การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ตอน เพลงพวงมาลัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 117.8K views




การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ตอน เพลงพวงมาลัย



ความเป็นมาของการเล่นเพลงพวงมาลัย
     การเล่นเพลงพวงมาลัยนิยมเล่นทางจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี  เพชรบุรี  และประจวบคีรีขันธ์   สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้ง แรกที่จังหวัดเพชรบุรี  มักเล่นในงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานลอยกระทงวันเพ็ญเดือนสิบสอง  งานผ้าป่ากฐิน งานสงกรานต์  งานโกนจุก  บวชนาค  โดยมากมักจะร้องควบคู่กันไปกับการเล่นกีฬาพื้นเมืองอย่างหนึ่ง  คือ “ช่วงชัย” ถ้าปาลูกช่วงถูกผู้ใดผู้นั้นจะต้องรำ  ฝ่ายหญิงถูกรำ  ฝ่ายชายก็ร้องเป็นเชิงเกี้ยว  ถ้าฝ่ายชายต้องรำ ฝ่ายหญิงก็มักจะร้องว่าต่างๆ  แต่บางทีก็ร้องเป็นแบบโต้ตอบ  ไต่ถามบ้านช่อง  และอาชีพของกันและกัน

วีธีเล่นเพลงพวงมาลัย
     วิธีเล่นจะตั้งวงกลมสลับชาย – หญิง เป็นคู่ ๆ มีพ่อเพลง แม่เพลง ลูกคู่ พ่อเพลงแม่เพลง จะออกมายืนกลางวงร้องเพลงโต้ตอบกัน  ใช้มือประกอบคำร้องบ้าง พวกที่ยืนอยู่ในวงเป็นลูกคู่รับ 
ใช้ปรบมือเข้ากับจังหวะเพลง ลูกคู่รับเฉพาะบรรทัดต้นกับบรรทัดสุดท้ายตอนจบเท่านั้น ในสมัยก่อนนิยมร้องกลอนสด  บางครั้งพ่อเพลงหรือแม่เพลงคิดกลอนไม่ทันก็ต้องอาศัยคู่ร้องซ้ำตรงที่กลอนติด  เพื่อมิให้เงียบเสียงไป  ก่อนจะร้องตามความหมายจะต้องมีคำไหว้ครูทุกครั้งอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย

การแต่งกาย
     ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดเอว  ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก

โอกาสที่แสดง
     แสดงในงานฤดูน้ำหลาก  หรือในงานนักขัตฤกษ์  งานมงคล  เช่น บวชนาค  ทอดกฐินและลอยกระทง

สถานที่แสดง
     แสดงและเล่นกันในเรือ  แต่ในปัจจุบันร้องและเล่นกันบนเวที จัดเป็น 2 ฝ่าย ชาย – หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่

ตัวอย่าง  เพลงมาลัยภาษิตไทย

ชาย
  เอ้อระเหย  ลอยมา  ลอยมาประสบพบพาน  (ซ้ำ)

วันนี้พี่ขอเชิญชวน               ให้แม่หน้านวลมาร่วมสำราญ (สำราญ)
มาร้องเพลงพวงมาลัย          หยิบภาษาไทยมาไขมาขาน
พวงเจ้าเอ๋ย  บัวบาน             ภาษิตโบราณมีคุณค่าเอย (รับ)

หญิง  เอ้อระเหย  ลอยนวล     ฟังคำเชิญชวน  เล่นภาษิตไทย (ซ้ำ)
น้องนี้ยินดีร่วมวง                   ทำตามประสงค์ด้วยความเต็มใจ (เต็มใจ)
ภาษิต  “ใกล้เกลือกินด่าง”      พี่อย่าอำพรางตอบมาไวไว
พวงเจ้าเอ๋ย    กล้วยไม้           หมายความว่าอย่างไร  ว่าไปเอย (รับ)

ชาย  เอ้อระเหย  ลอยเรือ        ทำไม่ใกล้เกลือกลับต้องกินด่าง (ซ้ำ)
แปลว่าของดีอยู่ใกล้              ไม่รู้จักใช้ประโยชน์ถูกทาง (ถูกทาง)
พี่ถามน้องบ้างละหนา            “เกี่ยวแฝกมุงป่า”ว่าไว้เป็นกลาง
พวงเจ้าเอ๋ย   ช้องนาง            เชิญแม่เอวบางตอบหน่อยเอย  (รับ)

หญิง    เอ้อระเหย   ลอยวารี     แปลว่าทุนมีน้อย  ทำการใหญ่  (ซ้ำ)
เพราะไม่รู้จักประมาณ             ใช้จ่ายจัดงานบานปลายออกไป  (ออกไป)
คราวนี้น้องจะขอถาม              “มากหมอมากความ” แปลว่าอย่างไร
พวงเจ้าเอ๋ย  หงอนไก่              พี่ปัญญาไวเชิญตอบเอย  (รับ)

ชาย  เอ้อระเหย  ลอยลม       ขอตอบทรามชม  ถ้าใครเป็นความ (ซ้ำ)
ปรึกษาทนายหลายคน           เรื่องจะสับสนวุ่นวายลุกลาม  (ลุกลาม)
ภาษิต  “น้ำตาลใกล้มด”        มิใช่เลี้ยวลดพี่จะขอถาม
พวงเจ้าเอ๋ย    พวงคราม         ขอเชิญโฉมงาม  ตอบหน่อยเอย (รับ)

หญิง  เอ้อระเหย   ลอยเลื่อน   หญิงชายเปรียบเหมือนน้ำตาลใกล้มด (ซ้ำ)
หากให้อยู่ใกล้ชิดกัน              เกิดรักผูกพันมิอาจจะอด   (จะอด)
ภาษิต  “ชิงสุกก่อนห่าม”         พี่จะไขความไปให้งามงด
พวงเจ้าเอ๋ย  มะลิสด               อย่าทำเลี้ยวลด  ตอบมาเอย  (รับ)

ชาย  เอ้อระเหย  ลอยลำ        พี่ขอคำตอบ “ชิงสุกก่อนห่าม”  (ซ้ำ)
วัยรุ่นมีเรื่องชู้สาว                  เกิดราคีคาวเพราะใจวู่วาม  (วู่วาม)
ภาษิต “ดินพอกหางหมู”        ขอแม่โฉมตรู  จงตอบคำถาม
พวงเจ้าเอ๋ย  กุหลาบงาม        ของจงไขความให้หน่อยเอย (รับ)

หญิง  เอ้อระเหย  ลอยคู่        “ดินพอกหางหมู” เขาเปรียบน่าฟัง  (ซ้ำ)
งานค้างปล่อยไว้หมักหมม     นานเข้าทับถมหนักเกินกำลัง  (กำลัง)
ภาษิต  “กินปูนร้อนท้อง”       พี่จงตอบน้อยอย่าได้ปิดบัง
พวงเจ้าเอ๋ย  แคฝรั่ง              น้องจะคอยฟัง  พี่ชายเอย  (รับ)

ชาย  เอ้อระเหย  ลอยล่อง      “กินปูนร้อนท้อง” ที่น้องถามมา  (ซ้ำ)
เขาเชื่อกันว่าตุ๊กแก                กินปูนร้อนแย่  ก็เลยร้องจ้า  (ร้องจ้า)
เหมือนคนทำผิดร้อนตัว          รีบบอกเขาทั่ว  “ฉันเปล่า”  ดอกนา
พวงเจ้าเอ๋ย  จำปา                  พี่ไม่เป็นเช่นว่าดอกเอย (รับ)

หญิง  เอ้อระเหย  ลอยมาลัย    มีภาษิตไทย  ดีดี  มากมาย  (ซ้ำ)
หยิบยกมาเพียงบางบท           เวลาก็หมดให้นึกเสียดาย (เสียดาย)
แม้เพลงจะต้องจบลง             ภาษิตดำรงดุจแก้วแพรวพราย
พวงเจ้าเอ๋ย  ดาวกระจาย        อาลัยไม่วาย  ขอลาเอย  (รับ)