ภาษาไทย ม. 2 เรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่าน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 106.3K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
 


การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
   การลงเสียงหนักเบา
   เสียงหนัก = ชัดเต็มมาตรา เสียงเบา = แผ่วครึ่งมาตรา มีหลักในการเปล่งเสียง ดังนี้
     – คำหลายพยางค์มักลงเสียงหนักพยางค์ท้าย (คำสามพยางค์ อาจเน้นพยางค์ ๑ หรือ ๒ ด้วย หากประสมสระเสียงยาว แม่ ก กา หรือมีเสียงพยัญชนะสะกด เช่น กิตติศักดิ์ประชาชน)
     – คำหลักในประโยค คำที่มีเจตนาเจาะจง คำที่เน้นความหมายผิดจากปกติให้ลงเสียงหนัก
 

   การเปลี่ยนระดับเสียง
   ใช้น้ำเสียงให้สอดคล้องกับอารมณ์เรื่อง เช่น น้ำเสียงแข็งกร้าว น้ำเสียงเศร้า น้ำเสียงแจ่มใส

   การอ่านบทสนทนา
   ออกเสียงสูงต่ำให้สอดคล้องกับอารมณ์ของตัวละครในบทสนทนา
 

การอ่านออกเสียงร้อยกรอง
   หลักการอ่านร้อยกรอง
   หากอ่านธรรมดา ใช้น้ำเสียงให้สอดคล้องกับเนื้อหา หากอ่านทำนองเสนาะ แบ่งจังหวะตามชนิดคำประพันธ์ ใช้การทอดเสียง เอื้อนเสียง ครั่นเสียง หลบเสียง และกระแทกเสียงให้เกิดความไพเราะ เช่น คำท้ายที่เสียงจัตวาให้เอื้อนสูง โคลงบาทที่ ๒ วรรคหลังให้หลบต่ำ ฉันท์ไม่เอื้อนคำลหุและทอดจังหวะจนจบ
 

   การอ่านร้อยกรองประเภทต่างๆ
   ใช้น้ำเสียงให้สื่ออารมณ์ตามเรื่อง และแบ่งจังหวะตามชนิดคำประพันธ์
   กลอนสุภาพ วรรคละ ๘ คำ แบ่งจังหวะ ๒/๒/๓
   กาพย์ยานี ๑๑ วรรคหน้า ๕ คำ แบ่งเป็น ๒/๓ หรือ ๓/๒ วรรคหลังมี ๖ คำ แบ่งเป็น ๓/๓ โดย ๒ วรรคแรกอ่านเสียงกลาง ส่วน ๒ วรรคท้ายอ่านเสียงสูงขึ้น
   กาพย์ฉบัง ๑๖ วรรคที่มี ๖ คำ แบ่งจังหวะ ๒/๒/๒ หรือ ๒/๔ ส่วนวรรคที่มี ๔ คำ แบ่งเป็น ๒/๒ โดยอ่านเสียงสูงวรรคที่ ๑ หรือวรรคที่ ๒ เสียงต่ำ
   การท่องจำบทอาขยาน บทอาขยานตัดตอนจากวรรณคดีซึ่งมีความงาม มีหลากหลายคำประพันธ์
 

การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
   ควรพิจารณาเจตนารมณ์ของผู้ส่งสาร อีกทั้งแยกแยะเหตุผล (ข้อเท็จจริง) และผลลัพธ์ (ข้อสรุป) โดยสังเกตคำสันธานจึง ดังนั้น...จึง เพราะฉะนั้น เพราะ...จึง ก็เลย เมื่อ...ก็ (เหตุผลอยู่หน้าผลลัพธ์) ด้วยเหตุที่ เนื่องจาก เพราะว่า (ผลลัพธ์อยู่หน้าเหตุผล) หากไม่มีคำบ่งชี้ต้องพิจารณาจากเนื้อความเป็นหลัก
 




การอ่านเพื่อจับใจความ
   ควรอ่านเรื่องอย่างละเอียด จับใจความแต่ละย่อหน้า นำมาเรียบเรียงและสรุปใจความสำคัญของเรื่อง
 

การเขียนแผนผังความคิด จากการอ่านเป็นการเขียนรูปจำลองแบบต่างๆ เช่น แผนภาพกิ่ง (แสดงคุณสมบัติ/เปรียบเทียบ) แผนภาพความคิดรวบยอด (แตกประเด็นจากความคิดหลัก) แผนภาพการจัดลำดับ (แสดงกระบวนการ) แผนภาพวงกลม (แสดงวัฏจักร) ทั้งนี้เพื่อแสดงการเชื่อมโยงความคิดตั้งแต่ต้นจนจบ
 

แผนภาพความคิด (Mind Mapping) แสดงความสัมพันธ์ของความคิดหลัก ความคิดรอง และความคิดย่อยๆ
 

วิธีการเขียนแผนความคิด ต้องเริ่มจากการกำหนดความคิดหลัก แล้วนึกถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องและนำสิ่งเหล่านั้นมาจัดกลุ่ม เช่น เรื่องน้ำ สามารถจัดกลุ่มความคิดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เพาะปลูก ทำประมง ดื่มกิน (หมวดประโยชน์) แหล่งเชื้อโรค อุทกภัย (หมวดโทษ)

 


 


 

 





 

การอ่านเพื่อวิเคราะห์และประเมินค่า
   หลักการวิเคราะห์เรื่องที่อ่าน ต้องเข้าใจเรื่องอย่างละเอียด ค้นคว้าเพิ่มเติม แยกแยะข้อดี/ข้อบกพร่อง แล้วนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องจากนักเขียนแนวเดียวกัน วิเคราะห์โดยใช้หลักเหตุผล พร้อมยกตัวอย่าง

   หลักการประเมินค่าเรื่องที่อ่าน ต้องคำนึงถึงเนื้อหาสาระ การใช้ภาษา และความสร้างสรรค์ของเรื่อง
 

การเลือกอ่านหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์
   การเลือกอ่านหนังสือ
   ควรดูชื่อหนังสือที่ตรงตามความสนใจ เลือกเล่มที่พิมพ์ปีล่าสุด พิจารณาผู้เขียน อ่านคำนำ สารบัญ บทวิจารณ์และเนื้อหาคร่าวๆ เพื่อทราบโครงเรื่องโดยย่อ หลักการเลือกอ่านหนังสือควรเลือกหนังสือที่มีคุณค่า และมีกลวิธีในการเขียนที่ดี

   การเลือกอ่านหนังสือประเภทต่างๆ
   หากแบ่งประเภทของวรรณกรรมตามจุดมุ่งหมายที่แต่ง มี ๒ ประเภท คือ สารคดี (มุ่งให้ความรู้) และบันเทิงคดี (มุ่งให้ความบันเทิง) แต่หากแบ่งตามลักษณะที่แต่ง มี ๒ ประเภท คือ ร้อยแก้ว (ความเรียงธรรมดา) และร้อยกรอง (คำประพันธ์/กวีนิพนธ์)



   บทความ คือ งานเขียนที่มีทั้งความรู้ ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นแบ่งเป็น ๔ ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีคุณค่าแตกต่างกัน ได้แก่ บทความแสดงความคิดเห็วิเคราะห์ทางออกของปัญหา บทความวิจารณ์ชี้ข้อดีข้อเสีย บทความชีวประวัติให้แง่คิดจากชีวิตจริง และบทความวิชาการให้ความรู้เพื่ออ้างอิงต่อไป

   เรื่องสั้น เป็นเรื่องสมมติขึ้น มีลักษณะคล้ายนิทานแต่จะกล่าวถึงนิสัยตัวละครมากกว่า ประกอบด้วยโครงเรื่อง ตัวละคร บทเจรจา ฉาก และการดำเนินเรื่องที่ต้องกระชับ ผูกปมแล้วไขปมในตอนจบ

   สารานุกรม เป็นที่รวมความรู้ต่างๆ โดยเรียงตามลำดับความสัมพันธ์ หรือตัวอักษรของชื่อเรื่องราว
 


   การเลือกอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
   สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ซีดีรอม อินเทอร์เน็ต ควรเลือกให้เหมาะกับวัยและความต้องการ หากเป็นสื่อประเภทให้ความรู้ ควรอ่านเรื่องที่เป็นประโยชน์และค้นคว้าเพิ่มเติม ส่วนสื่อประเภทบันเทิง ควรอ่านเรื่องที่สร้างสรรค์ และไม่เลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม





   การแนะนำหนังสือ
   ควรแนะนำชื่อและประเภทของหนังสือ ผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ จำนวนหน้า ราคา เนื้อหาโดยย่อ และความคิดเห็นของผู้อ่าน
 

สรุป
   การอ่านเป็นทักษะที่สำคัญ เราต้องฝึกการอ่านและคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เข้าใจข้อมูลข่าวสาร และการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการได้อย่างเท่าทัน


คำสำคัญ : การอ่านร้อยแก้ว การอ่านร้อยกรอง การอ่านจับใจความ แผนภาพความคิด การอ่านวิเคราะห์ประเมินค่า การอ่านหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th