สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 43.1K views



                                                    สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
• พระราชประวัติ 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีศักดิ์กำเนิดเป็น “สามัญชน” ทรงมีพระนามเดิมว่า นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ พระราชสมภพในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรีองค์ที่ ๓ ในพระชนกชูและพระชนนีคำ ต่อมาครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ในละแวกวัดอนงคาราม แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร (เดิมคือจังหวัดธนบุรี) หลังจากทรงกำพร้าพระชนกตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และกำพร้าพระชนนีเมื่อ ๙ พรรษา พระญาติได้นำขึ้นถวายตัวเป็นข้าหลวงรุ่นเด็กของสมเด็จเจ้าฟ้าวลัยอลงกรณ์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดมา 

• ทรงศึกษา 

เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนวัดอนงคาราม ในแผนกเด็กนักเรียนหญิง ต่อมาทรงได้ย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนศึกษานารีและโรงเรียนสตรีวิทยา ตามลำดับ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสตรีวิทยาแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช จนครบหลักสูตร ๓ ปี สามารถประกอบอาชีพได้ การที่ทรงเลือกอาชีพนี้ก็เพราะทรงมีพระเมตตาต่อบุคคลทั่วไป
การที่ทรงศึกษาตามเส้นทางอาชีพสายนี้ เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพระชนม์ชีพ ซึ่งคงจะเป็นพระราชบุพเพสันนิวาสบันดาลก็เป็นได้ เพราะต่อมาสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี ได้พระราชทานทุนเล่าเรียนเพื่อคัดเลือกพยาบาลส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามพระประสงค์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศในขณะนั้น) ที่ทรงส่งเสริมด้านการแพทย์ และพยาบาล ในขณะนั้นพระองค์กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา  ในการนี้อธิบดีกรมสารธารณสุขได้คัดเลือกนางสาวสังวาลเป็นนักเรียนทุนของสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี โดยสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกรมขุนสงขลานครินทร์ จึงทรงเป็นผู้ดูแลนักเรียนทุนไปโดยปริยาย ประกอบกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระสิริโฉมและพระจริยวัตรอันงดงามจนกลายเป็นที่สนิทเสน่หาในเวลาต่อมา 

• ทรงอภิเษกสมรส 

ในเวลาต่อมา ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรส ตามกฎมณเฑียรบาลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสที่วังสระประทุม เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓  พระนามที่เรียกขานในเวลานั้น คือ “หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา” เมื่ออภิเษกสมรสแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระธิดา และพระโอรสรวม ๓ พระองค์ 

• การทรงงานทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 

สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงเป็นนายแพทย์ที่สมบูรณ์และพร้อมที่จะทรงงานด้านการแพทย์ พระองค์จึงทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และทรงเสียสละเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ทนทุกขเวทนาด้วยโรคภัยไข้เจ็บ จนกระทั่งพระสุขภาพพลานามัยทรุดโทรมลง และทรงประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ขณะนั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุเพียง ๒๙ พรรษาเท่านั้น จึงต้องทรงรับพระราชภาระเลี้ยงดูพระธิดาและพระโอรส ซึ่งมีพระชนมายุ ๖ พรรษา ๔ พรรษา และ ๒ พรรษา ตามลำดับ นับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีต้องทรงเป็นทั้งพระชนกและพระชนนีของพระโอรสและพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์

•  พระราชภาระเพื่อประเทศชาติ 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ รัฐสภาจึงมีมติอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ซึ่งต่อมาคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้สถาปนาหม่อมศรีสังวาลย์ เป็น “สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์” ครอบครัวมหิดลทุกพระองค์ทรงประทับอยู่ที่ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อ การถวายอภิบาลพระมหากษัตริย์จึงเป็นพระราชภาระของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแต่เพียงพระองค์เดียว ณ ต่างประเทศอันห่างไกลปราศจากข้าราชการบริพาร
ในช่วงหนึ่งยังต้องทรงเผชิญกับวิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งมีภัยอันตรายที่น่าสะพรึงกลัวจากมหาสงคราม แต่ทรงสามารถรักษาพระเกียรติยศดำรงพระองค์ และอภิบาลรักษาพระธิดาและพระโอรสมาได้อย่างน่าสรรเสริญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน 

• พระมารดาผู้อภิบาล  ๒ กษัตริย์ไทย 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นสตรีที่มีดวงจิตเปี่ยมด้วยกุศล ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงสั่งสอนอบรมพระธิดาและพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ ให้เปี่ยมด้วยคุณธรรมความดีหลายประการที่ปรากฏอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงสอนให้รู้จักทำงาน การบริจาค การเสียสละ และการไม่เบียดเบียนรังแกผู้อื่น เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมสำหรับการเป็นพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องมีหลักการและวิธีการซึ่งไม่แตกต่างจากการอบรมเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีนั่นเอง 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสามารถอบรมพระโอรสทั้งสองพระองค์ให้ทรงมีพระราชอุปนิสัยที่ดีงาม อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาให้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมในภายภาคหน้า ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาและพระราชชนนี ด้วยพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะที่จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง แต่ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เรื่องร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสง (ปืน) สวรรคต ซึ่งได้นำความเศร้าโศกมาสู่ชาวไทยอย่างใหญ่หลวง แต่ผู้ใดเล่าจะทุกข์หนักไปกว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ วันเดียวกันนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์เมื่อชนมายุเพียง ๑๘ พรรษาเท่านั้น
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงต้องรับพระราชภารกิจ  และถวายอภิบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจที่ดีงามเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนบูชาของเหล่าพสกนิกรชาวไทยตลอดมา 

• พระราชภาระเพื่อประชาชน 

ตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรต่างจังหวัดในหมู่บ้านถิ่นทุรกันดารโดยทรงพบเห็นความทุกข์ยากของราษฎรผู้อยู่ห่างไกลความเจริญ ปัญหาการขาดแคลนโรงเรียน ปัญหาด้านการอนามัย ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาล พระองค์โปรดให้คณะแพทย์ในขบวนเสด็จออกรักษาประชาชนที่เจ็บไข้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือมูลนิธิ พอ.สว. ด้วยพระองค์ทรงตระหนักว่าราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารไม่มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลตามแผนปัจจุบันที่ถูกต้อง 

พระองค์ทรงอนุรักษ์สภาพป่าเลื่อมใสโทรมโดยทรงจัดตั้ง “โครงการพัฒนาดอยตุง” เพื่อพัฒนาพื้นที่ดอยตุงในเขตอำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวงและ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับสมบูรณ์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาและชาวพื้นที่ราบที่ยังยากจน นอกจากนี้พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างโรงเรียนถึง ๙๙ แห่ง และได้รับเงินจากพระสหายชาวต่างชาติจัดสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้น และทรงเสด็จเปิดโรงเรียนด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายให้กับวงการแพทย์ การศึกษาของประชาชนตามชนบทที่อยู่ตามถิ่นทุรกันดารจนเป็นที่รักเคารพบูชาของประชาชนทั้งประเทศ จนกระทั่งเรียกพระองค์ว่า “แม่ฟ้าหลวง”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระจริยาวัตรที่งดงามมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเป็นชาวพุทธตัวอย่าง ทรงปฏิบัติพระองค์ได้อย่างเหมาะสม เช่น ทรงเคารพและอ่อนน้อม เชื่อฟังญาติผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูพระองค์หลังจากทรงกำพร้า และเมื่อทรงศึกษาที่โรงเรียนวัดอนงคาราม โรงเรียนศึกษานารี และโรงเรียนสตรีวิทยา พระองค์ทรงเคารพและอ่อนน้อมต่อบรรดาครูอาจารย์ทุกคนตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงเมตตาต่อบุคคลทั่วไป พระองค์จึงทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์แลหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนตลอดพระชนม์ชีพได้ปฏิบัติพระราชภาระในทุกด้านเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ทั้งทุรกันดาร จนเป็นที่รักเคารพบูชาของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ซึ่งเป็นพระเมตตาของพระองค์ที่มีต่อบุคคลทั่วไป ซึ่งตรงกับพุทธศาสนสุภาษิตว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” นั่นเอง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำริพระองค์และอภิบาลรักษาพระธิดาและพระโอรสตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และทรงเป็นชาวพุทธตัวอย่างที่ได้รับความรักความเคารพบูชาจากประชาชนยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร