเราเข้าไป ไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้  แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริง ๆ แล้วอธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้  ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง....”

“.......เป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ  หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง  ทุกด้านของชีวิต  ประชาชนที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำอย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่  จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ...”

“......ด้านหนึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ  ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่  เพราะว่าแต่ละท้องที่  สภาพฝน ฟ้า อากาศ และประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ ก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน......”

“......กรม กองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้าน ได้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปรองดองกัน ประสานกัน   ตามธรรมดาแต่ละฝ่ายต้องมีศูนย์ของตน แต่ว่าอาจจะมีงานถือว่าเป็นศูนย์ของตัวเองคนอื่นไม่เกี่ยวข้อง  และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกอง ทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางาน การส่งเสริมการศึกษาอยู่ด้วยกัน  ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งจะต้องใช้วิชาการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู   ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกันเหมือนกัน  ซึ่งเป็นสองด้าน ก็หมายถึงว่าที่สำคัญ  ปลายทางคือประชาชนจะได้รับประโยชน์  และต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่ จะให้ประโยชน์....”

ดังนั้น  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแต่ละศูนย์จึงมีลักษณะการดำเนินงานโดยสรุปดังนี้

๑. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ  ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา   
-  ดำเนินการจัดทำเป็นศูนย์ศึกษาด้านเกษตรกรรม และมีการดำเนินงานด้านพัฒนาสังคมตามพระราชดำริควบคู่กันไปด้วย  เช่น  การฝึกอบรมด้านศิลปาชีพ,  ดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก,  ดำเนินกิจการโรงสีเพื่อช่วยเหลือราษฎร,  มีการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่  และส่งเสริมการรวมตัวกันในรูปสหกรณ์ตลอดจนขยายผลการพัฒนาไปสู่ประชาชนรอบหมู่บ้านด้วย
-  ส่วนราชการที่เข้ามาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ได้แก่กรมชลประทาน  กรมพัฒนาที่ดิน  กรมส่งเสริมการเกษตร  กรมประมง  กรมป่าไม้  กรมการพัฒนาชุมชน  กรมปศุสัตว์  และ กรป.กลาง

๒. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ  ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี  ก่อตั้งขึ้นโดยเหตุที่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนซึ่งเป็นแหล่งการประมงใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีเสื่อมโทรมลงมาก  เนื่องจากพื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง  
-   การดำเนินงานของศูนย์ฯ นี้ได้แก่ ค้นคว้า ทดลอง  และสาธิตการพัฒนา-ปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านประมงชายฝั่ง ให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อการพัฒนาตนเองได้ในระยะยาว  ศึกษาวิธีการปล่อยสัตว์น้ำชายฝั่งและสำรวจอัตราการจับสัตว์น้ำบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน รวมถึงจัดพื้นที่ให้ราษฎรบริเวณรอบอ่าว ทำแปลงสาธิตเลี้ยงหอย  มีการฝึกอบรมและส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองด้านการตลาด  มีการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่และขยายผลการพัฒนาไปสู่ประชาชนในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ด้วย
-  ส่วนราชการที่ทำหน้าที่อำนวยการได้แก่กรมประมง

๓. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ  ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส  ก่อตั้งขึ้นโดยเหตุที่สภาพพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะแถบจังหวัดนราธิวาสบางแห่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี  ทำให้ดินเปรี้ยว มีสภาพเป็นกรด เรียกว่า “ดินพรุ” ที่แม้เมื่อระบายน้ำออกแล้วก็ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้  เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน  เนื่องจากอาณาเขตที่เป็นดินพรุนี้กว้างขวางถึงประมาณสี่แสนไร่
- การดำเนินงานหลักของศูนย์ฯนี้จึงมีเป้าหมายอยู่ที่การศึกษาวิจัยดินพรุให้สามารถใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมได้มากที่สุด พร้อมกันนั้นก็มีการพัฒนาทางสังคม   ได้แก่การให้ความรู้การใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน  ควบคุมโรคระบาดในคนและสัตว์  ฝึกอบรมและให้ความรู้ในการประกอบอาชีพแผนใหม่  มีการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่และขยายผลการพัฒนาสู่ประชาชนรอบหมู่บ้าน
- ส่วนราชการที่ทำหน้าที่อำนวยการได้แก่กรมพัฒนาที่ดิน

๔. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ  ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร   ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงต่อภาวะผันผวนของดินฟ้าอากาศสูง  อีกทั้งสภาพดินก็เป็นดินทรายที่ไม่อุ้มน้ำ  ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  เกษตรกรจึงมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยและได้ผลผลิตต่ำ
- การดำเนินงานหลักคือศึกษา ทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่างๆ  ตามความเหมาะสม รวมทั้งพัฒนาด้วยระบบชลประทาน  การปลูกพืชเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร  มีการขยายผลการศึกษาพัฒนาให้ราษฎรเห็นตัวอย่างของความสำเร็จ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติ   ศูนย์ฯ นี้มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาอาชีพทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน   รวมถึงการให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุข, การทำบัญชีธุรกิจแบบผสมผสาน, การประกอบอาชีพแผนใหม่  มีการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่  และขยายผลการพัฒนาสู่ประชาชนในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ด้วย
- ส่วนราชการที่ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการคือกรมชลประทาน

๕. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ  ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่   ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากภาคเหนือมีการตัดไม้ทำลายป่า  แหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลายด้วย  ทำให้ดินถูกชะล้างจนขาดความอุดมสมบูรณ์  และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำ อันจะทำให้เศรษฐกิจของประชาชนเสียหายในท้ายที่สุด
- การดำเนินงานหลัก คือศึกษา ค้นคว้าและทดลองหารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร, การใช้ลุ่มน้ำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชุมชน , การพัฒนาที่จะให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ  นอกจากนั้นยังมีการ ศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ทั้งยังมีการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่และขยายผลการพัฒนาไปสู่ประชาชนในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ด้วย 
- ส่วนราชการที่ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการคือกรมชลประทาน

๖. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ  ตั้งอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตำบลสามพระยา  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี    ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีราษฎรบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อประกอบอาชีพตามยถากรรม ทำให้ป่าไม้และป่าต้นน้ำลำธารที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ ถูกทำลายอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี  ส่งผลให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาลและมีปริมาณน้อยลง ประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรด ซึ่งต้องใช้สารเคมีมาก ก็ยิ่งทำให้คุณภาพดินต่ำลง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า “หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด”    
- การดำเนินงานมุ่งเน้นการศึกษาแนวทาง  วิธีการที่จะพัฒนา ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม  โดยพยายามให้เกษตรกรมีส่วนในการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าควบคู่กันไปกับการศึกษารูปแบบการพัฒนาการเกษตร  ศึกษาระบบวิธีป้องกันไฟไหม้ป่าในระบบ“ป่าเปียก” และจัดที่ดินให้ราษฎรที่บุกรุกเข้าทำกิน  มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต,  ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ และการตลาด,  สาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่และขยายผลการพัฒนาสู่ประชาชนในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
- ผู้รับสนองพระราชดำริคือ ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ  จักรพันธุ์ (ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ)  กับ ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือ กปร.

การดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นก็ขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้นทุกปี ได้อำนวยประโยชน์สุขแก่ราษฎรชาวไทยมากมายมหาศาล  ซึ่งทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านอย่างประมาณมิได้



พระร้อยรัดดวงใจไทยทั้งผอง

“บึงกุดเค้า” เป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ในท้องที่ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นมีราษฎร ๓ หมู่บ้านอาศัยน้ำจากบึงแห่งนี้ดำรงชีวิต  ภายหลังบึงเกิดตื้นเขิน  ราษฎรได้รับความเดือดร้อนอยู่ๆ มา  กรมชลประทานก็เข้าดำเนินการปรับปรุง โดยไม่มีใครทราบว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มาทราบกันก็เมื่อการพัฒนาบึงกุดเค้าแล้วเสร็จ

นายเปลี่ยน  หนึ่งในชาวบ้านที่อาศัยน้ำจากบึงกุดเค้าดำรงชีวิตมานาน เล่าว่า “ชาวบ้านในตำบลกุดเค้ามีอาชีพทำนา-ทำไร่ ซึ่งเดิมทีอาศัยแต่น้ำฝน ปีไหนฝนแล้งได้ผลผลิตน้อยมาก  ฤดูแล้งไม่เคยปลูกพืชใดๆ ได้เลยเพราะไม่มีน้ำ และไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน จะขายบ้านแล้วย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นก็ไม่มีใครซื้อ   แต่เวลานี้สภาพเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากหน้ามือเป็นหลังมือด้วยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่แผ่มาทุกพื้นที่โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว  หน้าฝนทำนาปีถ้าฝนไม่พอสูบน้ำออกมาช่วย  หน้าแล้งปลูกถั่วเหลือง  ข้าวโพด    เมื่อก่อนหน้าจะพัฒนาบึง ชาวบ้านทำนาได้ปีละหน พอถึงหน้าทำนากรมชลประทานต้องจัดเครื่องสูบน้ำมาช่วย  แต่ตอนนี้บึงมีทำนบเก็บน้ำได้   มีน้ำมาก  ทำไร่ทำนาได้ผลมากขึ้นกว่าเดิม ต้องการใช้น้ำเวลาไหนสูบออกมาใช้ได้เลย”

นายสุพงษ์  และนางวนิดา  วรพงษ์  สองสามีภรรยาที่เคยไปรับจ้างทำงานในเมือง  เมื่อทราบว่าบ้านเกิดได้รับการพัฒนา  จึงย้ายกลับถิ่นฐานมาประกอบอาชีพทำประมง เลี้ยงปลา และเพาะพันธุ์ปลาขาย

นางวนิดาเล่าว่า “รู้สึกดีใจมาก ปลื้มใจมาก เมื่อทราบว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีขึ้น  ชาวบ้านรอบๆ บึงกุดเค้าสามารถสร้างประโยชน์จากน้ำในบึงนี้ได้”

ที่ห้วยทราย เพชรบุรี  นายเจริญ ทองนุ่ม เล่าไว้ว่า “ ได้อพยพหนีความลำบากมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี ขณะที่อายุเพียง ๑๗ ปี เข้ามารับจ้างทำงานที่กองพลาธิการตำรวจตระเวณชายแดน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่หลายปี  ประมาณ ปี ๒๕๑๕ ได้เข้าไปบุกเบิกจับจองที่ดินเหมือนๆ กับที่ราษฎรจำนวนมากในบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวันทำ  เวลานั้นป่าไม่มีปรากฏให้เห็นแล้ว  ชาวบ้านเข้าไปถากถางทำไร่มันสำปะหลังกัน  ต่อๆ มาก็เริ่มปลูกสับปะรด    ปลูกมันสำปะหลังใหม่ๆ ได้ผลผลิตดีปลูกไปๆ หัวก็เล็กลง แล้วเหลือไร่ละตันครึ่งตัน  พอดีรู้ข่าวว่าในหลวงมาจัดหาน้ำให้  ก็เลยเลิกปลูกเพราะราคาก็ตกต่ำ ต้นก็เริ่มโทรม   ปี  ๒๕๒๔  ในหลวงเสด็จฯ มาที่น้ำตกหุบสบู่  ผมเห็นรถขบวนกลางทางก็เลยขี่รถเครื่องตามเข้าไป  รับสั่งถามถึงกำนันซึ่งไม่ได้อยู่ในที่นั้น แล้วก็รับสั่งถามผมถึงแหล่งน้ำที่เหมาะสมจะสร้างอ่างเก็บน้ำได้  ผมได้กราบบังคมทูลถึงความเหมาะสมของห้วยหุบสบู่และลำห้วยตะแปด  อีกไม่นานต่อมาพวกเราราษฎรทุกครอบครัวที่นี่ก็ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด  ท่านห่วงใยราษฎรจริงๆครับ  รับสั่งถามถึงการทำมาหากิน  ความเป็นอยู่  ปัญหาความยากลำบาก   ผมว่าบางทีพอเราได้เป็นผู้ใหญ่แล้ว  พ่อแม่เราบางครั้งยังไม่ห่วงเหมือนในหลวงเป็นห่วงพวกเราเลย  ผมได้เฝ้าฯ รับเสด็จฯ  ผมถือเป็นสิริมงคลครับ..”



พระราชดำรัส

“ ....คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา  จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย  ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่   แต่เราอยู่พอมีพอกิน  และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ  และทำงาน  ตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน  ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ  เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ  ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้  ประเทศต่างๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวด ทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ  ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดและมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร  ขอย้ำ  พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล....”

พระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคม  องค์การเกี่ยวกับศาสนา  ครู  นักเรียนโรงเรียนต่างๆ และนักศึกษามหาวิทยาลัย  ในโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล  เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ๔  ธันวาคม  ๒๕๑๗



ที่มา - หนังสือองค์พระผู้สถิตย์ในหทัยราษฎร์ ของ กปร.
        - เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี :  คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ : สกุลไทย ๖ ธค. ๔๘ , ๑๑,๑๘,๒๕  เม.ย. ๔๙
        - จุลสาร ของ กสอ. ฉบับที่ ๖ มิถุนายน  ๒๕๓๙
        - https://web.ku.ac.th/king72/2542-10/page02.htm
        -  พระราชกรณียกิจ : สำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท. : อังคารที่ ๕,๑๓ พ.ย. ๒๕๓๙, ๓ ธค. ๓๙



ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท เรื่อง  “ในหลวงของเรา” ผลิตโดย งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ