บทเรียนออนไลน์ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง ใส่ใจสุขภาพ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 19K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้






สิ่งแวดล้อมในชุมชน
          สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่เราอาศัย ซึ่งต้องช่วยกันสอดส่อง ดูแลสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย ปลอดจากสารพิษ ขยะ สิ่งปฏิกูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในชุมชน

ปัญหาสุขภาพในชุมชน
          โรคติดต่อ (communicable diseases) คือ โรคที่เกิดขึ้นแล้วสามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน หรือมีตัวกลางนำเชื้อโรคไป อาจเป็นการติดต่อระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ และสัตว์กับสัตว์ก็ได้ โรคที่มักพบบ่อยในชุมชน คือ ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ พยาธิใบไม้ตับ โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ในชุมชนจึงต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะเชื้อที่จะเป็นพาหะ รวมทั้งปรึกษาหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการป้องกันโรคติดต่อโดยตรง

การบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ
          ผู้บริโภคในปัจจุบันมีสิทธิที่จะรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ที่จะซื้อ ตามความคุ้มครองของกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคอยดูแล โดยหลักในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ต้องมีเครื่องหมายรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีเครื่องหมาย อย.

โรคจากการประกอบอาชีพ
          ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมมักมาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม ก็มักประสบอันตรายจากวัสดุสิ่งของมากที่สุด โดยโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพที่สำคัญ เช่น โรคเกิดจากสารหนู โรคเกิดจากสารตะกั่ว โรคเลปโตสไปโรซิส (โรคไข้ฉี่หนู) โรคแอนแทร็กซ์ โรคปอดจากฝุ่นหิน หรือโรคซิลิโคซิส (sillicosis) โรคปวดหลังจากเหตุอาชีพ จึงควรหมั่นรักษาสุขภาพตนเองและเรียนรู้วิธีการป้องกันที่เหมาะสมระหว่างปฏิบัติงาน





การประเมินและการจัดการกับอารมณ์และความเครียด
          ควรมีการประเมินและจัดการกับความเครียดและความเศร้าอย่างเหมาะสมด้วยวิธีการต่าง ๆ ด้วยการผ่อนคลายความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ ปรับทัศนคติมุมมองใหม่ หรือการฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ สำหรับคนที่มีความเครียดสะสม

กิจกรรมการออกกำลังกาย การพักผ่อน และนันทนาการเพื่อสุขภาพ
          การออกกำลังกายมีหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมกันโดยทั่วไป ได้แก่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก หรือ แบบใช้ออกซิเจน (aerobic exercise) เช่น การเดินและวิ่งเพื่อสุขภาพ ซึ่งควรคำนึงถึงช่วงวัยอายุและสุขภาพร่างกายด้วย

การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคด้วยภูมิปัญญาไทย
          ภูมิปัญญาต่าง ๆ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม คนอื่น ๆ ในชุมชน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของบุคคล ในแต่ละยุคสมัยจะมีการพัฒนาภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับยุคสมัย เช่น การนำสมุนไพรไทยมาใช้รักษาโรคต่าง ๆ หรือการรักษาด้วยการนวดแผนไทย การเล่นโยคะ การรับประทานอาหารไทยที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เป็นต้น



คำสำคัญ
          สิ่งแวดล้อม
          สิทธิชุมชน
          น้ำโสโครก
          ขยะมูลฝอย
          สิ่งปฏิกูล
          โรคติดต่อ
          โรคไข้เลือดออก
          โรคไข้สมองอักเสบ
          โรคพยาธิใบไม้ในตับ
          โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส
          คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
          สารหนู
          สารตะกั่ว
          โรคเลปโตสไปโรซิส (โรคไข้ฉี่หนู)
          ภูมิปัญญาชาวบ้าน



แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th