วันสิ่งแวดล้อมโลก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 11.7K views



วันสิ่งแวดล้อมโลก

 มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาโดยตลอด  การดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่งย่อมส่งผลกระทบถึงอีกสิ่งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  การใช้พลังงานของมนุษย์ ต้องมีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นตัวป้อนให้เกิดพลังงาน   จึงต้องมีการขุดค้นหาแร่ธาตุ เช่นก๊าซธรรมชาติ  น้ำมันปิโตรเลียม  ฯลฯ ที่อยู่ใต้พื้นพิภพขึ้นมาใช้  ยิ่งมนุษย์ใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเท่าใด  ก็ย่อมต้องมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เป็นเงาตามตัว  นี่เป็นเหตุเป็นผลให้ทุกประเทศเห็นความสำคัญของความร่วมมือกัน  ลดความฟุ่มเฟือยในการอุปโภคบริโภคสิ่งที่ต้องใช้พลังงานให้น้อยลง

วันที่ 5-16  มิถุนายน ของปี พ.ศ. 2515  สหประชาชาติก็ได้ร่วมกับรัฐบาลประเทศสวีเดนจัดการประชุมที่เรียกว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” ( UN Conference on The Humen Environment ) เพื่อพิจารณาร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่  ผลการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายๆ อย่าง เช่นการจัดตั้ง “โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ” (United Nation Environment Programe)  มีชื่อย่อว่า “ยูเนป”(UNEP) ขึ้น  สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา   ทั้งยังมีความตกลงให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตนด้วย    และได้มีการกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนอันเป็นวันแรกของการประชุมฯ เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นแห่งความร่วมมือกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างชาติต่างๆ ทั่วโลก   

สำหรับประเทศไทยเรานอกจากจะได้มีการตรากฏหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมฉบับแรกขึ้นในปี 2518  แล้วยังได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้นด้วย  เป็นการเริ่มต้นดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย   จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535  ก็ได้มีการปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็น 3 หน่วยงาน   ประกอบด้วยกรมควบคุมมลพิษ  กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

จริงอยู่ที่มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า “การดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”  แต่ หากเราดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ทุกอย่างย่อมอยู่ได้อย่างสมดุล  โดยวิธีการที่ดีที่สุดและทุกคนทำได้ ก็คือ “คิดทุกอย่างก่อนใช้  และใช้ทุกอย่างอย่างประหยัด”

ทุกคนประหยัดจากในบ้านได้
- เลือกใช้ภาชนะที่นำมาหมุนเวียนได้สำหรับใส่อาหารเก็บในตู้เย็นแทนการใช้ถุงพลาสติค, ใช้ถุงพลาสติคในขนาดที่เหมาะสมกับสิ่งของ  และไม่ใช้ถุงพลาสติคที่ผ่านกระบวนการผลิตใหม่ใส่อาหารร้อนจัด หรืออาหารมัน
- ใช้ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าขี้ริ้วเช็ดสิ่งสกปรกแทนการใช้กระดาษชำระ
- ลดปริมาณการใช้ผงซักฟอกให้น้อยลง ซักเสร็จแล้วนำน้ำซักผ้าไปรดต้นไม้นอกจากจะประหยัดน้ำรดต้นไม้แล้ว สารบางตัวจากผงซักฟอกจะทำให้ต้นไม้งามอีกด้วย
- ถ้าอาบน้ำอุ่น ควรทราบว่าเครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง จะใช้ไฟเท่ากับเปิดไฟถึง 30 ดวง จึงควรใช้เท่าที่จำเป็น และปรับระดับความร้อนให้ต่ำ  ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนให้ตัวเครื่อง  และระบายตะกอนที่คั่งค้างในตัวเครื่องทุกเดือนเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน
- การอาบน้ำโดยใช้ฝักบัวจะเปลืองน้ำน้อยกว่าวิธีอื่น และไม่ควรเปิดฝักบัวไว้ขณะฟอกสบู่
- ขณะกำลังแปรงฟันหรือโกนหนวดอยู่ต้องปิดน้ำ ไม่ปล่อยให้ไหลทิ้งไปเปล่าๆ ในขณะนั้น
- ล้างรถโดยใช้น้ำใส่ถัง กับฟองน้ำ จะประหยัดกว่าใช้น้ำจากสายยางฉีดล้างโดยตรง
- หมั่นตรวจสอบเตาแก๊สให้มีเปลวไฟสีน้ำเงินเสมอ หากเปลวไฟเป็นสีเหลืองหรือทำให้เกิดเขม่าที่ภาชนะ แสดงว่าท่อแก๊สอาจอุดตันทำให้เปลืองแก๊ส
- อุณหภูมิของตู้เย็นควรอยู่ที่ระดับ 0-5 องศา หากปรับเย็นกว่านั้นอีก 10 องศา จะทำให้เปลืองพลังงานเพิ่มอีก 25 %และควรทำความสะอาดคอนเดนเซอร์คอยส์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแผงลวดที่ติดด้านหลังเครื่องปีละครั้ง
- การใช้ เครื่องปรับอากาศ ไม่ควรตั้งความเย็นให้ต่ำเกินปกติ เพราะนอกจากไม่ทำให้ห้องเย็นเร็วแล้วยังสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ  มีหลายๆ คนมักจะเปิดหน้าต่างหรือประตูทันทีที่ปิดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด  เพราะจะทำให้ความชื้นจากอากาศภายนอกถ่ายเทเข้าไปสะสมอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องเช่น  ที่นอน ผ้าห่ม หมอน ฯลฯ    ซึ่งก็จะทำให้เมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศในครั้งต่อไป   เครื่องฯ จะต้องใช้พลังงานเพิ่ม เพื่อรีดความชื้นจากวัสดุภายในห้องดังกล่าวเสียก่อน แล้วอากาศในห้องจึงจะเย็นได้  ดังนั้นถ้าหากจะต้องการใช้ห้องนั้นอีกในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก  เมื่อปิดครื่องปรับอากาศแล้วก็อย่าเปิดหน้าต่างหรือประตูทิ้งไว้ จะได้ไม่ต้องเสียพลังงานเพิ่มในการรีดความชื้นฯ ไปเปล่าๆ  นอกจากนั้นควรทำความสะอาดไส้กรองอากาศประมาณเดือนละครั้งด้วย ก็จะช่วยลดพลังงานที่ใช้กับพัดลมเครื่องปรับอากาศได้อีก
- เลือกซื้อของที่บรรจุกล่องหรือถุงกระดาษ ซื้ออาหารที่ห่อด้วยวัสดุธรรมชาติ
- พยายามใช้ประโยชน์จากของเหลือในบ้านให้ได้มากที่สุด  เครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างหรือแม้แต่เสื้อผ้า  ชิ้นส่วนบางชิ้นสามารถถอดหรือเลาะเก็บไว้เป็นอะไหล่สำหรับซ่อมแซมของใช้ชิ้นอื่น  หรือประดิษฐ์ของใช้อย่างอื่นได้อีก
- ใช้รถส่วนตัวเท่าที่จำเป็น  และใช้บริการขนส่งมวลชนให้มากขึ้น   ถ้าจะใช้รถส่วนตัวก็ควรบริหารจัดการให้ดี เช่น สมาชิกของครอบครัวพยายามจัดตารางการเดินทางให้สามารถไปพร้อมๆ กันได้หลายคนในเที่ยวเดียว  แม้เพื่อนบ้าน คนรู้จักที่อยู่ทางเดียวกันก็น่าจะประสานประโยชน์ให้เดินทางด้วยกันได้ ก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้สองต่อ  คือประหยัดในส่วนของผู้ใช้รถเอง  กับในส่วนที่จะต้องสูญเสียไปกับการจราจรที่ติดขัด  เนื่องจากรถมาก  และควรมีการศึกษาเส้นทาง – วางแผนการเดินทางก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง 
- ดูแลสภาพเครื่องยนต์ และยางรถยนต์ให้ดีอยู่เสมอ

ข้อควรจำ
ประหยัดใช้ของ  = ประหยัดพลังงาน  =  ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  = ประหยัดเงินของตัวเอง

 

ที่มา
- สิ่งแวดล้อมโลก   สนเทศน่ารู้  :  https://www.lib.ru.ac.th/journal/worldenvironmentday.html.
- วันสิ่งแวดล้อมโลก:tungsong.com/Important_day/DEnvironment/environment03.asp
- สมุดภาพวัยฝันวันโลกสวย : โครงการประกวดภาพถ่ายเพื่อรณรงค์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมเด็ก

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "วันสิ่งแวดล้อมโลก"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ