บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง สังคม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 19.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 สังคม

 

 

 

โครงสร้างทางสังคม
     โครงสร้างทางสังคม หมายถึง ส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นระบบความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์ ส่วนประกอบดังกล่าวจะต้องเป็นเค้าโครงที่ปรากฏในสังคมมนุษย์ทุก ๆ สังคม แม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมก็ตาม ลักษณะของโครงสร้างทางสังคม ได้แก่ มีการรวมกลุ่มของคนในสังคม มีแนวทางในการปฏิบัติอย่างเหมาะสม มีจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติกิจกรรม และมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้


องค์ประกอบของโครงสร้างทางสังคม
1. กลุ่มสังคม หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มาอยู่รวมกัน โดยสมาชิกของกลุ่มมีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน และมีการกระทำระหว่างกันตามสถานภาพและบทบาทของตน กลุ่มสังคมแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มปฐมภูมิ (Primary Group) เป็นกลุ่มขนาดเล็ก สมาชิกมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นและมีลักษณะไม่เป็นทางการ มีการช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มเพื่อนบ้าน และกลุ่มทุติยภูมิ (Secondary Group) เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ สมาชิกมีการติดต่อสัมพันธ์กันตามบทบาทหน้าที่การงานเฉพาะด้าน ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว เช่น สมาคม องค์การ บริษัท กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนชั้น

 

 

กลุ่มเพื่อนเป็นกลุ่มสังคมประเภทหนึ่ง

 


2. สถาบันสังคม หมายถึง รูปแบบพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เพื่อสนองความต้องการร่วมกันในด้านต่าง ๆ และเพื่อความคงอยู่ของสถาบันส่วนรวม แบบแผนพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามบรรทัดฐานและวัฒนธรรมทางสังคมที่มีความชัดเจนแน่นอน สถาบันทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันเศรษฐกิจ และสถาบันการเมืองการปกครอง

 

 

สถาบันการศึกษามีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และสร้างบุคลิกภาพ

 

 

การจัดระเบียบทางสังคม
     การจัดระเบียบทางสังคมเป็นการทำให้สังคมเกิดความมีระเบียบเรียบร้อย มีความมั่นคง และสมาชิกของสังคมสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข


องค์ประกอบของการจัดระเบียบทางสังคม ได้แก่
1. บรรทัดฐานทางสังคม หรือ ปทัสถาน หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือแบบแผนของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับเป็นแนวทางให้สมาชิกประพฤติปฏิบัติในแต่ละสถานการณ์ บรรทัดฐานทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและเป็นกรอบแนวทางที่คอยควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม บรรทัดฐานทางสังคมมี 3 ประเภท คือ วิถีชาวบ้าน จารีต และกฎหมาย
     1) วิถีชาวบ้าน (Folkways) หมายถึง แบบแผนความประพฤติที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำจนเกิดความเคยชิน ไม่มีการกำหนดโทษ แต่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะได้ถูกติเตียน เช่น กิริยามารยาททางสังคม
     2) จารีต (Mores) หมายถึง แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ บางครั้งเรียกว่า กฎศีลธรรม เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบศีลธรรม
     3) กฎหมาย (Laws) หมายถึง กฎเกณฑ์ของความประพฤติซึ่งสร้างโดยองค์การทางการเมืองการปกครอง และรับรองจากรัฐ
2. สถานภาพทางสังคม หมายถึง ตำแหน่งของบุคคลซึ่งได้มาจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มและของสังคม มี 2 ประเภท คือ สถานภาพทางสังคมที่ได้มาโดยกำเนิด (Ascribed Status) เช่น สถานภาพอันเกิดจากการเป็นสมาชิกในครอบครัว และ สถานภาพทางสังคมที่ได้มาโดยความสามารถของบุคคล (Achieved Status) เช่น สถานภาพทางสังคมที่ได้จากการศึกษา
3. บทบาททางสังคม เป็นการกระทำตามสิทธิและหน้าที่ บทบาททางสังคมทำให้สมาชิกปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน การรับประโยชน์ และการให้ประโยชน์ระหว่างกัน ทั้งนี้ สมาชิกในสังคมแต่ละคนมีบทบาทหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และการกระทำในบทบาทหนึ่งอาจจะขัดกับอีกบทบาทหนึ่งได้
4. การควบคุมทางสังคม หมายถึง กระบวนการต่าง ๆ ทางสังคมที่มุ่งให้สมาชิกของสังคมยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้สังคมดำรงอยู่ได้โดยสงบด้วยวิธีการที่เรียกว่า “การบังคับ” ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งของบรรทัดฐานทางสังคม ลักษณะของการควบคุมทางสังคม ได้แก่ การควบคุมทางสังคมโดยการจูงใจให้สมาชิกปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม และการควบคุมทางสังคมโดยการลงโทษสมาชิกที่ละเมิดฝ่าฝืนบรรทัดฐานทางสังคม


การขัดเกลาทางสังคม
     การขัดเกลาทางสังคม หมายถึง กระบวนการที่คนเรียนรู้และซึมซับบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคมเพื่อปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม รวมทั้งเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง
     การขัดเกลาทางสังคมมี 2 ประเภท คือ การขัดเกลาขั้นปฐมภูมิ เป็นการขัดเกลาที่เริ่มเมื่อบุคคลกำเนิดเป็นสมาชิกของสังคม ครอบครัวจะขัดเกลาให้เด็กใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข และการขัดเกลาขั้นทุติยภูมิ เป็นการขัดเกลาเมื่อคนได้เข้าไปติดต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคม ทำให้มีโอกาสเปลี่ยนฐานะหรือเปลี่ยนช่วงชั้นทางสังคมของตน และอาจเกิดค่านิยมหรือบรรทัดฐานทางสังคมที่แตกต่างจากช่วงขั้นเดิมของตน
     วิธีการขัดเกลาทางสังคมประกอบด้วย การขัดเกลาทางอ้อม เป็นการเรียนรู้ระเบียบวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ในสังคม โดยสังเกต เลียนแบบ และปฏิบัติจนเคยชิน และการขัดเกลาทางตรง เป็นการสอนขัดเกลา ฝึกอบรม หรือบอกกันโดยตรง เพื่อให้บุคคลเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ

 

ลักษณะสังคมไทย
ลักษณะทั่วไปของสังคมไทย ได้แก่
1. สังคมไทยเคารพและเทิดทูนพระมหากษัตริย์
2. สังคมไทยเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา
3. สังคมไทยมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นวิถีชีวิตร่วมกันของคนในสังคม
4. สังคมไทยมีค่านิยมทางสังคมร่วมกัน
5. สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม
6. สังคมไทยมีโครงสร้างแบบหลวม ๆ คือ คนในสังคมจะไม่ปฏิบัติตามกฎ กติกา และบรรทัดฐานของสังคมอย่างเคร่งครัด
7. สังคมไทยมีการแบ่งชนชั้น โดยยึดถือทรัพย์สิน สถานภาพ เกียรติยศ อำนาจ และความดี

 

สถาบันสังคมไทย ประกอบด้วย
1. สถาบันครอบครัว ครอบครัวไทยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว นิยมยกย่องผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว และให้ความสำคัญกับความอาวุโส
2. สถาบันการศึกษา สถาบันการศึกษาของไทยมีลักษณะที่เป็นทางการ คือ การจัดการศึกษาที่มีระบบและระเบียบแบบแผน เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย และไม่เป็นทางการ เช่น การปลูกฝังของครอบครัว และเรียนรู้จากสังคม
3. สถาบันศาสนา เป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่พึงทางใจให้แก่คนในสังคมไทย และศาสนาอื่นที่คนไทยนับถือ รวมทั้งความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ

 

 

สัญลักษณ์ของสถาบันศาสนา

 

 

4. สถาบันเศรษฐกิจ สังคมไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดตามหลักเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม รายได้หลักของประเทศมาจากสินค้าด้านการเกษตร สถาบันเศรษฐกิจไทยแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ คือ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านการบริการ และด้านหัตถกรรม
5. สถาบันการเมืองการปกครอง หลังจากสังคมไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองมากขึ้น ส่วนสถาบันทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน ได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ฯลฯ สถาบันเหล่านี้มีหน้าที่พัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า เกิดความเป็นระเบียบ และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่คนในสังคม

 

Keyword  โครงสร้างทางสังคม  กลุ่มสังคม  สถาบันสังคม  บรรทัดฐานทางสังคม  สถานภาพทางสังคม  บทบาททางสังคม  การควบคุมทางสังคม

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th